กรมพัฒน์ฯ เดินหน้าพัฒนาร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่น สู่ "ร้านค้าต้นแบบ" ด้วยเทคโนโลยี 5.0 เสริมจุดแข็ง สร้างยอดขายแบบก้าวกระโดด
กรมพัฒน์ฯ เดินหน้าพัฒนาร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่น
สู่ "ร้านค้าต้นแบบ"
ด้วยเทคโนโลยี 5.0 เสริมจุดแข็ง
สร้างยอดขายแบบก้าวกระโดด
นายทศพล ทังสุบุตร
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้จัดกิจกรรมยกระดับมาตรฐานและสร้างเครือข่ายร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า
10 ปี เป้าหมายสูงสุดเพื่อพัฒนาและยกระดับให้ผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่นระดับจังหวัดและอำเภอใน
4 ภูมิภาค ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ให้มีมาตรฐานการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ
จนสามารถพัฒนาไปสู่การเป็น "ร้านค้าต้นแบบ" ที่กระจายอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วไทย
ช่วยสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับคนในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้นจำนวน 277 ร้านค้า
และจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปี
"สำหรับปี 2566 กรมฯ จะดำเนินการภายใต้กิจกรรม "พัฒนาร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่นสู่การเป็นร้านค้าต้นแบบ" ซึ่งผู้ประกอบการร้านค้าส่งค้าปลีกที่มีใจรักการพัฒนา สามารถสมัครเข้าร่วมกิจกรรมฯ ได้ฟรีแบบไม่มีค่าใช้จ่าย และจะได้รับสิทธิประโยชน์มากมายทั้งการเสริมสร้างองค์ความรู้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญที่จะมาเผยเคล็ดลับ ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ การศึกษาดูงาน ณ ร้านค้าต้นแบบของรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จแล้ว และเข้าร่วมเครือข่ายผู้ประกอบการร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่นทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังจะได้รับการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก ณ สถานประกอบการ จากทีมที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจค้าส่งค้าปลีก เพื่อพัฒนาปรับปรุงกระบวนการบริหารจัดการในด้านต่างๆ ตามความจำเป็นเร่งด่วนต่อการดำเนินธุรกิจของแต่ละราย เช่น การกำหนดกลยุทธ์ การตลาด สารสนเทศ เทคโนโลยีและนวัตกรรม บุคลากร การบริหารจัดการหน้าร้าน โลจิสติกส์ บัญชีและการเงิน"
อธิบดีกล่าวเพิ่มเติมว่า "กรอบแนวคิดในการพัฒนาผู้ประกอบการในปีนี้ กรมฯ จะมุ่งเน้นการผสาน อัตลักษณ์ท้องถิ่นของร้านค้าในแต่ละพื้นที่กับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อสร้างจุดแข็ง เพิ่มยอดขายให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ สอดรับกับการตลาดในยุค 5.0 ที่นำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงที่มีความสามารถในการเลียนแบบมนุษย์มาปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มศักยภาพการตลาด มีการประมวลผลข้อมูลที่สามารถนำมาวิเคราะห์และตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม เช่น เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ที่จะช่วยสร้างรายได้ตลอดทั้ง 24 ชม. และเครื่องมือด้านการตลาดประสาทวิทยา (Neuro Marketing) ที่จะ ทำให้เข้าใจลูกค้าได้มากยิ่งขึ้นและตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ตรงจุด โดยสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า ที่พร้อมจะมอบสิทธิพิเศษให้แก่ผู้ประกอบการที่มีผลการพัฒนาที่โดดเด่น (Best Practice) มีคะแนนรวมสูงสุดในทุกด้าน และผู้ประกอบการที่มีคะแนนรวมสูงสุดในด้านสารสนเทศ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จะได้รับสิทธิในการทดลองใช้ Vending Machine และ Neuro Marketing ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้ในยุคดิจิทัล ซึ่งร้านค้าส่ง ค้าปลีกที่ผ่านการพัฒนาจะเป็น "ร้านค้าต้นแบบ" ที่มีศักยภาพ สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยพัฒนาร้านค้าปลีกในพื้นที่ให้มีความเข้มแข็ง เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้ยั่งยืนต่อไป"
กิจกรรม "พัฒนาร้านค้าส่งค้าปลีกท้องถิ่นสู่การเป็นร้านค้าต้นแบบ" เริ่มตั้งแต่บัดนี้
ไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2566 สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ https://localmoderntradedbd.biz
หรือโทร. 0 2547 5986 กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
#SuperDBD
********************************************
ที่มา
: กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ฉบับที่
39 /8 มีนาคม 2566