3 พันธมิตร ดึงนิสิตจุฬาฯ วางระบบบัญชีให้ 6 วิสาหกิจชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน

3 พันธมิตร ดึงนิสิตจุฬาฯ วางระบบบัญชีให้ 6 วิสาหกิจชุมชน

สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน

       3 พันธมิตร...กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมการเกษตร และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วม MOU ส่งเสริมการวางระบบบัญชีให้วิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ พร้อมดึงนิสิตคณะบัญชี จุฬาฯ ร่วมกันวางระบบบัญชีให้ 6 วิสาหกิจชุมชนนำร่องให้สำเร็จลุล่วงตามกรอบ MOU หวัง!! วิสาหกิจชุมชนนำระบบบัญชีต่อยอดสร้างรายได้เห็นผลเป็นรูปธรรม พร้อมเป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จขยายสู่วิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ

      นางรวีพรรณ ช้างเย็นฉ่ำ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า "กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมการเกษตร และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การส่งเสริมการวางระบบบัญชีให้แก่วิสาหกิจชุมชน เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับวิสาหกิจชุมชนไทยด้วยพื้นฐานการจัดทำบัญชีที่ถูกต้อง และเสริมความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากในทุกภูมิภาคด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้การทำธุรกิจและกฎหมายจากหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญ โดยแต่ละหน่วยงานมีการแบ่งหน้าที่การพัฒนาวิสาหกิจชุมชนอย่างชัดเจนเพื่อให้ความร่วมมือดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จโดยเร็ว

ล่าสุด 3 หน่วยงานได้ร่วมกันคัดเลือกนิสิตสาขาวิชาการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 6 ทีม โดย 1 ทีม จะมีพี่เลี้ยง 5 คน และจะมีที่ปรึกษาซึ่งเป็นอาจารย์ของคณะพาณิชยศาสตร์ฯ จุฬาฯ เชื่อมโยงต่อยอดความร่วมมือกับสำนักงานบัญชีคุณภาพ บริษัทซอฟต์แวร์ชั้นนำ สำนักงานสอบบัญชีขนาดใหญ่ และบริษัทเอกชนชั้นนำด้านบัญชี เพื่อร่วมกันศึกษา ค้นคว้า และวางระบบบัญชีให้แก่วิสาหกิจชุมชนนำร่องอย่างมีแบบแผน ตอบโจทย์ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้แนวคิด Digital Sustainability Modeling ที่มุ่งขับเคลื่อนวิสาหกิจชุมชนอย่างยั่งยืน เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และได้ผลลัพธ์สำคัญเป็น 'ต้นแบบ' ของระบบบัญชีสำหรับวิสาหกิจชุมชนที่สามารถนำไปขยายผลต่อยอดให้กับวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศไทยกว่า 82,500 ราย

     นอกจากที่วิสาหกิจชุมชนนำร่องทั้ง 6 ราย จะได้รับการวางระบบบัญชีต้นแบบแล้ว ยังได้รับองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคล ตลอดจนการสนับสนุนด้านอื่นๆ เช่น การตลาดยุคใหม่ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการในภาพรวม สร้างโอกาสทางการค้า และขยายช่องทางการตลาด เกิดวิสาหกิจชุมชนต้นแบบที่มีการจัดทำบัญชีที่ถูกต้องและมีศักยภาพเติบโตอย่างยั่งยืน เป็นแรงขับเคลื่อนให้กับวิสาหกิจชุมชนรายอื่น และช่วยขยายเครือข่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน นิสิตที่เป็นพี่เลี้ยงให้กับวิสาหกิจชุมชนได้นำความรู้ในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้จริงปูพื้นฐานก่อนลงสนามวิชาชีพบัญชีในอนาคต โดยมีโปรแกรมบัญชีสำเร็จรูปเป็นเครื่องมือ และต่อยอดองค์ความรู้ตลอดการปฏิบัติงานเพื่อวางระบบบัญชีให้แก่วิสาหกิจชุมชน

    วิสาหกิจชุมชนนำร่องทั้ง 6 ราย ประกอบด้วย *ภาคใต้ : วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี จังหวัดพัทลุง *ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : วิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย จังหวัดขอนแก่น *ภาคกลาง : วิสาหกิจชุมชนรังไหมประดิษฐ์ จังหวัดสระบุรี *ภาคตะวันตก : วิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนตำบลไร่มะขาม จังหวัดเพชรบุรี *ภาคตะวันออก : วิสาหกิจชุมชนมังคุดแปลงใหญ่คิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี และ *ภาคเหนือ : วิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนไพรและผลไม้ จังหวัดลำพูน และในระยะแรกนี้ ทั้ง 3 หน่วยงาน มีกำหนดลงพื้นที่ วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี จังหวัดพัทลุง และวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย จังหวัดขอนแก่น ในระหว่างเดือนมีนาคม - เมษายน 2566

        ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการอนุมัติจดทะเบียนจากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร จำนวน 82,500 รายทั่วประเทศไทย ในจำนวนนี้เป็นนิติบุคคล 1,300 ราย ทุนจดทะเบียนรวมกันกว่า 650 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งการผลิตสินค้าในหลากหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น อาหาร ของใช้ และสมุนไพร และการให้บริการ เช่น การท่องเที่ยว และสุขภาพ เป็นต้น" รองอธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย

#SuperDBD

****************************************

ที่มา : กองกำกับบัญชีธุรกิจ                                                                      ฉบับที่ 40 / วันที่ 9 มีนาคม 2566