ธุรกิจ 'Circular Economy' ขึ้นแท่นดาวเด่น รับเทรนด์อนาคตโลก สร้างกำไรอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เติบโตด้วยความยั่งยืน

ธุรกิจ 'Circular Economy' ขึ้นแท่นดาวเด่น รับเทรนด์อนาคตโลก

สร้างกำไรอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เติบโตด้วยความยั่งยืน

          กรมพัฒนาธุรกิจการค้า วิเคราะห์ธุรกิจไทยประจำเดือนตุลาคม 2566 พบ ธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ 'Circular Economy' น่าจับตามอง เป็นธุรกิจที่อยู่ภายใต้โมเดล BCG ที่เข้ามากำหนดความยั่งยืนของโลกการค้ายุคปัจจุบัน พบปัจจัยสำคัญที่ทำให้เป็นดาวเด่นคือ เป็นธุรกิจที่ตลาดยังเปิดกว้าง การแข่งขันยังไม่สูงมีนิติบุคคลเพียง 1,908 ราย เมื่อพิจารณาจากรายได้ย้อนหลังไป 3 ปี เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงเป็นจังหวะที่รอนักลงทุนไทยคว้าโอกาสนี้ รวมถึงภาครัฐและกรมฯ ยังให้การสนับสนุนธุรกิจอย่างเต็มที่ พร้อมรองรับเทรนด์ธุรกิจสีเขียวของโลกที่จะสร้างความมั่งคงให้ธุรกิจในอนาคต

      นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์ปัจจุบันในโลกของการทำธุรกิจผู้ประกอบการไม่สามารถหยุดพัฒนาตัวเองได้ การค้าขายไม่ได้หยุดแค่การแสวงหาผลกำไรที่เป็นเงินเพียงอย่างเดียว ในทางกลับกันแนวคิดด้านธุรกิจกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม (โมเดล BCG) หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ที่ประกอบได้ด้วย 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ทั้งนี้ เพื่อสร้างการพัฒนาประเทศด้านสังคม เศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้ขณะนี้โมเดล BCG เข้ามามีบทบาทต่อความยั่งยืนของธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ตระหนักถึงการเลือกซื้อสินค้าที่มาจากผู้ผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงคู่ค้าหรือนักลงทุนทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ยึดหลัก BCG มาใช้ในการผลิตสินค้าด้วย

       อธิบดี กล่าวต่อว่า "กรมฯ ได้วิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจของไทยในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ธุรกิจ 'Circular Economy' หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน (หนึ่งในกลุ่มธุรกิจ BCG) กำลังเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองและจะเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในอนาคต ประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด (Zero Waste) กระบวนการผลิตที่ลดปริมาณการใช้วัตถุดิบ การหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ และพัฒนากระบวนการผลิตจนลดหรือไม่เกิดของเสียในวงจรการผลิตอีกเลย ยกตัวอย่างเช่น การผลิตเสื้อจากขวดน้ำพลาสติก และธุรกิจกำจัดขยะหรือของเสีย"

          "ประเทศไทยมีธุรกิจ Circular Economy ที่จดทะเบียนนิติบุคคลจำนวน 1,908 ราย คิดเป็น 0.21% ของธุรกิจทั้งหมด มีมูลค่าทุนจำนวน 32,395 ล้านบาท คิดเป็น 0.15% ของธุรกิจทั้งหมด ดำเนินธุรกิจในรูปแบบบริษัทจำกัดจำนวน 1,544 ราย คิดเป็น 81.45% มูลค่าทุนจำนวน 27,406 ล้านบาท และห้างหุ้นส่วนจำกัดจำนวน 348 ราย คิดเป็น 18.24% มูลค่าทุนจำนวน 523 ล้านบาท และบริษัทมหาชน จำกัด จำนวน 6 ราย คิดเป็น 0.31% มูลค่าทุนจำนวน 4,466 ล้านบาท (ข้อมูล ณ 31 ตุลาคม 2566)"

          "สำหรับการลงทุนในธุรกิจนี้ 80% เป็นการลงทุนโดยคนไทย มีพื้นที่จัดตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ชลบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และปทุมธานี ตามลำดับ หากพิจารณาผลประกอบการของธุรกิจย้อนหลังไป 3 ปี ระหว่างปี 2563-2565 รายได้ของธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2563 มีรายได้รวม 40,154 ล้านบาท ปี 2564 มีรายได้รวม 58,449 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.56% จากปีก่อนหน้า และปี 2565 มีรายได้รวม 67,320 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.18% จากปีก่อนหน้า"

          "ธุรกิจ Circular Economy หรือ ธุรกิจ CE ในประเทศไทยถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจหน้าใหม่ ยังอยู่ในช่วง ของการลงทุนกับสินทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลักซึ่งรอผลกำไรตอบแทนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ดี เมื่อวิเคราะห์เชิงลึกแล้วยังคงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจมากเพราะคู่แข่งในธุรกิจประเภทเดียวกันยังมีไม่มาก อีกทั้งภาครัฐยังมีนโยบายในการสนับสนุนธุรกิจให้หันมาใช้โมเดล BCG ในการพัฒนาธุรกิจ และมีมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยเหลือให้ธุรกิจ BCG ประสบความสำเร็จ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าคือ หนึ่งในหน่วยงานรัฐที่ให้การส่งเสริมธุรกิจ BCG มาอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้มีธุรกิจชุมชน ที่กรมฯ ได้เข้าไปช่วยพัฒนาสร้างต้นแบบผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนรักษ์โลก DBD SMART Local BCG แล้วจำนวน 88 ราย และยังช่วยขยายตลาดให้ธุรกิจกลุ่มนี้กลายเป็นที่รู้จักและขายสินค้าได้ในวงกว้างด้วย โดยในปี 2566 สร้างมูลค่าการค้าได้มากกว่า 60 ล้านบาท และมีแผนที่จะเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าระหว่างธุรกิจอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการชุมชน/วิสาหกิจชุมชน เพื่อบรรลุเป้าหมาย Zero Waste ร่วมกัน ธุรกิจ CE มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในหลายมิติทั้ง 'ด้านการจ้างงาน' ที่จะช่วยส่งเสริมให้มีเกิดการจ้างงานแรงงานที่มีทักษะขั้นสูง การสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการผลิตสินค้า/บริการ 'การส่งเสริมการลงทุน' ธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น ธุรกิจกำจัดขยะหรือธุรกิจหมุนเวียนขยะที่ยังมีสัดส่วนธุรกิจต่อการบริหารขยะในประเทศที่ไม่สมดุลจึงเป็นโอกาสของนักลงทุน หรือการส่งเสริมการผลิตสินค้าชุมชน BCG ของผู้ประกอบการชุมชนที่กรมฯ ได้เข้าไปส่งเสริม สร้างจุดขายที่แตกต่าง และสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าท้องถิ่นส่งผลให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและยกระดับสินค้าชุมชนให้มีมาตรฐานระดับโลกด้วย" อธิบดี กล่าวทิ้งท้าย

#SuperDBD

***************************************

ที่มา : กองข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า                              ฉบับที่  166 /วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566