เริ่มไตรมาส 2 ปี 2567 จดทะเบียนธุรกิจใหม่ยังคึกคัก จัดตั้งสะสม 4 เดือน 3.1 หมื่นราย ทุนจดทะเบียนรวม 9.5 หมื่นล้านบาท

เริ่มไตรมาส 2 ปี 2567 จดทะเบียนธุรกิจใหม่ยังคึกคัก

จัดตั้งสะสม 4 เดือน 3.1 หมื่นราย ทุนจดทะเบียนรวม 9.5 หมื่นล้านบาท

และต่างชาติยังขนเงินลงทุนเข้าไทยไม่หยุด!

ด้านธุรกิจโฆษณาขยายตัว ซีรีส์วายเนื้อหอม ตีฟูให้อุตสาหกรรมหนังไทยคืนชีพ

       ก้าวสู่ไตรมาส 2 ธุรกิจไทยยังเดินหน้าจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ไม่หยุด เด้งรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ตั้งใหม่เดือนเมษายน 2567 จำนวน 6,530 ราย เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน 8.09% ทุนจดทะเบียน 2.72 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนถึง 30.50% ขณะที่การจดทะเบียนเลิกธุรกิจชะลอตัวลง ด้านนักลงทุนต่างชาติยังขนเงินเข้าประเทศไทยต่อเนื่อง สำหรับธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรงต้องยกให้กับธุรกิจด้านความบันเทิง ทั้งธุรกิจบริษัทโฆษณาที่มียอดจัดตั้งใหม่เพิ่ม สะท้อนถึงการกลับมาคึกคักของธุรกิจไทย ใช้โฆษณาแข่งขันแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด อีกทั้ง ธุรกิจผลิตภาพยนตร์ก็ขยายตัวไม่หยุด จดทะเบียนตั้งใหม่ปี 2566 โตแซงปีก่อนหน้า ทั้งจำนวนและทุนจดทะเบียนเพิ่มถึง 20% โดยมีซีรีส์วายกระแสเปรี้ยง! ช่วยหนุนให้อุตสาหกรรมหนังไทยพร้อมเป็น Soft Power เผยแพร่อัตลักษณ์ความเป็นไทย สินค้าไทย สถานที่ท่องเที่ยวไทย และช่วยดันธุรกิจอื่นๆ ให้เฟื่องฟูต่อไป

          นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การจัดตั้งธุรกิจในประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ภาพรวมส่งสัญญาณไปในทิศทางที่ดี การเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนในกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างโครงการ Digital Wallet ที่มีรายละเอียดและแนวทางชัดเจนมากขึ้น สร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม โดยตัวเลขนิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนเมษายน 2567 พบว่า มีจำนวน 6,530 ราย เพิ่มขึ้น 489 ราย หรือ 8.09% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2566 และมีมูลค่าทุนจดทะเบียน 27,271.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,373.99 ล้านบาท หรือ 30.50% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2566  นับเป็นสัญญาณบวกสะท้อนให้เห็นว่าไตรมาส 2 ของปีนี้ เลขการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จะมีจำนวนสูงกว่าในปีที่ผ่านมา ที่สำคัญจำนวนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเดือนเมษายน 2567 ยังเป็นจำนวนสูงที่สุดของเดือนเมษายนในทุกๆ ปี ตั้งแต่กรมฯ เปิดให้บริการจดทะเบียนธุรกิจมา 101 ปี โดยธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 565 ราย ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 455 ราย และ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 329 ราย              คิดเป็นสัดส่วน 8.66%, 6.97% และ 5.04% ของจำนวนการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเดือนเมษายน 2567 ตามลำดับ

อธิบดี กล่าวต่อว่า "การจัดตั้งธุรกิจใหม่สะสม 4 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-เมษายน 2567) มีจำนวน 31,533 ราย ลดลงเล็กน้อยจำนวน 690 ราย หรือ 2.14% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม-เมษายน 2566  ทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 95,212.41 ล้านบาท ลดลง 265,280.89 ล้านบาท หรือ 73.59% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม-เมษายน 2566 (เนื่องจากปี 2566 มีการควบรวมกิจการของบริษัทที่มีมูลค่าทุนเกิน 100,000 ล้านบาท) และคาดการณ์ตัวเลขการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในครึ่งปีแรกของปี 2567 อยู่ที่ 44,000-47,000 ราย

          การจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเดือนเมษายน 2567 มีจำนวน 810 ราย ลดลง 126 ราย หรือ 13.46% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2566 และลดลงจากเดือนที่มีนาคม 2567 จำนวน 101 ราย หรือ 11.09% มูลค่าทุน    จดทะเบียนเลิก 5,096.83 ล้านบาท ลดลง 80.37 ล้านบาท หรือ 1.55% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2566 และลดลง จากเดือนมีนาคม 2567 จำนวน 485.45 ล้านบาท หรือ 8.70% โดยธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการ 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 88 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 44 ราย และ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 29 ราย คิดเป็นสัดส่วน 10.87%, 5.43% และ 3.58% ของจำนวนการเลิกประกอบกิจการเดือนเมษายน 2567 ตามลำดับ

          การจดทะเบียนเลิกสะสม 4 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-เมษายน 2567) มีจำนวน 3,619 ราย ลดลง 585 ราย หรือ 13.92% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม-เมษายน 2566 โดยมีทุนจดทะเบียนเลิกสะสมอยู่ที่ 17,040.40 ล้านบาท ลดลง 18,029.42 ล้านบาท หรือ 51.41% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับอัตราการจัดตั้งต่อการเลิกประกอบกิจการของปี 2567 มีอัตราอยู่ที่จัดตั้ง 9 ราย เลิก 1 ราย (9:1)

          ปัจจุบัน (30 เมษายน 2567) มีธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลรวมทั้งสิ้น 1,908,768 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 29.95 ล้านล้านบาท โดยมีนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่จำนวน 917,916 ราย แบ่งออกเป็นบริษัทจำกัดจำนวน 714,622 ราย คิดเป็น 77.85% ของจำนวนนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียน 15.98 ล้านล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลจำนวน 201,834 ราย คิดเป็น 21.99% ของจำนวนนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียน 0.48 ล้านล้านบาท และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,460 ราย คิดเป็น 0.16% ของจำนวนนิติบุคคลดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียน 5.74 ล้านล้านบาท

          ขณะที่ในเดือนเมษายน 2567 มีการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 75 ราย เพิ่มขึ้น 5 ราย หรือ 7% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2567 โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวจำนวน 16 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 59 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 19,056 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,692 ล้านบาท หรือ 104% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2567 มีนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น จำนวน 23 ราย เงินลงทุน 15,048 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา จำนวน 12 ราย เงินลงทุน 100 ล้านบาท และสิงคโปร์ จำนวน 10 ราย เงินลงทุน 1,205 ล้านบาท อย่างไรก็ดี 4 เดือนแรก (มกราคม-เมษายน 2567) อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยตามพระราชบัญญัติฯ จำนวน 253 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 36 ราย หรือ 17% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เกิดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 54,958 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,256 ล้านบาท หรือ 42% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566

          สำหรับธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจต้องยกให้กับธุรกิจด้านความบันเทิง ใน 2 กลุ่มธุรกิจ คือ ธุรกิจเกี่ยวกับกิจกรรมของบริษัทโฆษณา เช่น การให้บริการด้านการออกแบบสร้างสรรค์การผลิตสิ่งต่างๆ ที่ใช้ในการโฆษณา การวางแผนและการซื้อสื่อโฆษณา ในเดือนเมษายน 2567 มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 106 ราย และมีแนวโน้มเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจที่ 32.50% เพิ่มขึ้น 26 ราย เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2566 ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครจำนวน 57 ราย นนทบุรีจำนวน 10 ราย และสมุทรปราการจำนวน 7 ราย คิดเป็น 53.77%, 9.43% และ 6.60% ของจำนวนการจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนเมษายน 2567 ตามลำดับ โดยธุรกิจที่จัดตั้งใหม่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก (S) 100% แสดงให้เห็นถึงธุรกิจขนาดย่อยสามารถการเข้าสู่อุตสาหกรรมโฆษณาได้มากยิ่งขึ้น โดยธุรกิจโฆษณามีแนวโน้มเติบโตไปในทิศทางบวก การเติบโตของสื่อดิจิทัลที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ธุรกิจเกิดการแข่งขันกันสูง สะท้อนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่กลับมาจับจ่ายใช้สอย ธุรกิจจึงต้องใช้โฆษณาเข้ามาช่วยดึงดูด สร้างการรับรู้ให้แก่ลูกค้าหันมาสนใจสินค้าหรือบริการ

