กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ..มาแรง สถาบันการเงินและนิติบุคคลแห่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้รับหลักประกัน..แตะ 400 ราย คำขอจดทะเบียนเกือบ 8 แสนคำขอ ทรัพย์สินรวมที่ใช้เป็นหลักประกัน 16 ล้านล้านบาท

กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ..มาแรง

สถาบันการเงินและนิติบุคคลแห่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้รับหลักประกัน..แตะ 400 ราย

คำขอจดทะเบียนเกือบ 8 แสนคำขอ ทรัพย์สินรวมที่ใช้เป็นหลักประกัน 16 ล้านล้านบาท

       กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผย สถาบันการเงินและนิติบุคคลให้ความสนใจขึ้นทะเบียนเป็นผู้รับหลักประกันจนถึงปัจจุบันแตะ 400 ราย คำขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันเกือบ 8 แสนคำขอ ทรัพย์สินรวมที่ใช้เป็นหลักประกันมากกว่า 16 ล้านล้านบาท สิทธิเรียกร้องยังคงเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด ร้อยละ 80 ขณะที่ไม้ยืนต้นที่มีค่าก็ไม่น้อยหน้า รับเป็นหลักประกันทางธุรกิจแล้ว 146,942 ต้น มูลค่าสินเชื่อรวมกว่า 139 ล้านบาท รับเทรนด์รักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันขอสินเชื่อได้แล้ว ยังสามารถผลิตคาร์บอนเครดิตลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศขายในตลาดคาร์บอนเครดิตได้ด้วย  

          นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "นับตั้งแต่กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน (วันที่ 20 กันยายน 2566) มีสถาบันการเงินและนิติบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติสามารถเป็นผู้รับหลักประกันได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้รับหลักประกันแล้วจำนวน 391 ราย แบ่งเป็น 1) สถาบันการเงิน 34 ราย 2) ธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันภัย 4 ราย 3) ธนาคารหรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น 6 ราย 5) ทรัสต์ในนามทรัสต์ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน 1 ราย 6) บริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวม หรือผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 16 ราย 7) บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ 8 ราย 8) นิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริง 7 ราย 9) สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเฉพาะกรณีกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ 1 ราย 10) ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศเฉพาะกรณีการให้สินเชื่อร่วมกับสถาบันการเงิน 47 ราย 11) นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อและให้เช่าแบบลิสซิ่ง 29 ราย และ 12) นิติบุคคลซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจให้สินเชื่อ (พิโกไฟแนนซ์) 238 ราย

        ปัจจุบัน (วันที่ 20 กันยายน 2566) มีคำขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจจำนวนทั้งสิ้น 793,951 คำขอ ทรัพย์สินรวมที่ใช้เป็นหลักประกันจำนวน 16,160,211 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้องเป็นทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมากที่สุด ร้อยละ 80.047 (มูลค่า 12,935,770 ล้านบาท) รองลงมา สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ เครื่องบิน สัตว์พาหนะ ร้อยละ 19.93 (มูลค่า 3,220,456 ล้านบาท) ทรัพย์สินทางปัญญา ร้อยละ 0.01 (มูลค่า 1,991 ล้านบาท) กิจการ ร้อยละ 0.01 (มูลค่า 1,457 ล้านบาท) อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ร้อยละ 0.002 (มูลค่า 398 ล้านบาท) 

          ขณะที่ ไม้ยืนต้นที่มีค่าก็ได้รับความสนใจจากสถาบันการเงินและธุรกิจพิโกไฟแนนซ์รับเป็นหลักประกันทางธุรกิจ จำนวน 146,942 ต้น มูลค่าสินเชื่อรวมกว่า 139 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ จำนวน 122,988 ต้น มูลค่าสินเชื่อ 6,273,892.00 บาท ต้นไม้ที่นำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจส่วนใหญ่ ได้แก่ ต้นสัก ต้นขนุน ยางพารา ต้นยูคาลิปตัส ไม้สกุลทุเรียน ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลยาง เป็นต้น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 954 ต้น มูลค่าสินเชื่อ 4,645,060.02 บาท และ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 23,000 ต้น มูลค่าสินเชื่อ 128,000,000.00 บาท

          ผู้กู้ที่ปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเองอยู่แล้ว สามารถนำไม้ยืนต้นนั้นมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ตามกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่ทำให้สถาบันการเงินให้ความสำคัญกับการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เนื่องจาก ไม้ยืนต้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปีตามอัตราการเติบโต ประกอบกับปัจจุบันกระแสการรักษาธรรมชาติ การแก้ปัญหาโลกร้อน การลดและชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นประเด็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนกำลังตื่นตัวและให้ความสำคัญ โดยคุณสมบัติที่โดดเด่นของไม้ยืนต้นอีกประการหนึ่ง คือ เป็นแหล่งผลิตออกซิเจนของโลก และเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมที่มีการซื้อ-ขายในตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งเจ้าของไม้ยืนต้นสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้อีกทางหนึ่ง นอกจากการใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันขอสินเชื่อ ทั้งนี้ คาดว่าในอนาคตเกษตรกรและประชาชนจะหันมาปลูกไม้ยืนต้นกันมากขึ้น เนื่องจากเห็นประโยชน์ที่มีอยู่นานัปการ และเป็นทรัพย์สินที่สามารถส่งต่อเป็นมรดกแก่ลูกหลานในอนาคตได้อีกด้วย" อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย

          ทั้งนี้ กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจ (โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี) และประชาชน สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น โดยสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าที่ใช้ในการประกอบธุรกิจมาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้น ได้แก่ 1) กิจการ 2) สิทธิเรียกร้อง เช่น บัญชีเงินฝาก สิทธิการเช่า ลูกหนี้การค้า 3) สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น สินค้าคงคลัง เครื่องจักร รถยนต์ 4) อสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เช่น ที่ดินจัดสรร/หมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม 5) ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ และ 6) ทรัพย์สินอื่น ซึ่งขณะนี้ คือ ไม้ยืนต้นที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจยังสามารถใช้ทรัพย์สินนั้นต่อยอดทางธุรกิจหรือผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2547 4944 e-Mail : stro@dbd.go.th สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th

#SuperDBD

***********************************************

ที่มา : กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ                                         ฉบับที่ 142 / วันที่ 21 กันยายน 2566