ตลาดผลิตภาพยนตร์...ฟื้นจากโควิด ย้อนหลังรวม 3 ปี รับรายได้ฉ่ำ 3.3 หมื่นล้าน จับตาซีรีส์วายบูมหนัก สร้างธุรกิจเกิดใหม่อีกเพียบ

ตลาดผลิตภาพยนตร์...ฟื้นจากโควิด ย้อนหลังรวม 3 ปี รับรายได้ฉ่ำ 3.3 หมื่นล้าน

จับตาซีรีส์วายบูมหนัก สร้างธุรกิจเกิดใหม่อีกเพียบ

พร้อมช่วยชูอุตสาหกรรมหนังไทยเป็น Soft Power ดันจาก Local สู่ Global

          กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยผลวิเคราะห์ธุรกิจผลิตภาพยนตร์ขึ้นแท่นดาวเด่นเด้งแบบก้าวกระโดด    4 เดือนแรกของปี 2567 ทุนจดทะเบียนทะยานขึ้นกว่า 146.44% เทียบจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ประกอบกับอัตราการจดทะเบียนตั้งใหม่ปี 2566 โตแซงปีก่อนหน้า ทั้งจำนวนและทุนจดทะเบียนเพิ่มถึง 20% และเห็นรายได้ปี 2565 ชัดเจนกว่า 12,895.15 ล้านบาท พิจารณาย้อนหลัง 3 ปี (2563-2565) ฟันรายได้รวม 33,009.84 ล้านบาท จับตาซีรีส์วายช่วยพลิกอุตสาหกรรมหนังไทยให้เป็นโอกาสของธุรกิจบันเทิง นำเสนอคอนเทนต์ตรงใจผู้บริโภค ตอกย้ำความเสรีและเคารพความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ซึ่งซีรีส์วายเป็นเนื้อหาที่มีศักยภาพสูงสามารถทำตลาดในต่างประเทศได้ รวมถึงยังสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับธุรกิจประเภทอื่นๆ ทั้งด้านธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจสถานที่จัดการแสดง ธุรกิจโฆษณา ทั้งนี้ ซีรีส์วายยังเป็นกลุ่มธุรกิจที่กระทรวงพาณิชย์ให้การสนับสนุนอย่างดีเพื่อช่วยจับคู่ธุรกิจ และเชื่อมโยงสินค้าไทยให้แทรกซึมอยู่ในซีรีส์วาย จนกลายเป็น Soft Power ของไทยและระดับโลก

       นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้วิเคราะห์ธุรกิจที่น่าสนใจประจำเดือนเมษายน 2567 พบว่า ธุรกิจผลิตภาพยนตร์ มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและเป็นที่น่าสนใจและสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น เมื่อพิจารณาย้อนหลังกลับไป 3 ปี (2564-2566) ที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 การจัดตั้งใหม่และทุนการจดทะเบียนของธุรกิจผลิตภาพยนตร์มีอัตราเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2566 มีธุรกิจผลิตภาพยนตร์ที่จดทะเบียนนิติบุคคลจำนวน 137 ราย ทุนจดทะเบียน 258 ล้านบาท เติบโตจากปี 2565 ถึง 20% และปี 2567 ในช่วง 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน) มีจำนวน 56 ราย เติบโตขึ้น 12% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 และทุนจดทะเบียน 195.18 ล้านบาท เติบโตขึ้น 146.44% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566

          อธิบดี กล่าวต่อว่า "ธุรกิจผลิตภาพยนตร์ที่จดทะเบียนนิติบุคคลจนถึงปัจจุบัน (30 เมษายน 2567) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,442 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 7,387.97 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กจำนวน 1,383 ราย (95.91%) มูลค่าทุน 4,843.07 ล้านบาท ธุรกิจขนาดกลางจำนวน 55 ราย (3.81%) มูลค่าทุน 1,629.91 ล้านบาท และขนาดใหญ่ 4 ราย (0.28%) มูลค่าทุน 915 ล้านบาท โดยธุรกิจจะตั้งอยู่ตามพื้นที่เศรษฐกิจที่มีกลุ่มประชากรหนาแน่นเพื่อความสะดวกในการติดต่อและเจรจาธุรกิจอย่างภาคกลาง เหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวิเคราะห์การเติบโตของธุรกิจผลิตภาพยนตร์ผ่านข้อมูลผลประกอบการรายได้และกำไร พบว่ารายได้ในปี 2565 อยู่ที่ 12,895.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 32% จากปี 2564 ที่มีรายได้ 9,761.54 ล้านบาท และรายได้รวมย้อนหลัง 3 ปี (2563-2565) สร้างรายได้รวม 33,009.84 ล้านบาท

