ประวัติกรม
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า(Department of Business Development) เป็นกรมที่ได้เปลี่ยนชื่อมาจากกรมเดิม คือ "กรมทะเบียนการค้า " (Department of Commercial Registration) ตามผลการปฏิรูปราชการ ครั้งใหญ่ ที่ใช้บังคับมาตั้งแต่ วันที่ 3 ตุลาคม 2545 ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5 ) พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545
ผลของการปรับปรุงระบบราชการในครั้งนั้น นอกจากทำให้"กรมทะเบียนการค้า" เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "กรมพัฒนาธุรกิจการค้า" แล้วยังได้มีการปรับปรุงบทบาทภารกิจและโครงสร้างใหม่ เริ่มตั้งแต่โอนงานด้านชั่งตวงวัดไปขึ้นกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พร้อมกับการโอนงานด้านน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับกรมธุรกิจพลังงานกระทรวงพลังงาน ในเวลาเดียวกันนั้นก็รับโอนภารกิจด้านการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ รวมทั้งงานจดทะเบียนและ งานส่งเสริมสมาคมการค้าและหอการค้ามาจากกรมการค้าภายในกับงานตามภารกิจใหม่ คือ งานด้านส่งเสริมธุรกิจบริการและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาปฏิบัติพร้อมกับภารกิจเดิมคือ งานด้านจดทะเบียนธุรกิจ การกำกับดูแลธุรกิจ และการให้บริการธุรกิจ อีกด้วย
ประวัติความเป็นมาของกรมทะเบียนการค้า
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระบรมราชโองการประกาศให้จัดตั้ง กรมทะเบียนการค้าขึ้นเป็นกรมชั้นอธิบดีเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2466 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ อำมาตย์เอกพระโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร) เนติบัณฑิตอังกฤษ เป็นอธิบดีคนแรกของ กรมทะเบียน การค้า มีหน้าที่รักษามาตราชั่งตวงวัด และรับจดทะเบียนการค้า
คลิก : ดูประกาศพระบรมราชโองการ
หน้าที่ความรับผิดชอบเมื่อเริ่มก่อตั้งกรมทะเบียนการค้า
เมื่อมีการตั้งกรมทะเบียนการค้าขึ้นมา หน้าที่ความรับผิดชอบของกรมในสมัยนั้นก็คือ หน้าที่รักษา มาตราชั่งตวงวัด และรับจดทะเบียนการค้า แต่เดิมนั้นงานชั่งตวงวัดและงานทะเบียนการค้าซึ่งได้แก่ งานหุ้นส่วนบริษัท งานประกันภัย งานเครื่องหมายการค้า งานสิทธิบัตรเหล่านี้ ก่อนที่จะมีการจัดตั้งกรมทะเบียนการค้านั้น งานดังกล่าวเป็นงานที่ขึ้น อยู่กับกระทรวง ทบวง กรมอื่น ๆ อีกหลายกระทรวง พอที่จะสรุปประวัติความเป็นมาได้ดังนี้
งานชั่งตวงวัด
งานชั่งตวงวัดในสมัยก่อน ๆ ประเทศไทยนำระบบชั่งตวงวัดของหลายประเทศมาใช้ อาทิของไทยเองบ้าง ของจีนบ้าง ของฝรั่งบ้าง แล้วแต่ว่าเห็นสะดวกหรือเหมาะอย่างไหนก็ใช้อย่างนั้น นอกจากนี้ในอย่างหนึ่ง ๆ ก็มีพิกัดอัตราไม่แน่นอน ซึ่งการใช้วิธีชั่งตวงวัดต่างพิกัดอัตรากันนี้นับว่าเป็นเครื่องขัดขวางความเจริญในการค้าขาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชปรารภที่จะวางระเบียบการชั่งตวงวัดให้เป็น หลักฐานด้วยเหตุที่งานชั่งตวงวัดเป็นเรื่องของการค้าขาย ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่กระทรวงเกษตรพาณิชยการที่จะวางระเบียบในเรื่องนี้ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีมนตรีเสนาบดี จึงได้คิดที่จะใช้วิธีมาตราเมตริกเป็นฐาน เมื่อปีพ.ศ. 2440 แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
