กรมพัฒนาธุรกิจฯ เผยยอดผู้ทำบัญชี กว่า 7.5 หมื่นราย และสำนักงานบัญชีคุณภาพ 171 แห่ง พร้อมให้บริการและแนะนำผู้ประกอบการทั่วประเทศ

กรมพัฒนาธุรกิจฯ เผยยอดผู้ทำบัญชี กว่า 7.5 หมื่นราย และสำนักงานบัญชีคุณภาพ 171 แห่ง

พร้อมให้บริการและแนะนำผู้ประกอบการทั่วประเทศด้านการจัดทำบัญชีและรายงานทางการเงิน

ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและแข็งแกร่ง

          กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยยอดผู้ทำบัญชีกว่า 7.5 หมื่นราย และสำนักงานบัญชีคุณภาพ 171 แห่งทั่วประเทศ พร้อมให้บริการและแนะนำผู้ประกอบธุรกิจด้านการจัดทำบัญชีและรายงานทางการเงิน สร้างความมั่นใจในการนำส่งงบการเงินประจำปีแก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่มีความถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมสร้างความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใส แก่นักธุรกิจที่กำลังจะเข้าร่วมลงทุนและพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและแข็งแกร่ง       

          นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจให้ความสำคัญกับการจัดทำบัญชีและสร้างธรรมาภิบาลธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญลำดับต้นที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจทั้งปัจจุบันและอนาคต ประกอบกับภาคธุรกิจต้องนำส่งงบการเงินประจำปีให้แก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดังนั้น การมีระบบบัญชีที่ดี จัดทำบัญชีที่ถูกต้อง และมีธรรมาภิบาลธุรกิจจึงเปรียบเสมือนการมีเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพที่จะช่วยให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่งเสริมให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือ เพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน และช่วยยกระดับการบริหารจัดการธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง มั่นคง และยั่งยืน

        กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีความเข้มแข็งและมีธรรมาภิบาลธุรกิจ การจัดทำบัญชีและรายงานทางการเงินที่มีความถูกต้องเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีธรรมาภิบาล โดยมีผู้ทำบัญชี สำนักงานบริการรับทำบัญชี และสำนักงานบัญชีคุณภาพ เป็นปัจจัยเสริมที่ช่วยผลักดันให้ภาคธุรกิจเข้าสู่การมีธรรมาภิบาลมากขึ้น ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567) ประเทศไทยมีนิติบุคคลคงอยู่จำนวนทั้งสิ้น 912,297 ราย มีผู้ทำบัญชีทั่วประเทศ จำนวน 74,283 คน แบ่งเป็นส่วนกลาง 33,823 คน (46%) ส่วนภูมิภาค 40,460 คน (54%) และมีสำนักงานบัญชีคุณภาพ จำนวน 171 แห่ง แบ่งเป็นส่วนกลาง 91 แห่ง (53%) ส่วนภูมิภาค 80 แห่ง (47%

            อธิบดีอรมนฯ กล่าวต่อว่า กรมฯ ได้วิเคราะห์สัดส่วนของผู้ทำบัญชีเปรียบเทียบกับนิติบุคคลคงอยู่ พบว่า จังหวัดที่มีผู้ทำบัญชีสูงสุด 3 อันดับแรก คือ

1. กรุงเทพมหานคร มีผู้ทำบัญชี 28,820 ราย นิติบุคคลคงอยู่ 323,922 ราย เฉลี่ยนิติบุคคล 11 ราย ต่อ ผู้ทำบัญชี 1 คน

2. นนทบุรี มีผู้ทำบัญชี 5,003 คน นิติบุคคลคงอยู่ 51,145 ราย เฉลี่ยนิติบุคคล 10 ราย ต่อ ผู้ทำบัญชี 1 คน

3. สมุทรปราการ มีผู้ทำบัญชี 4,479 คน นิติบุคคลคงอยู่ 52,504 ราย เฉลี่ยนิติบุคคล 11 ราย ต่อ ผู้ทำบัญชี 1 คน

ซึ่งสัดส่วนของจำนวนผู้ทำบัญชีรายจังหวัดเปรียบเทียบกับนิติบุคคลคงอยู่ 'มีความเหมาะสม' เนื่องจากบริบทด้านการจัดทำบัญชีในปัจจุบัน ผู้ทำบัญชีสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้และสามารถให้บริการจัดทำบัญชีข้ามจังหวัดได้ นอกจากนี้ จำนวนนิติบุคคลเฉลี่ยต่อผู้ทำบัญชี 1 คน สอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ทำบัญชี 1 คน สามารถรับทำบัญชีของนิติบุคคลได้ไม่เกิน 100 รายต่อปีปฏิทิน ส่งผลให้การจัดทำบัญชีมีประสิทธิภาพ มีความถูกต้อง และเป็นเครื่องมือสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่พร้อมเข้าลงทุนในธุรกิจ

  และเพื่อให้ผู้ทำบัญชีได้มีการเพิ่มพูนทักษะความรู้ด้านบัญชี กรมฯ ได้เปิดคอร์สอบรมทั้งในรูปแบบ On-Site และ Online (e-Learning) บน Platform DBD Academy แก่ผู้ทำบัญชี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้ผู้ทำบัญชีได้อัพเดทความรู้ด้านวิชาชีพบัญชีอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้การจัดทำบัญชีมีความถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่กำหนด ซึ่งจะส่งผลดีทั้งต่อตัวผู้ทำบัญชี ภาคธุรกิจ และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ยังมีการให้ความรู้และพัฒนานักศึกษาสาขาบัญชีที่กำลังจะจบการศึกษาผ่านโครงการ "สร้างนักบัญชีคุณภาพรุ่นใหม่ (Young & Smart Accountants)" ก่อนเข้าสู่เส้นทางวิชาชีพบัญชีอย่างมีคุณภาพ โดยมีสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 104 สถาบัน มีนักศึกษาเข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้น 38,147 คน และ โครงการ "พัฒนาสำนักงานบัญชีคุณภาพ" เพื่อยกระดับคุณภาพสำนักงานบัญชีไทยสู่มาตรฐานสากล ขณะเดียวกันเป็นการสร้างทางเลือกให้ลูกค้าได้มีโอกาสใช้บริการสำนักงานบัญชีที่มีคุณภาพและดำรงไว้ซึ่งมาตรฐานคุณภาพการให้บริการ

       อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้ายว่า ในยุคปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง ผู้ประกอบธุรกิจจำเป็นต้องได้รับข้อมูลที่แม่นยำและรวดเร็วเพื่อการตัดสินใจลงทุนเพิ่มและการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่จำเป็นต้องวางกลยุทธ์ให้อยู่เหนือคู่แข่งและมีระบบการบริหารจัดการธุรกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งการมีระบบบัญชีที่ดีจะเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยให้กิจการมีระบบการควบคุมภายในที่ดี มีข้อมูลทางบัญชีที่ถูกต้องทันเวลา สามารถนำไปวางแผน ตัดสินใจ ส่งเสริมให้ธุรกิจแข่งขันได้ทุกสถานการณ์และเติบโตอย่างมีทิศทางและมีประสิทธิภาพสูงสุด"

#SuperDBD

#กระทรวงพาณิชย์

***************************************

ที่มา : กองกำกับบัญชีธุรกิจ                                                           ฉบับที่ 85 / วันที่ 9 พฤษภาคม 2567