กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จับมือ กรมบัญชีกลาง ดันเอสเอ็มอีร่วมโครงการ THAI SME-GP สร้างโอกาสผู้ประกอบการไทย..เข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
จับมือ กรมบัญชีกลาง ดันเอสเอ็มอีร่วมโครงการ THAI SME-GP
สร้างโอกาสผู้ประกอบการไทย..เข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
จับมือ กรมบัญชีกลาง สร้างโอกาสให้เอสเอ็มอีไทยเข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ผ่านโครงการ Thai SME GP ด้วยการเสริมสร้างองค์ความรู้..ขั้นตอนและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างให้สามารถปฏิบัติตามระเบียบทางราชการได้อย่างถูกต้อง
และสามารถใช้ประโยชน์จากสิทธิ THAI SME-GP ได้มากขึ้น
นางอรมน
ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ให้เร่งสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการและธุรกิจเอสเอ็มอีไทย
โดยเฉพาะเรื่องการลดรายจ่าย สร้างรายได้ ขยายช่องทางการตลาด และการเพิ่มคู่ค้า/พันธมิตรทางธุรกิจ
เพื่อสร้างความเข้มแข็งและต่อยอดธุรกิจให้มีเครือข่ายที่หลากหลายนั้น
หนึ่งในมาตรการของรัฐที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น คือ
โครงการ THAI SME-GP หรือการให้แต้มต่อเพื่อเพิ่มโอกาสเอสเอ็มอีเป็นคู่ค้ากับภาครัฐผ่านระบบจัดซื้อจัดจ้างของกรมบัญชีกลาง
โดยจะได้แต้มต่อจากผู้ประกอบการทั่วไปสามารถเสนอราคาสูงกว่าผู้ประกอบการทั่วไปได้ไม่เกิน
10% ของราคาต่ำสุดของผู้ประกอบการที่ไม่เป็นเอสเอ็มอี อย่างไรก็ดีมีเงื่อนไขที่เอสเอ็มอีจะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมบัญชีกลาง
และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
ล่าสุด อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นำคณะเข้าหารือกับผู้บริหารของกรมบัญชีกลาง
เรื่องการสร้างความตระหนักรู้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีความเข้าใจในการเข้ามาใช้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว
เนื่องจากพบว่าในปัจจุบัน
มีเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการ THAI SME-GP ประมาณ 150,000 ราย จาก SME
ทั่วประเทศ
ประมาณ 3,200,000 ราย หรือร้อยละ 4.7 ของ SME ทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2567)
มูลค่าตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
(ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2566) ประมาณ 550,000 ล้านบาท โดยจังหวัดที่มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมโครงการมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ สุพรรณบุรี ภูเก็ต เชียงราย ยะลา กำแพงเพชร สตูล กระบี่ เชียงใหม่ ชุมพร ลำพูน ขณะที่
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสัดส่วนการเข้าร่วมโครงการฯ น้อยกว่าภาคอื่นๆ เฉลี่ยประมาณร้อยละ 39 ของเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการ
THAI SME-GP ขณะที่ภาคอื่นๆ
เฉลี่ย ร้อยละ 45 ขึ้นไป
ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกัน เห็นว่า
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าสามารถเสริมองค์ความรู้ในเรื่องการเข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
การพัฒนาศักยภาพและคุณภาพของเอสเอ็มอี ให้ผ่านหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ผ่านการอบรม สัมมนาต่างๆ โดยร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เป็นต้น
ในการประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้เอสเอ็มอีไทย ขณะเดียวกัน กรมบัญชีกลางสามารถจัดผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดซื้อจัดจ้างมาเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมอบรม/สัมมนาหลักสูตรต่างๆ
ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยเฉพาะเรื่องขั้นตอนและเอกสารที่ต้องใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามระเบียบทางราชการได้อย่างถูกต้อง
เพื่อกระตุ้นและผลักดันให้เอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบและใช้ประโยชน์จาก THAI SME-GP ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถศึกษาขั้นตอนและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ในเบื้องต้นผ่านทาง www.dbd.go.th >> ข่าวสารอัปเดต >>
จัดซื้อจัดจ้าง >> การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของ SME
(THAI SME-GP) โดยจะมีคลิปวิดีโอสั้นให้ได้เรียนรู้และศึกษากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการเป็นคู่ค้ากับหน่วยงานภาครัฐด้วย
การเข้าร่วม THAI SME-GP ของกรมบัญชีกลาง จะช่วยขยายโอกาสทางการตลาดของเอสเอ็มอีไทยอีกช่องทางหนึ่ง
อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย
#SuperDBD
#กระทรวงพาณิชย์
********************************
ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ฉบับที่ 49 / วันที่ 16
มีนาคม 2567