สมัยที่เจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการได้ฟื้นเอาเฉพาะการตวง ขึ้นมาพิจารณา เพราะเหตุว่าประเทศสยามมีสินค้าข้าวที่จะต้องตวงซื้อขายเป็นสินค้าสำคัญจึงร่างพระราชบัญญัติ อัตราถังและทะนาน ร.ศ.119 (พ.ศ.2443) ขึ้นทูลเกล้าฯถวายแต่เสนาบดีสภาเห็นว่า เมื่อทำแล้วก็ควรเพิ่มการชั่งและการวัดเข้าด้วย เจ้าพระยาอภัยราชา (Rolin Jacmingnes) ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและนายชเลสเซอร์ ที่ปรึกษากฎหมายได้ร่างพระราชบัญญัติวัดตวงและชั่ง ร.ศ. 119 ขึ้นใหม่ บัญญัติให้ใช้เป็นวิธีเมตริก นอกจากนี้ยังได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2445 เพื่อพิจารณาว่าควรใช้เครื่องชั่งตวงวัดวิธีใด ให้เป็นแบบเดียวกันจึงจะเหมาะ ซึ่งคณะกรรมการทำรายงานทูลเกล้าฯถวาย เมื่อ พ.ศ. 2448 ว่าควรใช้วิธีเมตริก แต่เรื่องดังกล่าวชะงักไปอีกคราว
กฎหมายชั่งตวงวัดที่ออกเมื่อปี พ.ศ. 2466 กล่าวได้ว่าเป็นเรื่องใหม่ยังไม่เป็นที่คุ้นเคยสำหรับประชาชนในสมัยนั้น เนื่องจากวิธีชั่งตวงวัดใน ระบบเมตริก ถือได้ว่าเป็นของใหม่ ดังนั้นกรมทะเบียนการค้าจึงได้ดำเนินการ ด้วยวิธีโฆษณาให้ประชาชนรู้จักวิธีเมตริกทางวิทยุกระจายเสียง โดยเขียนบทความออกทางวิทยุกระจายเสียง เดือนละ 2 ครั้งเป็นประจำ รวมทั้งได้ประกาศชักชวนให้พ่อค้า ประชาชนที่มีและใช้เครื่องชั่งตวงวัด ในระบบเมตริกอยู่แล้วสามารถนำเครื่องชั่งตวงวัดที่ใช้อยู่นั้น มาขอคำรับรอง ทั้งนี้พ่อค้าที่มีความประสงค์จะค้า เครื่องชั่ง ตวงวัดในระบบเมตริก ให้มาขออาชญาบัตรเป็นผู้ทำ สั่ง ผู้ซ่อม ผู้ขายเครื่องชั่งตวงวัดได้
ในปี พ.ศ. 2452 กระทรวงเกษตราธิการ ได้ติดต่อกับสำนักงานชั่งตวงวัดระหว่างประเทศ เรื่องการเข้าเป็นสมาชิกในสัญญาสากลชั่งตวงวัดแบบเมตริก ในที่สุด เจ้าพระยาวงศานุประพันธ์ เสนาบดี ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า เห็นควรที่ประเทศสยามจะเข้าร่วมสัญญา สากลชั่งตวงวัดแบบเมตริก ซึ่งพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสนาบดีกระทรวงพระคลัง เสนาบดีกระทรวงนครบาล ประชุมปรึกษากันทำความเห็นในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งที่ประชุมได้ทูลเกล้าฯ ถวายรายงานความเห็นเมื่อพ.ศ.2445 ว่าควรรับแนวแบบวิธีเมตริกมาใช้ กระทรวงเกษตราธิการ จึงแจ้งความจำนงไปยัง สำนักงานชั่งตวงวัดระหว่างประเทศที่ประเทศฝรั่งเศสและได้เข้าเป็นสมาชิก เมื่อ พ.ศ . 2455 สมัยพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงเป็นเสนาบดี
เมื่อมีการตั้งสภาเผยแผ่พาณิชย์ขึ้น โอนงานชั่งตวงวัดขึ้นกับสภาเผยแผ่พาณิชย์ เมื่อพ.ศ. 2463 และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มาตราชั่งตวงวัดขึ้นใช้เป็นครั้งคราว เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2465 ต่อมาอีกหนึ่งเดือนจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมทะเบียนการค้า เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2466 (ในเดือนนั้น นับเอาเดือนเมษายน เป็นเดือนแรกของปี)
งานชั่งตวงวัด
