กรมพัฒน์ฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดัน 'คาร์บอนเครดิต' เป็นหลักประกันทางธุรกิจ
กรมพัฒน์ฯ
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดัน 'คาร์บอนเครดิต' เป็นหลักประกันทางธุรกิจ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผลักดัน 'คาร์บอนเครดิต' เป็นหลักประกันทางธุรกิจ
เบื้องต้น..เห็นควรศึกษารายละเอียดให้ชัดเจน ทั้งการกำหนดประเภททรัพย์ การประเมินมูลค่า การกำกับดูแลทรัพย์ วิธีการบังคับหลักประกัน
รวมถึง ศึกษาเทียบเคียงกับต่างประเทศ ก่อนเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ไม่รอช้า!! กรมพัฒน์ฯ
ทำงานคู่ขนานจัดอบรมให้ความรู้ผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงาน หวังกระตุ้นสร้างการรับรู้ถึงประโยชน์ รายละเอียด และแนวโน้มคาร์บอนเครดิตทั้งใน/ต่างประเทศ พร้อมส่งเสริมให้ปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่า
สร้างคาร์บอนเครดิตแต่เนิ่นๆ อนาคตได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทั้งจากไม้ยืนต้นและคาร์บอนเครดิต..สร้างรายได้เพิ่มให้ครอบครัว
นายทศพล
ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ปัจจุบันนานาประเทศให้ความสำคัญต่อการสร้างความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อชดเชยระบบนิเวศน์ที่ถูกทำลายไป 'คาร์บอนเครดิต' เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกและลดปัญหาโลกร้อน
มีมูลค่าที่สามารถนำออกขายให้ภาคธุรกิจหรือหน่วยงานที่มีกระบวนการทำงานที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าเป้าหมายที่ควบคุม
โดยสามารถซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตได้ในตลาดคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
สำหรับประเทศไทย ภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญเรื่องคาร์บอนเครดิตมากขึ้นตามลำดับ
สอดคล้องกับกระแสการลดก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกต้องเผชิญกับสถานการณ์ภาวะโลกร้อน และเป็นหนทางที่จะนำพาธุรกิจสู่ความยั่งยืน
ล่าสุด
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก
(องค์การมหาชน) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาคเอกชน
ผลักดันให้ 'คาร์บอนเครดิต' เป็นหลักประกันทางธุรกิจ โดยทุกหน่วยงานต่างเห็นพ้องให้การสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว แต่ควรดำเนินการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมให้มีความชัดเจนประกอบการพิจารณาออกเป็นกฎหมายเพื่อรองรับต่อไป
ประเด็นที่ต้องศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม
เช่น คาร์บอนเครดิตจัดเป็นทรัพย์ประเภทใด การประเมินมูลค่า กระบวนการ/ขั้นตอนการให้สินเชื่อและการกำกับดูแลทรัพย์ และหากนำคาร์บอนเครดิตมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจแล้ว
เมื่อเกิดเหตุบังคับหลักประกันจะมีวิธีการบังคับหลักประกันอย่างไร
(กระบวนการบังคับทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันและกระบวนการเปลี่ยนแปลงเจ้าของทรัพย์สิน) รวมถึง รายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ
ที่มีความสัมพันธ์กับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ
และควรศึกษาเทียบเคียงกับประเทศต่างๆ
เพื่อความสมบูรณ์ของกฎหมายฯ มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การศึกษาในรายละเอียดค่อนข้างใช้เวลาพอสมควร
ดังนั้น แต่ละหน่วยงานควรศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับตนเองก่อนเป็นลำดับแรก และนำผลการศึกษา ปัญหา อุปสรรค เข้ารายงานต่อที่ประชุม
ก่อนจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเชิงลึกความเป็นไปได้ในการนำคาร์บอนเครดิตมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจต่อไป
อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน
ในวันนี้ (วันพุธที่ 10 พฤษภาคม 2566) กรมฯ ได้ทำงานคู่ขนาน จัดอบรมเรื่อง 'คาร์บอนเครดิต
เครื่องมือทางการเงินธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม' แก่ผู้ประกอบการ
ผู้บังคับหลักประกัน ผู้รับหลักประกัน ผู้สนใจทั่วไป และบุคลากรกรมฯ จำนวน 100 ราย โดยมอบหมายให้นายกำแหง
กล้าสุคนธ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นประธานในพิธี การอบรมดังกล่าวฯ นอกจากจะเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ
ที่กำลังเป็นกระแสในปัจจุบันแล้ว ยังเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกักเก็บและการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
หรือ คาร์บอนเครดิต ซึ่งถือเป็นเครื่องมือทางการเงินชนิดใหม่ที่สามารถต่อยอด
สร้างรายได้ให้แก่ภาคธุรกิจหรืออาจนำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ในอนาคต
หัวข้อการบรรยาย
ประกอบด้วย 1) ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกคาร์บอนเครดิต 2) การขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย
(Thailand Voluntary Emission Reduction
Program: T-VER) 3)
การซื้อขายคาร์บอนเครดิตสร้างโอกาสทางธุรกิจไทย * การตรวจวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้จากการดำเนินโครงการ และ *การซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตและตลาดคาร์บอนเครดิต โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านคาร์บอนเครดิตโดยตรง: นางสาวอโณทัย
สังข์ทอง ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารและทะเบียนคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
นอกจากนี้ ยังได้เปิดเวทีแก่ผู้เข้าร่วมอบรมทุกราย ได้ร่วมแชร์ประสบการณ์
แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึง
ซักถามรายละเอียดเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตที่สนใจใคร่รู้อีกด้วย
ทั้งนี้
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขอเชิญชวนให้ประชาชนปลูกไม้ยืนต้นที่มีค่าบนที่ดินของตนเองเพื่อสร้างมูลเพิ่มให้ที่ดิน
สร้างออกซิเจนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การปลูกไม้ยืนต้นตั้งแต่บัดนี้ เป็นการสร้างคาร์บอนเครดิตแต่เนิ่นๆ
ซึ่งในอนาคตสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทั้งจากไม้ยืนต้นที่ปลูกและได้คาร์บอนเครดิตที่เป็นผลพวงจากการปลูกไม้ยืนต้น เป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้ครอบครัวอีกทางหนึ่ง" อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
โทร 0 2547 4939 e-Mail : stro@dbd.go.th สายด่วน
1570 และ www.dbd.go.th
#SuperDBD
***********************************************
ที่มา :
กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ ฉบับที่
76 / วันที่ 10
พฤษภาคม
2566