กรมพัฒน์ฯ เตรียมดัน 33 ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านคุณสมบัติ เข้าร่วมการยกระดับธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพ...สร้างมาตรฐานธุรกิจที่ดี มีศักยภาพ ผลักดันธุรกิจให้มีการปรับตัวให้สอดคล้อง และตอบโจทย์ทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

กรมพัฒน์ฯ เตรียมดัน 33 ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านคุณสมบัติ

เข้าร่วมการยกระดับธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพ...สร้างมาตรฐานธุรกิจที่ดี มีศักยภาพ

ผลักดันธุรกิจให้มีการปรับตัวให้สอดคล้อง และตอบโจทย์ทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

    กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประกาศรายชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมกิจกรรมยกระดับธุรกิจ สู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise Standard) เดินหน้าหนุนผู้ประกอบธุรกิจ แฟรนไชส์ สร้างมาตรฐานธุรกิจที่ดี มีศักยภาพ พร้อมผลักดันธุรกิจแฟรนไชส์ให้มีการปรับตัวให้สอดคล้อง และตอบโจทย์ทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความเข้มแข็งและพร้อมที่จะขยายธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์โมเดล) เนื่องจากเป็นที่ยอมรับในระดับสากลว่าเป็นโมเดลการตลาดที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถพัฒนาพร้อมขยายกิจการของตนเองได้อย่างรวดเร็ว ลดข้อจำกัดด้านเงินทุน ทำให้เกิดผู้ประกอบธุรกิจหน้าใหม่มีระบบการบริหารจัดการธุรกิจของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กรมฯ ได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ มากว่า 10 ปี และมีธุรกิจแฟรนไชส์ที่พัฒนาผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน รวม 501 ราย โดยกรมฯ ได้มีการพัฒนาและทบทวนเกณฑ์มาตรฐานฯ ทุก 2 ปี เพื่อให้เกณฑ์มาตรฐานการบริหารจัดการและกระบวนการตรวจประเมินมีมาตรฐานเทียบเคียงระดับสากล

เพื่อยกระดับธุรกิจของคนไทยโดยใช้แฟรนไชส์เป็นกลยุทธ์ขยายธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มศักยภาพในการลงทุน กรมฯ จึงจัดกิจกรรมยกระดับธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise Standard) ปี 2566 และประกาศรายชื่อธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์พิจารณารอบแรก จำนวน 33 ราย เพื่อเข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย ธุรกิจการอาหาร 18 ราย ธุรกิจเครื่องดื่ม 7 ราย ธุรกิจการศึกษา 4 ราย ธุรกิจบริการ 3 ราย และ ธุรกิจค้าปลีก 1 ราย

ทั้งนี้ ธุรกิจที่ผ่านคุณสมบัติทั้ง 33 ราย จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านแฟรนไชส์ลงพื้นที่ให้คำปรึกษา ณ สถานประกอบการ ก่อนเข้ารับการประเมินทั้ง 7 ด้าน คือ การนำองค์กร (leadership), กลยุทธ์ (Strategy), ลูกค้าและแฟรนไชส์ซี (Customer), การวัด การวิเคราะห์และการจัดการความรู้ (Measurement, Analysis and Knowledge Management), บุคลากร (Workforce), การปฏิบัติงาน (Operations) และผลลัพธ์ (Result)

อธิบดี กล่าวทิ้งท้ายว่า การผลักดันให้ธุรกิจแฟรนไชส์มีการปรับตัวและฟื้นตัวหลังวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เป็น "โจทย์สำคัญ" สำหรับผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ที่ต้องเรียนรู้ และประยุกต์วิธีการในการทำธุรกิจให้สอดคล้องและตอบโจทย์กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนั้น หากธุรกิจแฟรนไชส์มีการบริหารจัดการที่ดีจะสามารถขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สายด่วน 1570, โทรศัพท์หมายเลข 0 2547 5953, e-Mail : franchisedbd@gmail.com

 

#SuperDBD

************************************

 

ที่มา : กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ                                                                         ฉบับที่ 50 /วันที่ 22 มีนาคม  2566