ดังได้กล่าวมาแล้ว ในการตั้งกรมทะเบียนการค้าขึ้นนั้น นอกจากจะได้ยกเอางานชั่งตวงวัด ซึ่งอยู่ในสภาเผยแผ่พาณิชย์ มาขึ้นอยู่ในกรมตั้งใหม่แล้ว ในคราวเดียวกันนั้นเองได้โอนเอางาน บรรดาที่เป็น ทะเบียนการค้า จากกระทรวง ทบวง กรม อื่น มารวมปฏิบัติในกรมทะเบียนการค้าด้วย คือ
1. งานจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแต่เดิมอยู่ในกระทรวงยุติธรรมให้โอนมาอยู่ในกระทรวงพาณิชย์ โดยออกประกาศเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2466 (วันเดียวกับที่ประกาศตั้งกรมทะเบียนการค้า) แก้ไขพระราชบัญญัติลักษณะเข้าหุ้นส่วนและบริษัท ร.ศ.130 (รัตนโกสินทร์ศก 130) มาตรา 4 ว่า "หอทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ซึ่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมตั้งขึ้นแล้ว โดย มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะเข้าหุ้นส่วนและบริษัท รัตนโกสินทร์ศก 130 นั้นให้โอนไปขึ้น กระทรวงพาณิชย์" รวมถึงได้มีประกาศ ลงวันที่ 16 มกราคม 2466 อีกฉบับหนึ่งให้โอนงานการจดทะเบียนบริษัทที่ตั้งขึ้น โดยหนังสือพระราชทานอำนาจพิเศษในกระทรวง เกษตราธิการนั้นไปไว้ในแผนกจดทะเบียนการค้าด้วย
2. การประกันภัยในด้านการประกันภัยถือได้ว่า ฝรั่งเศสเริ่มขึ้นมาก่อนเป็นเวลานานมาแล้ว แต่ถ้าจะนับว่าเกิดขึ้นในเมืองไทยโดยตรง ก็คงจะเริ่มจากสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา กล่าวคือสมัยนั้นประเทศไทยทำการค้ากับต่างชาติมาก ดังนั้นจึงมีชาวต่างชาติเข้ามาตั้งห้างค้าขายมาก ห้างเหล่านี้ปรากฎว่าบางห้างได้เป็นเอเยนต์ (Agent) ของบริษัทรับประกันภัยต่างประเทศด้วย ซึ่งดำเนินกิจการรับประกันภัยทางทะเล และการประกันไฟขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 การดำเนินกิจการประกันภัย ยังดำเนินตามลักษณะของในรัชกาลที่ 4 กล่าวคือ ยังคงดำเนินการในลักษณะเอเยนต์เหมือนเดิม จึงอาจกล่าวได้ว่าในสมัยนั้นบริษัทหรือห้าง ที่จะตั้งกิจการรับประกันภัยโดยตรง ขึ้นในเมืองไทย ยังไม่มีเลย เว้นแต่บริษัทเรือเมล์จีนสยาม ซึ่งได้รับอำนาจพิเศษให้ดำเนินการกิจการประกันภัยไฟ และ ประกันภัยทางทะเลด้วย
อย่างไรก็ตามการประกันภัย ซึ่งได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ 4 และในขณะนั้นดูจะไม่มีใครสนใจ เหมือนเวลานี้นั้น นับได้ว่ามีมาแล้วเริ่มตั้งแต่การรับประกันไฟ การรับประกันภัยทางทะเลเรื่อยมาจนรับประกันชีวิต เมื่อกว่า 60 ปีมาแล้ว ส่วนรับประกันอื่น ๆ อย่างที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น รับประกัน-ภัยรถยนต์ ก็ได้มีมาแล้วในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นแล้วเหมือนกัน เช่น ห้างสยามอิมปอร์ต (เดิมชื่อห้างเคอร์ Kerr and co.)เป็นเอเยนต์ของ บริษัทมอเตอร์ยู-เนียน รับประกันรถยนต์ด้วย จะว่ากันไปแล้วการประกันภัยต่าง ๆไม่ใช่เป็นของใหม่สำหรับเมืองไทยเลย งานประกันภัยอยู่ ในความดูแลรับผิดชอบของกรมทะเบียนการค้ามาจนถึง พ.ศ. 2511 จึงโอนงานกองประกันภัยไป เป็นของสำนักงานปลัดกระทรวงเศรษฐการ ต่อมาใน พ.ศ. 2522 สำนักงานประกันภัยก็ได้รับการยกฐานะ ขึ้นเป็น "กรม" และในปี พ.ศ. 2533 ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กรมการประกันภัย"