          นอกจากนี้ ธุรกิจผลิตภาพยนตร์ ยังเป็นอีกหนึ่งธุรกิจดาวเด่นที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดเป็นที่น่าสนใจและสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยใน 4 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-เมษายน) มีธุรกิจผลิตภาพยนตร์ที่จดทะเบียนนิติบุคคลจำนวน 56 ราย เพิ่มขึ้น 12% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 และทุนจดทะเบียน 195.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 146.44% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 และในปี 2566 มีจำนวน 137 ราย ทุนจดทะเบียน 258 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 20% ทั้งนี้ ในปี 2565 มีรายได้รวมอยู่ที่ 12,895.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 และมีแนวโน้มที่จะมีอัตราเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีปัจจัยจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมาช่วยสนับสนุน แต่ที่สำคัญเป็นการปรับตัวของธุรกิจในอุตสาหกรรมหนังไทยให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคและบริบทของสังคมไทยที่มีการเปิดกว้างในความหลากหลายทางเพศมากขึ้น โดยพระเอกที่มาช่วยพัฒนาวงการนี้คือ ซีรีส์วาย เป็นคอนเทนต์ที่สื่อถึงความสัมพันธ์ที่ไม่ได้จำกัดเพศ เปิดกว้างในการนำเสนอความรักในรูปแบบต่างๆ ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ซีรีส์วายสามารถสร้างมูลค่าในธุรกิจผลิตภาพยนตร์ให้กลับมาสร้างกำไรได้อย่างมาก ไม่เพียงเท่านั้นยังสร้างเม็ดเงินขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโฆษณา ดังที่กล่าวไปข้างต้น การสร้างมูลค่าจากตัวนักแสดงให้ไปเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิด ธุรกิจจัดกิจกรรม (Event) และธุรกิจท่องเที่ยว ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้ผลิตซีรีส์วายกว่า 177 เรื่อง สามารถสร้างกระแสความนิยมเรื่อยมาและขยายกลุ่มลูกค้าในวงกว้างจนสามารถส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศได้

          สุดท้ายนี้ ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปีจะเป็นช่วงที่นิติบุคคลที่ปิดรอบบัญชีในวันที่ 31 ธันวาคม จะต้องเร่งนำส่งงบการเงินกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าโดยเฉพาะสัปดาห์สุดท้าย สำหรับในปี 2567 มีนิติบุคคลที่มีหน้าที่ส่งงบการเงินรอบปีบัญชี 2566 จำนวน 835,011 ราย โดยเป็นนิติบุคคลที่ปิดรอบปีบัญชี 31 ธันวาคม จำนวนกว่า 671,823 ราย คิดเป็น 80% ของผู้มีหน้าที่ส่งงบการเงิน จากข้อมูล ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 มีผู้นำส่งงบการเงินแล้วเพียง 17% ของผู้มีหน้าที่ต้องนำส่ง ทั้งนี้ งบการเงินรอบปีบัญชี 2565 ที่ผ่านมามีนิติบุคคลนำส่งงบการเงินจำนวนทั้งสิ้น 660,751 ราย คิดเป็น 82% ของผู้มีหน้าที่ต้องนำส่ง (ข้อมูล ณ 30 เมษายน 2567) โอกาสนี้ กรมฯ จึงขอเชิญชวนผู้มีหน้าที่ต้องนำส่งงบการเงินให้นำส่งงบการเงินแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันความแออัดในการใช้บริการ ลดความผิดพลาดต่างๆ และขอแนะนำให้นำส่งงบการเงินผ่านระบบออนไลน์ DBD e-Filing ซึ่งสะดวกสบาย       ไม่ต้องเดินทาง อีกทั้งกรมฯ ยังสามารถใช้ข้อมูลงบการเงินไปให้บริการด้านข้อมูลธุรกิจแก่ประชาชน รวมถึงนำไปวิเคราะห์ภาพรวมการเติบของธุรกิจไทยเพื่อให้ธุรกิจใช้ในการพิจารณาวางแผนธุรกิจในอนาคตได้อย่างรวดเร็วทันสถานกาณ์อีกด้วย" อธิบดี กล่าวทิ้งท้าย

#SuperDBD

#กระทรวงพาณิชย์

****************************************

ที่มา : กองข้อมูลธุรกิจ                                                                        ฉบับที่  91 / วันที่ 17 พฤษภาคม 2567