กรมพัฒนาธุรกิจฯ ลุยสร้างร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบทั่วไทย ตั้งเป้าปี '67 เกิดร้านค้าต้นแบบไม่น้อยกว่า 30 ร้าน
กรมพัฒนาธุรกิจฯ ลุยสร้างร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบทั่วไทย
ตั้งเป้าปี '67 เกิดร้านค้าต้นแบบไม่น้อยกว่า 30 ร้าน
..ดันเป็นพี่เลี้ยงช่วยโชห่วยท้องถิ่น
สร้างโอกาสให้ร้านค้ารายย่อย-รายย่อมเข้าถึงเทคโนโลยี..เพิ่มยอดขาย..ขยายกลุ่มลูกค้า
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ลงพื้นที่ทั่วไทย ลุยสร้างร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบ ดันเป็นพี่เลี้ยงช่วยโชห่วยท้องถิ่น
สร้างโอกาสให้ร้านค้ารายย่อย-รายย่อมเข้าถึงเทคโนโลยี
เพิ่มยอดขายขยายกลุ่มลูกค้า ตั้งเป้า ปี '67 เกิดร้านค้าต้นแบบไม่น้อยกว่า 30 ร้านค้า และร้านโชห่วยท้องถิ่นได้รับประโยชน์ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า
250 ร้านค้า มั่นใจ! การพัฒนาจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งร้านค้าต้นแบบและร้านค้าโชห่วย ภายใต้แนวคิด 'รายใหญ่ช่วยรายเล็ก ได้รับประโยชน์ทั้งคู่
พร้อมเติบโตไปด้วยกัน' อีกสิ่งสำคัญ คือ
คนในพื้นที่ย่อมเข้าใจคนในพื้นถิ่น รู้พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยและความชื่นชอบสินค้า/บริการประเภทใด จึงเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายและคัดสรรสินค้าอุปโภค-บริโภคได้ตรงใจเพื่อนบ้านมากที่สุด
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "นโยบายสำคัญที่นายภูมิธรรม
เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายนภินทร
ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งดำเนินการ คือ การสร้างโอกาสทางการตลาดและสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจเอสเอ็มอีของไทย โดยเฉพาะธุรกิจค้าส่งค้าปลีกและโชห่วยท้องถิ่น
โจทย์ท้าทายสำคัญ
คือ ทำอย่างไรให้ร้านค้าส่งค้าปลีกที่มีศักยภาพร่วมเป็นภาคีเครือข่ายช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการค้าปลีกรายเล็กหรือโชห่วย
รวมถึง การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยเสริมศักยภาพการประกอบธุรกิจ ให้สอดรับกับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล
(Digital Transformation)
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงประสานความร่วมมือโดยดึงร้านค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่และขนาดกลางที่อยู่ในแต่ละท้องถิ่นมาเป็นภาคีเครือข่ายช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้าปลีกรายย่อย-รายย่อม โดยดำเนินการเสริมศักยภาพและยกระดับมาตรฐานให้เป็นร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบและเป็นพี่เลี้ยงให้ร้านโชห่วยในท้องถิ่น รวมถึง
การสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันในพื้นที่ สร้างโอกาสให้ร้านค้าโชห่วยได้เข้าถึงเทคโนโลยี
พัฒนาร้านค้าให้มีระบบการบริหารจัดการที่ทันสมัย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขยายตลาด
ขยายกลุ่มลูกค้า และเพิ่มยอดขายให้แก่ร้านโชห่วย ทั้งนี้
มั่นใจว่าการพัฒนาดังกล่าว จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งร้านค้าต้นแบบและร้านค้าโชห่วย
ภายใต้แนวคิด 'รายใหญ่ช่วยรายเล็ก
ได้รับประโยชน์ทั้งคู่ พร้อมเติบโตไปด้วยกัน' และส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในท้องถิ่น
อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า ปี 2567 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ได้กำหนดเป้าหมายการเสริมศักยภาพและยกระดับมาตรฐานธุรกิจเพื่อให้เกิดร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบได้ไม่น้อยกว่า 30
ร้านค้าทั่วประเทศ และมีร้านโชห่วยท้องถิ่นได้รับประโยชน์ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 250 ร้านค้า โดยร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบจะเป็นพี่เลี้ยงโชห่วยช่วยให้คำปรึกษาและพัฒนาเป็น 'สมาร์ทโชห่วย' โดยมีการปรับภาพลักษณ์ร้านค้าให้เป็นหมวดหมู่ตามหลัก 5ส (สวย สะอาด สว่าง