3. เครื่องหมายการค้า เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมมากกว่าอย่างอื่น สมัยก่อประเทศไทยไม่ค่อย มีการอุตสาหกรรม เพิ่งจะเห็นเป็นเรื่องสำคัญขึ้นขึ้น เมื่อฝรั่งเริ่มเข้ามาค้าขายกันมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2453 รัฐบาลได้เริ่ม กิจการเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าขึ้น คือ จัดตั้ง "หอทะเบียนเครื่องหมายการค้า" ขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ และออกกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องหมายสินค้า เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Law on Trade Marks and Trade names of B.E. 2547 ซึ่งงานที่ปฏิบัติเวลานั้นก็เป็นเพียงรับคำขอ จดทะเบียนไว้แต่เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ดำเนินการอย่างอื่น อย่างใดต่อ พ.ศ. 2466 เมื่อตั้งกรมทะเบียนการค้าขึ้นแล้วได้โอนงานจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามาสังกัด กรมทะเบียนการค้า แต่ก็ยังรับจดทะเบียนไว้เฉย ๆ อย่างเดิมจนถึงปี พ.ศ. 2474 จึงได้ออกเป็นกฎหมายใหม่ เรียกว่า "พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474" มีการจดทะเบียนใช้ได้สมบูรณ์
4. สิทธิบัตร (Patent) สิทธิบัตรหรือเปเตนท์ มีเรื่องปรากฎน้อยในประเทศไทย ทั้งนี้เพราะแต่เดิมเมืองไทยเป็นเมืองกสิกรรมไม่ใช่เมืองอุตสาหกรรม จึงไม่มีการประดิษฐ์คิดค้นทำเครื่องจักรเครื่องยนต์ ฯลฯ ในส่วนของการประดิษฐ์ต่าง ๆ เหมือนเมืองอุตสาหกรรมเช่นต่างประเทศ ถ้าจะว่ากันแล้วสมัยก่อนในเรื่องเกี่ยวกับการประดิษฐ์ ต่าง ๆ คนไทยก็มีเหมือนกันเป็นต้นว่า กี่สำหรับทอผ้า ระหัดสำหรับวิดน้ำเข้านา ครกกระเดื่องสำหรับตำข้าว แต่ของเหล่านี้เป็นของทำใช้ภายในบ้าน ซึ่งถือเป็นประเพณีนิยม ของที่ทำขึ้นเป็นอย่างทำใช้เอง (Household Utensil) ทำใช้สำหรับบ้านทุกบ้าน ไม่ใช้ทำเป็นสินค้าซื้อขาย สมัยรัชกาลที่ 4 มีชาวต่างเข้ามาติดต่อทำการค้ากับ ประเทศไทยมากขึ้น โดยตั้งห้างค้าขาย ตั้งแต่อู่ต่อเรือ ตั้งโรงสีไฟ สิ่งประดิษฐ์ที่ชาวต่างชาติได้นำเข้ามาด้วย เพื่อประโยชน์ในการ ติดต่อค้าขายกับไทยนั้น ได้มีการจดทะเบียนเปเตนต์อยู่ก่อนแล้ว แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้ประดิษฐ์ขึ้นในประเทศไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีความดำริที่จะให้มีกฎหมายคุ้มครองนักประดิษฐ์และนักออกแบบในประเทศไทย ทำนองเดียวกับกับนานาประเทศ ปรากฎว่าได้มีการยกร่างกฎหมายคุ้มครองการนิมิต เรียกว่า "กฎหมายเเตนท์" (Patent Law) ฉบับแรกได้ยกร่างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2468 ซึ่งตรงกับสมัยที่พระโกมารกุลมนตรี เป็นอธิบดีกรมทะเบียนการค้า นั่นเอง แต่เมื่อได้ยกร่างขึ้นแล้วก็ไม่มีการดำเนินการอย่างไรต่อไปอีก
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 ราวปี พ.ศ. 2472 ได้มีพระราชดำริให้มีการตรากฎหมายคุ้มครองการนิมิตขึ้นอีก มีการแต่งตั้งกรรมการยกร่างขึ้น ประกอบด้วย ประกอบด้วย ม.จ.ทองเชื้อธรรมชาติ ทองแถม อธิบดีกรมทะเบียนการค้า มร.มาร์ติน ผู้อำนวยการสำนักงานสิทธิบัตรอังกฤษ ให้ความช่วยเหลือร่างกฎหมายนี้เรียกว่า Law on Patents and designs ร่างเสร็จนำขึ้นถวายพระเจ้าพี่ยาเธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และ คมนาคม และในปีเดียวกัน ม.จ.ทองเชื้อธรรมชาติ ทองแถม ได้เสด็จไปดูงานบริหารสิทธิบัตรที่ประเทศอังกฤษและสวิส แต่แล้วร่างกฎหมายดังกล่าวก็มิได้รับการพิจารณาให้แล้วเสร็จไปแต่อย่างใด
