กรมพัฒน์ฯ เดินหน้าสร้างความรู้หลักประกันทางธุรกิจแก่เกษตรกร จ.ชัยนาท พร้อมเปิดโลกทัศน์..ส่งเสริมปลูกไม้ยืนต้นผลิตคาร์บอนเครดิตเพิ่มรายได้..รับเทรนด์ธุรกิจโลก
กรมพัฒน์ฯ เดินหน้าสร้างความรู้หลักประกันทางธุรกิจแก่เกษตรกร
จ.ชัยนาท
พร้อมเปิดโลกทัศน์..ส่งเสริมปลูกไม้ยืนต้นผลิตคาร์บอนเครดิตเพิ่มรายได้..รับเทรนด์ธุรกิจโลก
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เดินหน้าสร้างความรู้ให้เกษตรกรจังหวัดชัยนาท
ปลูกไม้ยืนต้นสร้างเครดิตให้ตนเองและครอบครัว อนาคตจับมือสถาบันการเงินใช้เป็นหลักประกันขอสินเชื่อต่อยอดขยายกิจการหรือลงทุนทำธุรกิจ พร้อมเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้คนในท้องถิ่นสร้างรายได้จากต้นไม้ที่ปลูก ผลิตคาร์บอนเครดิตส่งขายในตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต รับเทรนด์ธุรกิจโลกที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงผลประโยชน์และรับผิดชอบต่อส่วนรวมควบคู่ผลประโยชน์ทางธุรกิจ ชดเชยการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก เชื่อ..หากคาร์บอนเครดิตได้รับการผลักดันให้เป็นหลักประกันทางธุรกิจชนิดใหม่
จะสร้างคุณค่าการใช้ประโยชน์ที่ดินของเกษตรกร ประชาชน และประเทศชาติอย่างเต็มประสิทธิภาพสูงสุด
นายทศพล ทังสุบุตร
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "นับตั้งแต่กฎหมายหลักประกันธุรกิจได้เพิ่ม 'ไม้ยืนต้น' เป็นทรัพย์ประเภทหนึ่งที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ ตั้งแต่ปี
2561 จนถึงปัจจุบันมีเกษตรกรและประชาชนนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจแล้ว
แล้ว จำนวน 146,866 ต้น วงเงินค้ำประกัน
138,096,039.02 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2566) ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย ร้อยเอ็ด
ศรีษะเกษ สกลนคร บุรีรัมย์ สุพรรณบุรี อุทัยธานี ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงต้องเร่งสร้างความรู้และส่งเสริมให้เกษตรกร/ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่าบนที่ดินของตนเองมากขึ้น รวมทั้ง สร้างความเข้าใจในรายละเอียดและวัตถุประสงค์หลักของกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ โดยหากเกษตรกรต้องการใช้เงินลงทุนเพื่อประกอบธุรกิจ
ขยายกิจการ หรือ ดำรงชีวิตประจำวัน ก็สามารถนำไม้ยืนต้นที่ปลูกมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้
ทำให้เกษตรกรและประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ส่งผลให้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้อย่างแท้จริง
อีกทั้งตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา
แนวคิดธุรกิจแห่งความยั่งยืน (Business Sustainability) ได้รับความสนใจและถูกนำมายึดโยงกับประเด็นทาง 'สังคม' และ 'สิ่งแวดล้อม' ใจความสำคัญ คือ ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมควบคู่กับผลประโยชน์ทางธุรกิจ
โดยวางกลยุทธ์องค์กรให้สอดรับกับบริบททางสังคม/สิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงสู่การพัฒนาธุรกิจ
ขณะที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญ ยกระดับ และขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนผ่านนโยบายและโครงการสำคัญต่างๆ ที่เป็นไปตามบริบทและแนวโน้มของโลก สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของกรมฯ
ในการลงพื้นที่ให้ความรู้และส่งเสริมเกษตรกรปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่าบนที่ดินของตนเอง
ก่อเกิดประโยชน์โดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจและการปฏิบัติราชการในปัจจุบัน รวมทั้ง
สนับสนุนการปฏิบัติต่อแนวคิดฯ ดังกล่าวที่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน
ไม้ยืนต้นที่เกษตรกรปลูก นอกจากจะนำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้แล้ว
ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากออกซิเจนที่ต้นไม้ผลิตออกมา ช่วยลดภาวะก๊าซเรือนกระจกของภาคการผลิตและขนส่ง
หรือที่เรียกว่า คาร์บอนเครดิต โดยการผลิตคาร์บอนเครดิตส่งขายในตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต
เป็นเทรนด์ธุรกิจโลกที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อเกษตรกรผู้ปลูกไม้ยืนต้นและขายคาร์บอนเครดิต
ภาคเอกชนต้องใส่ใจและให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมโดยชดเชยภาคการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต
และภาครัฐที่บรรลุถึงนโยบายสำคัญตามที่ได้กำหนดไว้นำพาประเทศสู่ความเจริญที่ยั่งยืน
ซึ่งทั้งหมดล้วนส่งเสริมให้การประกอบธุรกิจและการบริหารราชการภาครัฐประสบความสำเร็จ นำมาซึ่งการยอมรับของภาคธุรกิจ
ภาคประชาสังคม และทุกภาคส่วนในระดับโลก แสดงให้เห็นว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สนับสนุนแนวคิดธุรกิจแห่งความยั่งยืน
ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในไทย
การลงพื้นที่พบปะเกษตรกร
ณ วิสาหกิจชุมชนสวนยางกลางนา จ.ชัยนาท ในครั้งนี้ เป็นการสร้างการรับรู้ถึงประโยชน์อันหลากหลายของการปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเอง
โดยเฉพาะการได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิตที่เป็นสินค้าระดับโลกตัวใหม่ที่สร้างผลประโยชน์มหาศาล
เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับต้นไม้และที่ดินของเกษตรกร ที่สำคัญ ประเทศไทยมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เอื้อประโยชน์ต่อการผลิตคาร์บอนเครดิต
นับเป็นโอกาสและความท้าทายของเกษตรกรไทยที่จะก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตคาร์บอนเครดิตระดับโลก
ทั้งนี้
เชื่อมั่นว่าหากคาร์บอนเครดิตได้รับการผลักดันให้เป็นทรัพย์ประเภทหนึ่งที่นำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้
จะสร้างคุณค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อการใช้ที่ดินของเกษตรกร
ประชาชน และประเทศชาติ รวมถึง
เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตคาร์บอนเครดิตในระดับภูมิภาคและระดับโลกในอนาคต
ช่วยสร้างความมั่นคงทางธรรมชาติที่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เป็นประเทศสีเขียวที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด" อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย
#SuperDBD
****************************************************
ที่มา
:
กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ฉบับที่ 101 / วันที่ 30 มิถุนายน 2566