"นภินทร" ผุด แคมเปญ "Matching D" จับมือ 4 ปั๊ม-4 ห้าง ยักษ์ใหญ่ ให้พื้นที่ SME ขายสินค้าในปั้มและห้างทั่วประเทศ ย้ำ "มีของ ต้อง มีที่ขาย"

"นภินทร" ผุด แคมเปญ "Matching D" จับมือ 4 ปั๊ม-4 ห้าง ยักษ์ใหญ่ ให้พื้นที่ SME ขายสินค้าในปั้มและห้างทั่วประเทศ ย้ำ "มีของ ต้อง มีที่ขาย"

รมช.พณ. เปิดงาน Matching D จับคู่เจรจาที่ดี กับ DBD ช่วยสร้างอาชีพ ลดรายจ่ายให้ธุรกิจและประชาชน โดยได้รับความร่วมมือจาก 4 สถานีบริการน้ำมันขนาดใหญ่ ได้แก่ เชลล์, บางจาก, โออาร์ และพีทีและร้านค้าปลีกสมัยใหม่ พร้อมด้วย SME ที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) และนำเสนอสินค้าเพื่อเข้าสู่ช่องทางจัดจำหน่ายของสถานีบริการน้ำมัน หรือธุรกิจ Modern Trade และ Supermarket ภายในเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วประเทศ นอกจากนี้    ยังมีธุรกิจแฟรนไชส์คุณภาพที่มานำเสนอธุรกิจให้ผู้สนใจที่มีเงินทุนแต่ยังไม่มีไอเดียได้เป็นเจ้าของธุรกิจ รวมถึงยังมี 10 สถาบันการเงินที่มาช่วยสนับสนุนสินเชื่อในอัตราพิเศษให้กับ SME ที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจด้วย เมื่อจบการเจรจาคาดว่า   จะสร้างมูลค่าการค้าเพิ่มถึง 25 ล้านบาท

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน Matching D จับคู่เจรจาที่ดี กับ DBD ในวันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม 2567 ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 กระทรวงพาณิชย์ ว่า "ตนได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจัดงานในครั้งนี้โดยเชิญพันธมิตรจากสถานีบริการน้ำมัน ได้แก่ บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด, บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (โออาร์) บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) และร้านค้าปลีกสมัยใหม่ ได้แก่ บริษัท เอกชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด เข้าร่วม

"กิจกรรม Matching D จับคู่เจรจาที่ดี กับ DBD เป็นความตั้งใจที่จะค้นหาทำเลที่มีศักยภาพในการจำหน่ายสินค้าและบริการให้กับผู้ประกอบการ หรือ SME ได้มีโอกาสเข้าถึงตลาดของผู้บริโภคที่หลากหลาย โดยมีสถานีบริการน้ำมันและธุรกิจภายในเครือข่ายที่กระจายอยู่กว่า 7,000 แห่งและร้านค้าปลีกสมัยใหม่กว่า 19,000 แห่ง พื้นที่รวมทำเลการค้ากว่า 26,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นประตูสำคัญที่เปิดให้ SME พบกับกลุ่มลูกค้าและเข้าถึงแหล่งชุมชนได้โดยตรง"

สำหรับกิจกรรมในวันนี้มีธุรกิจจำนวนกว่า 100 ราย ที่สนใจสมัครเข้าร่วมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) อาทิ ผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการชุมชน ผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ ผู้ประกอบการ Food truck สมาชิกเครือข่าย MOC biz club โดยได้เจรจาหาพื้นที่ในการขยายธุรกิจหรือนำสินค้าของตนเองมานำเสนอต่อธุรกิจ Modern Trade และธุรกิจในเครือ 4 สถานีบริการน้ำมันเพื่อพิจารณาคัดสรรสินค้าไปจำหน่ายในร้านค้าสะดวกซื้อหรือร้านกาแฟที่ตั้งอยู่ในสถานีบริการน้ำมัน เช่น ร้านสะดวกซื้อ Shell SELECT ร้านกาแฟ Shell café ของเชลล์,ร้านกาแฟพันธุ์ไทยของบางจาก, ร้านไทยเด็ด ของ PTT Station และ Max Mart ของ PT เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ จำนวน 11 ราย ที่อยู่ภายใต้การส่งเสริมของกรมฯ เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อนำเสนอธุรกิจให้กับผู้ที่มีเงินทุนแล้วแต่ยังไม่มีไอเดียหรือสนใจอยากจะเริ่มต้นธุรกิจแต่ยังไม่ทราบว่าจะตั้งต้นตรงไหน ธุรกิจแฟรนไชส์จะช่วยให้การเริ่มต้นจากศูนย์ก้าวไปสู่ความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วด้วยแบบแผนที่มีมาตรฐานตามคู่มือการทำงานของแต่ละแฟรนไชส์ที่ผ่านการพัฒนาอย่างเข้มข้นมาแล้ว รวมไปถึงถ้าผู้เข้าร่วมงานสามารถตัดสินใจลงทุนได้ภายในงานยังสามารถเจรจาธุรกิจกับผู้แทนของสถานีบริการน้ำมันที่เข้าร่วมงานเพื่อนำแฟรนไชส์ที่จะลงทุนไปเปิดขายในสถานีบริการน้ำมันได้ด้วย พร้อมกับได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ เช่น ค่าเช่าพื้นที่ในอัตราพิเศษ นอกจากนี้ ภายในงานยังมีสถาบันการเงิน จำนวน 10 แห่ง เข้าร่วมนำเสนอสินเชื่อพิเศษสำหรับ SME และประชาชนที่ยังขาดความพร้อมในเงินลงทุน ซึ่งสินเชื่อส่วนนี้จะช่วยสร้างอาชีพให้กับประชาชนได้มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และดูแลครอบครัวต่อไปได้

"กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเร่งดำเนินกิจกรรมที่เป็นภารกิจเพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาสทางการค้าให้กับภาคธุรกิจและประชาชนตามนโยบายเร่งด่วน โดยสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนและสถาบันการเงินเพื่อผลักดันให้ธุรกิจขนาด MSME ซึ่งเป็นหน่วยเศรษฐกิจขนาดเล็กของประเทศแต่มีความสำคัญต่อการเติบโตของไทยอย่างมาก จึงเป็นที่มาของการจัดงานในครั้งนี้

ซึ่งผมต้องขอขอบคุณพันธมิตรที่ให้ความร่วมมือในการส่งเสริมธุรกิจ SME และให้มีช่องทางการขายสินค้าและช่องทางในการลงทุนทำธุรกิจให้มีอาชีพทำกินอย่างมั่นคง

ทั้งนี้ เมื่อจบการเจรจาจับคู่ธุรกิจในวันนี้แล้วคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางการค้าได้กว่า 25 ล้านบาท มากไปกว่านั้นจะเป็นส่วนสำคัญที่จะเร่งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยให้สามารถเพิ่มสัดส่วนของ GDP MSME ให้เป็น 40% ของ GDP รวมภายในปี 2570 ด้วย" รมช.พณ. กล่าวทิ้งท้าย

#SuperDBD

#กระทรวงพาณิชย์

***************************************

ที่มา : กองธุรกิจภูมิภาคและชุมชน                                                  ฉบับที่ 58 / วันที่ 28 มีนาคม 2567