ภายหลังเปลี่ยนระบบการปกครองแผ่นดิน เมื่อ พ.ศ. 2475 แล้วรัฐบาลทุกสมัยได้ หยิบยกเรื่อง สิทธิบัตร ขึ้นมาพิจารณา แต่แล้วก็ต้องระงับยับยั้งไว้ตลอดมาจนถึงรัฐบาลชุดของ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงได้มี การประกาศใช้พระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2521 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2521 ในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการโอนงานในส่วนของสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าของกรมทะเบียนการค้า และงานด้านลิขสิทธ์ของกรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ มาอยู่รวมกัน จัดตั้งเป็นส่วนราชการระดับกรมชื่อว่า "กรมทรัพย์สินทางปัญญา" เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2535
นับแต่กรมทะเบียนการค้าได้จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2466 เป็นต้นมา ได้มีการขยายและปรับปรุงการ แบ่งส่วน ราชการของกรมอยู่หลายครั้งเพื่อให้เหมาะสมกับภาระหน้าที่และลักษณะงานที่เพิ่มขึ้น ครั้งล่าสุดของการเปลี่ยน แปลงเมื่อมีการเปลี่ยนชื่อเป็น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เมื่อเดือนตุลาคมปี พ.ศ.2545 โดยมีผู้บริหารสูงสุดของกรม คืออธิบดีทุกท่าน ที่ได้นำพาการบริหารของกรมให้รุดหน้าตลอดมาดังที่จะได้นำเสนอรายพระนามและรายนาม ตามลำดับการดำรงตำแหน่งดังนี้
ลำดับ | อธิบดี | ปี พ.ศ. ปีที่ดำรงตำแหน่ง |
---|---|---|
1 | พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร) | พ.ศ.2466-2469 |
2 | ม.จ.ทองเชื้อธรรมชาติ ทองแถม | พ.ศ.2469-2476 |
3 | พระวุฒิศาสตรเนติญาณ (ส่าน โชติกเสถียร) | พ.ศ.2476-2485 |
4 | พระโชติศิลปคุณ (โชติ โชติกเสถียร) | พ.ศ.2485-2490 |
5 | หลวงศรีปรีชาธรรมปาฐก (ศิริ สิตปรีชา) | พ.ศ.2490-2500 |
6 | ม.จ.ทองประทาศรี ทองใหญ่ | พ.ศ.2500-2509 |
7 | นายฑีฆายุ ถนัดอักษร | พ.ศ.2509-2510 |
8 | นายสิงห์ กลางวิสัย | พ.ศ.2510-2511 |
9 | นายอนันต์ ภู่ชอุ่ม | พ.ศ.2511-2512 |
10 | ม.จ.ชมิยบุตร ชุมพล | พ.ศ.2512-2513 |
11 | นายไชย นิธิประภา | พ.ศ.2513-2519 |
12 | นายประยูร เถลิงศรี | พ.ศ.2519-2523 |
13 | นายจเร จุฑารัตนกุล | พ.ศ.2523-2528 |
14 | นางสาวสุคนธ์ กาญจนาลัย | พ.ศ.2528-2532 |
15 | นายสมพล เกียรติไพบูลย์ | พ.ศ.2532-2533 |
16 | นายเฉลิมศักดิ์ นากสวาสดิ์ | พ.ศ.2533-2534 |
17 | นายชลอ เฟื่องอารมย์ | พ.ศ.2534-2538 |
18 | ร.ท.สมศักดิ์ ยมะสมิต | พ.ศ.2538-2540 |
19 | นายนรวัฒน์ สุวรรณ | พ.ศ.2540-2542 |
20 | นางสาวภัทรา สกุลไทย | พ.ศ.2542-2543 |
21 | นายอดุลย์ วินัยแพทย์ | พ.ศ.2543-2544 |
22 | นางสาวอรจิต สิงคาลวณิช | พ.ศ.2544-2549 |
23 | นายคณิสสร นาวานุเคราะห์ | พ.ศ.2549-2552 |
24 | นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ | พ.ศ.2552-2556 |
25 | นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ | พ.ศ.2556-2559 |
26 | นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ | พ.ศ.2559-2560 |
27 | นางกุลณี อิศดิศัย | พ.ศ.2560-2561 |
28 | นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ | พ.ศ.2561-2563 |
29 | นายทศพล ทังสุบุตร | พ.ศ.2563-ปัจจุบัน |