กรมพัฒนาธุรกิจฯ ชวนภาคธุรกิจใช้บริการขอหนังสือรับรองนิติบุคคล ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Service เพื่อความสะดวก คล่องตัว และรวดเร็ว

กรมพัฒนาธุรกิจฯ ชวนภาคธุรกิจใช้บริการขอหนังสือรับรองนิติบุคคล

ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Service เพื่อความสะดวก คล่องตัว และรวดเร็ว

และยังมีการให้บริการฟรีในส่วนของการค้นหาข้อมูลนิติบุคคล

ทาง DBD DataWarehouse+ และ แอปพลิเคชัน DBD e-Service

ช่วยตรวจสอบสถานะตัวตนนิติบุคคล..สร้างความมั่นใจในการทำธุรกิจ

     กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชวนภาคธุรกิจใช้บริการขอหนังสือรับรองนิติบุคคลและสำเนา ผ่านระบบ e-Service ติดสปีดการให้บริการที่สะดวกรวดเร็วกว่าเดิม รองรับผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เลือกรายการยอดนิยมให้เป็นแพ็คเกจสำเร็จรูป กดเลือกครั้งเดียวเข้าสู่หน้าจ่ายเงิน รอรับเอกสารนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ทันที พร้อมเพิ่มลูกเล่นจดจำประวัติการขอข้อมูลและตรวจสอบรายการที่ขอย้อนหลังได้ ขณะเดียวกัน หากต้องการหาคู่ค้าทางธุรกิจ เช็คสถานะตัวตนของธุรกิจ ตรวจสุขภาพงบการเงินของนิติบุคคลทั้งไทยและต่างชาติที่ได้รับอนุญาต ค้นหาได้ที่ DBD DataWarehouse+ และ แอปพลิเคชัน DBD e-Service ฟรี..ไม่มีค่าใช้จ่าย

       นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ชวนภาคธุรกิจใช้บริการออนไลน์ของกรมฯ เพื่อความสะดวก รวดเร็ว โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีบริการขอหนังสือรับรองนิติบุคคลผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ที่ผู้ใช้บริการสามารถเข้าใช้ผ่านทางออนไลน์ ทั้งในส่วนการขอหนังสือรับรอง รับรองสำเนา ถ่ายเอกสารทางทะเบียน งบการเงินและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของนิติบุคคล โดยผู้ใช้บริการสามารถเลือกช่องทางการรับเอกสารที่สะดวก ทั้ง *รับด้วยตนเอง (Self pick-up) *บริการผ่านไปรษณีย์ EMS *จัดส่งโดยพนักงานกรมฯ (Delivery) *รับผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร (e-Certificate) และ *ไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Certificate File) เป็นต้น ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการขอหนังสือรับรองนิติบุคคลและรับรองสำเนาผ่านระบบการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มีผู้ขอหนังสือรับรองผ่านทางออนไลน์เป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Certificate File) มากที่สุด มีอัตราการใช้งานเพิ่มขึ้น 38.15% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2565 รองลงมา คือ รับผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร (e-Certificate) และบริการผ่านไปรษณีย์ EMS ตามลำดับ ทำให้สัดส่วนการใช้บริการผ่านช่องทาง walk in ที่ต้องเดินทางมาติดต่อที่กรมฯ หรือสาขาลดลงอย่างมาก ขอเรียนว่า กรมฯ ให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวก และการให้บริการด้วยความรวดเร็วเพื่อสนองความต้องการของผู้รับบริการ จึงเดินหน้าพัฒนาระบบฯ และวิธีการใช้งานที่ง่ายมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการมากที่สุด

ล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2567 เป็นต้นมา กรมฯ ได้ขยายเวลาบริการในส่วนของการขอหนังสือรับรอง สามารถรับบริการผ่านทางออนไลน์นอกเวลาราชการได้ในช่วงระหว่าง 06.00 - 21.00 น ทุกวันโดยไม่มีวันหยุดราชการ และผู้สนใจสามารถขอหนังสือรับรองฯ ได้หลายนิติบุคคลพร้อมกันในคำขอเดียว นอกจากนี้ ยังเพิ่มระบบเก็บประวัติคำขอ การติดตามสถานะการจัดส่งคำขอ รวมทั้ง มีการเชื่อมต่อระบบคลังข้อมูลธุรกิจของกรมฯ (DBD DataWarehouse+ )  กับระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ทำให้ผู้ใช้งานสามารถขอรับบริการข้อมูลนิติบุคคลได้จาก DBD DataWarehouse+  โดยไม่ต้องเข้าใช้งานผ่านหลายระบบ

      อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า นอกจากการให้บริการขอเอกสารนิติบุคคลผ่านทางออนไลน์แล้ว กรมฯ ยังให้บริการค้นหาข้อมูลของนิติบุคคลผ่านทางออนไลน์ด้วย โดยกรมฯ มีคลังข้อมูลธุรกิจ (DBD DataWarehouse+ ) ที่ภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในการตรวจค้นข้อมูลนิติบุคคลได้ โดยในปัจจุบันพบว่ามีผู้สนใจเข้าใช้งานระบบ DBD DataWarehouse+ กว่า 2 ล้านครั้งต่อเดือน ผู้ใช้บริการสามารถตรวจค้นความมีตัวตนของนิติบุคคล (บริษัท ห้างหุ้นส่วน บริษัทมหาชน และบริษัทต่างประเทศที่จดทะเบียนกับกรมฯ) งบการเงิน การลงทุนตามสัญชาติ การค้นหาคู่ค้า เป็นต้น โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ นอกจากการให้บริการผ่านทางเว็บไซต์แล้ว ภาคธุรกิจและประชาชนยังสามารถเข้าถึงบริการค้นหาข้อมูลนิติบุคคลผ่านทางโมบายแอปพลิเคชัน (Application) : DBD e-Service ซึ่งเป็นโปรแกรมตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคล/งบการเงิน ซึ่งใช้งานโดยดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน DBD e-Service ผ่านระบบปฏิบัติการ ทั้ง iOS และ Android ฟรี..ไม่มีค่าใช้จ่ายด้วยเช่นกัน

     "นอกจากนี้ กรมฯ ยังให้ความสำคัญกับระบบหลังบ้านที่คอยดูแลและรักษาข้อมูลของภาคธุรกิจในคลังข้อมูลธุรกิจให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของกฎหมายและความปลอดภัย โดยกรมฯ มีระบบบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ และผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 27001 เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับระบบความปลอดภัยของข้อมูล ลดความเสี่ยง และปกป้องข้อมูลจากการถูกโจรกรรม รวมทั้ง มีการเฝ้าระวังภัยคุกคามทางไซเบอร์ ตรวจสอบระบบงานสารสนเทศที่มีความสำคัญตลอดเวลา มีการบริหารจัดการความเสี่ยง การบริหารจัดการการสำรองและกู้คืนข้อมูล และการบริหารจัดการความต่อเนื่องทางธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความสบายใจแก่ภาคธุรกิจด้วย" อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย

        สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สายด่วน 1570 และ www.dbd.go.th

 

#SuperDBD

#กระทรวงพาณิชย์

 

******************************

ที่มา : กรมพัฒนาธุกิจการค้า                                                           ฉบับที่ 66 / วันที่ 8 เมษายน 2567