ปรบมือรัวๆ กรมพัฒน์ฯ พาสมุนไพรไทยบุกตลาดเอเชีย! เร่งสร้าง Soft Power ให้สมุนไพรไทยเป็นที่นิยม โชว์ผลงานสร้างรายได้ทะลุ 200 ล้านบาท
ปรบมือรัวๆ
กรมพัฒน์ฯ พาสมุนไพรไทยบุกตลาดเอเชีย!
เร่งสร้าง Soft Power ให้สมุนไพรไทยเป็นที่นิยม โชว์ผลงานสร้างรายได้ทะลุ 200
ล้านบาท
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดันสมุนไพรไทยหวังสร้าง
Soft
Power ให้เป็นที่นิยมไกลไปต่างประเทศ ปั้นผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร DBD
SMART Local HERB จำนวน 42 ราย เริ่มต้นตั้งแต่ค้นหา บ่มเพาะ
และพาออกสู่ตลาดงานแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจ THAIFEX-ANUGA ASIA 2023 เพียง 5 วัน กวาดมูลค่าการค้ากว่า 200 ล้านบาท จากนักธุรกิจไทยและนักธุรกิจต่างชาติ
ได้แก่ จีน สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และอินเดีย ฮือฮาเจรจาธุรกิจปิดดีลได้ในงานกว่า
34 ล้านบาท และกระตุ้นมูลค่าการค้ายาวไปอีก 1 ปีข้างหน้าถึง 169 ล้านบาท ตั้งเป้าหมายสร้างจุดขายให้สมุนไพรไทยโดดเด่น พร้อมประกาศศักยภาพสมุนไพรไทยต้องต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ
ให้ได้
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดำเนินโครงการส่งเสริมภาพลักษณ์และการตลาดผลิตภัณฑ์สมุนไพร
มุ่งสร้างผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้สามารถเติบโตและขยายตลาดไปต่างประเทศได้
ผ่าน 3 กิจกรรมหลัก เริ่มจากรับสมัครและคัดเลือกผู้ประกอบการฯ มากกว่า 100
ราย ที่ผลิตภัณฑ์มีความพร้อมด้านประโยชน์หรือสรรพคุณของสมุนไพร มาตรฐานผลิตภัณฑ์ และการตลาด จากนั้นบ่มเพาะความรู้ให้ทันโลกการค้ายุคใหม่
ชี้ให้เห็นโอกาสทางการตลาด ความสำคัญของกฎระเบียบและมาตรฐานเพิ่มความน่าเชื่อถือแก่ผลิตภัณฑ์
พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค
ซึ่งมีผู้ประกอบการฯ จำนวน 42 ราย ได้เข้าสู่การเป็น DBD SMART Local HERB และมีโอกาสขยายช่องทางการจัดจำหน่าย
ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบ e-catalog, คลิปวิดีโอ และภาพประชาสัมพันธ์เพื่อช่วยสร้างความนิยมให้สมุนไพรไทยเป็นที่รู้จัก ทั้งผู้บริโภคชาวไทยและต่างประเทศและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการฯ
เติบโตได้ในต่างประเทศต่อไป
อธิบดี
กล่าวต่อว่า "นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้พาผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร (DBD
SMART Local HERB) เข้าร่วมงานแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจในงาน THAIFEX-ANUGA
ASIA 2023 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค
เมืองทองธานี ซึ่งผลการเข้าร่วมงานเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก
มีผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมบูท 1,275 รายและประสบความสำเร็จในการเจรจาการค้า ของผู้เข้าร่วมงานเจรจาจำนวน
272 ราย แบ่งเป็น นักธุรกิจไทย 117 ราย นักธุรกิจต่างชาติ 155 ราย อาทิ จีน สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย และอินเดีย ในจำนวนนี้มีผู้สนใจต้องการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยจากผู้ประกอบการ
DBD SMART Local HERB ถึงร้อยละ 98 สร้างมูลค่าการค้ามากถึง 203.31 ล้านบาท จากการเจรจาการค้าซื้อขายผลิตภัณฑ์ได้ทันที
คิดเป็นมูลค่า 34.31 ล้านบาท และต่อยอดมูลค่าการค้าได้อีกใน 1
ปีข้างหน้าจำนวน 169 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีการซื้อขายมากที่สุดคือ
ขมิ้นชันผง น้ำมะขามป้อม ขนมจากขิง เครื่องดื่มจากจมูกข้าว และเครื่องแกง"
"การพา
DBD
SMART Local HERB
เข้าร่วมกิจกรรมแสดงศักยภาพและเจรจาธุรกิจเป็นความมุ่งมั่นของกรมฯ ที่ต้องการเปิดประตูอนาคตให้สมุนไพรไทยควบคู่กับอาหารและเครื่องดื่มให้มีความพร้อมต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมหรือภาคบริการอื่นๆ
ที่เกี่ยวข้อง อย่างธุรกิจ Health
& Wellness ธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งกรมฯ
ตั้งเป้าหมายพัฒนาศักยภาพด้านการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพร
และในอนาคตต้องเป็นหนึ่งในสินค้าที่ช่วยผลักดันนโยบาย Kitchen of the World
และ Medical and Wellness Hub ของไทยได้"
"โอกาสของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยยังมีอยู่มาก
การพัฒนาผู้ประกอบการฯ และพาร่วมงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2023 แสดงให้เห็นชัดแล้วว่าความต้องการผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศ แต่ยังเป็นที่ต้องการของนักธุรกิจต่างชาติด้วย ดังนั้น ถือว่ากรมฯ
มาถูกทางในการพัฒนาผู้ประกอบการฯ และชูจุดเด่นให้สมุนไพรไทยซึ่งเป็นวัตถุดิบคุณภาพ
และอัตลักษณ์อันทรงคุณค่าที่ได้รับการสืบทอด มาจากรุ่นสู่รุ่นถึงภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยผ่านการผลิตด้วยนวัตกรรมที่จะทำให้ต่อยอดสู่ความหลากหลายในผลิตภัณฑ์
และในปี 2566 นี้ กรมฯ ยังจะมองหาตลาดให้กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยในเชิงรุก โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายใน 3 กลุ่มคือ ผู้สูงอายุ ผู้รักสุขภาพ และผู้ออกกำลังกาย
ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนประชากร ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยที่มีความนิยมใช้สมุนไพรเพื่อดูแลสุขภาพ
และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพเน้นการป้องกันตัวมากกว่าการรักษา
ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยและโอกาสสำคัญที่จะสร้างให้สมุนไพรไทยเติบโต"
"จากข้อมูลการจดทะเบียนของกรมฯ
(ณ วันที่ 9 มิ.ย.66) พบว่า มีธุรกิจผลิตและแปรรูปสมุนไพร ที่จดทะเบียนนิติบุคคลจำนวน 1,000 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนรวม
7,600 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จัดตั้งในรูปแบบบริษัทจำนวน 891 ราย
คิดเป็นร้อยละ 89.10 ของธุรกิจในกลุ่มนี้ และในปี 2565 มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นจากสถิติจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ที่มีจำนวน 214 ราย
เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 74 ราย คิดเป็นร้อยละ 49.65" อธิบดี
กล่าวทิ้งท้าย
#SuperDBD
***********************************
ที่มา :
กองธุรกิจภูมิภาคและชุมชน ฉบับที่ 102 / วันที่ 3 กรกฎาคม 2566