กรมพัฒน์ฯ จัดเต็ม ติดอาวุธความรู้ให้ผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์

กรมพัฒน์ฯ จัดเต็ม ติดอาวุธความรู้ให้ผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดคอร์ส "การบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (B2B Franchise) รุ่นที่ 27" เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบแฟรนไชส์ให้ผู้ประกอบการที่เพิ่งเข้าสู่ระบบให้ได้นำความรู้ไปขยายธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพเปิดรับสมัครผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ที่สนใจเข้าร่วมโครงการตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566

            นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ไทยได้รับการยอมรับและมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีความหลากหลายขนาดของการลงทุนแฟรนไชส์ มีตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักล้านบาท สามารถรองรับความต้องการของนักลงทุนที่มีความแตกต่างของประเภทสินค้าและจำนวนเงินลงทุน ส่งผลให้การตัดสินใจและลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์มีทางเลือกมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีข้อได้เปรียบด้านความพร้อมเรื่องระบบการบริหารจัดการ ระบบสนับสนุนและโลจิสติกส์ รวมถึงแบรนดิ้งของสินค้าซึ่งเป็นที่รู้จักแล้วในตลาด ช่วยให้การประชาสัมพันธ์ทำได้ง่ายขึ้น ลดความเสี่ยงด้านต่างๆ ของธุรกิจได้อย่างดี

เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และยกระดับมาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เปิดหลักสูตรสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "การบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (B2B Franchise)" รุ่นที่ 27 ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความเข้มแข็งและพร้อมที่จะขยายธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์โมเดล) เนื่องจากเป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าแฟรนไชส์เป็นโมเดลการตลาดที่มีประสิทธิภาพ และช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถพัฒนาและขยายกิจการของตนเองได้อย่างรวดเร็ว ลดข้อจำกัดด้านเงินทุน ทำให้เกิดผู้ประกอบธุรกิจหน้าใหม่สามารถบริหารจัดการธุรกิจของตนเองได้อย่างง่ายดาย และมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น  

โดยในปีงบประมาณ 2567 นี้ กรมฯ มีการปรับหลักสูตรให้มีความเข้มข้นและกระชับมากยิ่งขึ้น ทั้งความรู้เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้า สัญญาแฟรนไชส์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับภาษีเงินได้ การบริหารการจัดซื้อรูปแบบ Chain Store กลยุทธ์การตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ การปรับใช้เทคโนโลยีในการบริหารธุรกิจ และการเตรียมความพร้อมขยายธุรกิจแฟรนไชส์ไปต่างประเทศ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบแฟรนไชส์ให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์ได้อย่างถูกต้อง สามารถนำแนวทางระบบแฟรนไชส์ไปใช้ในการขยายธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาศักยภาพธุรกิจ ให้มีโอกาสขยายตลาดได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจ และพร้อมมุ่งสู่สากล

สำหรับคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย (1) เป็นนิติบุคคล (2) เป็นเจ้าของกิจการ/ตัวแทนที่มีหนังสือรับรองจากเจ้าของกิจการ (3) ดำเนินธุรกิจไม่น้อยกว่า 2 ปี (พิจารณาจากหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล) (4) มีสาขาตนเอง/สาขาแฟรนไชส์ อย่างน้อย 2 สาขา (ไม่รวมสำนักงานใหญ่)  (5) ไม่เป็นผู้ผ่านหลักสูตร B2B Franchise รุ่นที่ 1 - 26 (6) มีรูปแบบหรือโมเดลของร้านหรือการบริการ (7) สามารถเข้ารับการอบรมได้ตลอดหลักสูตร เปิดรับสมัครผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ที่สนใจร่วมโครงการตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

รองอธิบดี กล่าวทิ้งท้ายว่า "ธุรกิจแฟรนไชส์" เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ และอาจสร้างเจ้าของธุรกิจหน้าใหม่ให้เกิดขึ้น รวมถึงเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ทั้งกับกลุ่มพนักงานประจำที่ต้องการเสริมรายได้ระยะยาว หรือแม้กระทั่งกลุ่มผู้เกษียณที่ยังมีไฟในการทำงาน

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2566) มีผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (B2B Franchise) จำนวน 1,172 ราย แบ่งเป็น ธุรกิจอาหาร 513 ราย (คิดเป็นร้อยละ 44) ธุรกิจบริการ จำนวน 191 ราย (คิดเป็นร้อยละ 16) ธุรกิจค้าปลีก จำนวน 168 ราย (คิดเป็นร้อยละ 14) ธุรกิจเครื่องดื่ม จำนวน 153 ราย (คิดเป็นร้อยละ 13)  ธุรกิจความงาม/สปา จำนวน 82 ราย (คิดเป็นร้อยละ 7) และธุรกิจการศึกษา จำนวน 65 ราย (คิดเป็นร้อยละ 6)

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สายด่วน 1570, โทรศัพท์หมายเลข 0 2547 5953 และ www.dbd.go.th

#SuperDBD

************************************

ที่มา : กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ                                                                  ฉบับที่  151   /วันที่ 31  ตุลาคม  2566