          การพลิกวิกฤตของอุตสาหกรรมหนังไทยให้กลับมาทำกำไรได้ในครั้งนี้คือสัญญาณเชิงบวกในการฟื้นตัวของธุรกิจ เป็นผลมาจากการพัฒนาธุรกิจให้มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น การนำเสนอมุมมองใหม่ๆ โดยเฉพาะการสร้างสรรค์เนื้อเรื่องในรูปแบบซีรีส์วายที่กำลังเป็นกระแสความนิยมอย่างมากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และมีศักยภาพสูงในการทำตลาดต่างประเทศ สอดรับกับสังคมไทยที่เปิดกว้างและเคารพในความหลากหลายทางเพศ การออกกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งทำให้ประเทศไทยเกิดมุมมองที่ดีในสายตาต่างชาติ      การสื่อสารอัตลักษณ์ของความเป็นไทยกับเสรีภาพทางเพศผ่าน Content ซีรีส์วายจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการยอมรับจากนานาชาติและสร้างเศรษฐกิจเติบโตได้อีกทาง

          สำหรับซีรีส์วายไม่ใช่แค่ธุรกิจผลิตละครหรือหนังไทยเท่านั้น แต่ยังสร้างความสำคัญและมูลค่าให้กับธุรกิจอื่นๆ ตามมาด้วย อาทิ เมื่อดูซีรีส์จบแต่ธุรกิจยังไม่จบแค่นั้นยังสร้างมูลค่าให้ตัวนักแสดงต่อเนื่องจากนักแสดงกลายเป็น Influencer ที่มีอิทธิพลทางความคิดของแฟนคลับ มีการจัดกิจกรรม Fan Meeting ซึ่งทำให้เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอื่นต่อไปอีก ทั้งธุรกิจให้บริการสถานที่จัดงาน ธุรกิจรับจัดงานแสดง ธุรกิจผลิตของชำร่วย การตามรอยสถานที่ที่ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ เพลงประกอบซีรีส์ มากไปกว่านั้นธุรกิจโฆษณาที่แฝงไปกับซีรีส์ก็ยังได้รับอานิสงส์ดีให้ธุรกิจโตตามไปด้วย

             กระทรวงพาณิชย์ โดยรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย    ได้ส่งเสริมการทำธุรกิจของกลุ่มผู้ผลิตซีรีส์วาย รวมถึงอุตสาหกรรมหนังไทยให้มีความสะดวกในดำเนินธุรกิจ  การจับคู่ธุรกิจ การเสนอขายซีรีส์ให้แก่ตลาดต่างประเทศ พร้อมเชื่อมโยงสินค้าชุมชนและบริการของไทยให้ปรากฏอยู่ในเนื้อหาของซีรีส์เพื่อเป็นการเผยแพร่ภูมิปัญญาของไทยให้กลายเป็นกระแสนิยม หรือ Soft Power แก่แฟนคลับทั้งชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีผู้ประกอบการชุมชนที่อยู่ภายใต้การส่งเสริมของกรมฯ ได้ผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคซีรีส์วาย อาทิ อาลัวขนมไทย สมุนไพรหอมระเหย น้ำมันนวดสมุนไพร ถั่วลายเสืออบกรอบ และสุราพื้นถิ่น ซึ่งเป็นสินค้าที่พร้อมเป็น Soft Power ของไทย โดยกรมฯ    ได้และประสานกับกลุ่มผู้ผลิตซีรีส์วายเพื่อช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าชุมชนผ่านบทละครหรือหนังให้เป็นที่รู้จักและสร้างยอดขายให้กับสินค้าชุมชนไทยได้ต่อไป ดังนั้น ซีรีส์วายจึงไม่ใช่แค่ธุรกิจผลิตหนังเท่านั้น แต่จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะกระเพื่อมเศรษฐกิจไทยให้กระจายไปทั่วโลกได้อีกด้วย" อธิบดี กล่าวทิ้งท้าย

#SuperDBD

#กระทรวงพาณิชย์

****************************************

ที่มา : กองข้อมูลธุรกิจ                                                                        ฉบับที่ 93  / วันที่ 19 พฤษภาคม 2567