สะดวก สบาย) ซึ่งจะช่วยดึงดูดลูกค้าเข้าร้านและเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้น
รวมถึง ส่งเสริมให้ใช้ระบบ POS สำหรับการขายสินค้า
การจัดการสต็อคสินค้า และการดูรายงานยอดขายเบื้องต้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากวิถีการทำงานรูปแบบเดิมสู่การใช้ระบบเทคโนโลยีมาช่วยลดต้นทุนและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันระยะยาว
เบื้องต้น กรมฯ วางแผนการลงพื้นที่ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจค้าส่งค้าปลีก จำนวนทั้งสิ้น 24 จังหวัด 33 ร้านค้า ได้แก่ นครสวรรค์ พิษณุโลก ลำปาง ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ยโสธร กาญจนบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม อุทัยธานี ตรัง พังงา และสุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 1 ร้านค้า สุโขทัย ร้อยเอ็ด หนองบัวลำภู อุบลราชธานี และสระแก้ว จังหวัดละ 2 ร้านค้า ขอนแก่น และสกลนคร จังหวัดละ 3 ร้านค้า เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก ณ สถานประกอบการ แก่ผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกที่มีความพร้อมที่จะได้รับการพัฒนาเป็นร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบและเป็นพี่เลี้ยงโชห่วย
การลงพื้นที่แต่ละสถานประกอบการจะเน้นที่การให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกเป็นหลัก
โดยแบ่งออกเป็น 3 ครั้ง 3 ระดับ ได้แก่ 1)
วิเคราะห์การพัฒนาตามเกณฑ์มาตรฐานการบริหารจัดการของกรมฯ และจัดทำแผนพัฒนาเฉพาะราย (Individual
Action Plan) โดยจะเน้นที่การแก้ปัญหาเร่งด่วน
และการต่อยอดเสริมจุดแข็งให้ธุรกิจ 2) ให้คำปรึกษาแนะนำแนวทางการพัฒนาตาม Individual
Action Plan และ 3) การติดตามและประเมินผลการพัฒนาของผู้ประกอบการ
ซึ่งการดำเนินงานทั้ง 3 ครั้ง
จะนำไปสู่การยกระดับการบริหารจัดการธุรกิจให้มีมาตรฐาน
และพร้อมเป็นต้นแบบและเป็นพี่เลี้ยงแก่ผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกรายย่อย-รายย่อม
และผู้ประกอบการร้านโชห่วยต่อไป นอกจากนี้ ผู้ประกอบการร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบยังจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ
จากพันธมิตรของกรมฯ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน เช่น
ธ.กรุงไทย ธ.ออมสิน ธ.พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และ
ธ.ไทยพาณิชย์ เป็นต้น
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 29 เมษายน 2567)
กรมพัฒนาธุรกิจการได้ดำเนินการพัฒนาและยกระดับร้านค้าส่งค้าปลีกให้เป็นร้านค้าส่งค้าปลีกต้นแบบ
(พี่เลี้ยงโชห่วย) แล้วจำนวนทั้งสิ้น 307 ร้านค้า แบ่งเป็น ภาคกลาง 99 ร้านค้า
(32.25%)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 98 ร้านค้า (31.92%) ภาคเหนือ 66
ร้านค้า (21.50%) และภาคใต้ 44 ร้านค้า (14.33%)
และได้ดำเนินการพัฒนาร้านค้าโชห่วยให้เป็น 'สมาร์ทโชห่วย' ทั้งการปรับภาพลักษณ์ร้านค้าและส่งเสริมให้ใช้ระบบ POS แล้วจำนวนทั้งสิ้น 7,375 ร้านค้า แบ่งเป็น ภาคกลาง 2,288 ร้านค้า (31.03%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2,063 ร้านค้า (27.97%)
ภาคใต้ 1,523 ร้านค้า (20.65%) และ ภาคเหนือ 1,501 ร้านค้า
(20.35%)
ผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกสนใจเข้าร่วมโครงการฯ หรือ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนส่งเสริมธุรกิจการค้า กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
กระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2547 5986 สายด่วนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 1570 e-Mail: bizpromotion.dbd@gmail.com และ www.dbd.go.th
#SuperDBD
#กระทรวงพาณิชย์
**************************************
ที่มา : กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ ฉบับที่ 86 / วันที่ 10 พฤษภาคม 2567