กรมพัฒนาธุรกิจฯ เร่งสร้างมาตรฐานธุรกิจแฟรนไชส์สู่ความสำเร็จ ดึงผู้คร่ำหวอดวงการแฟรนไชส์แนะ 'ทางรอด ทางรุ่ง ธุรกิจแฟรนไชส์ ปี 2024'

กรมพัฒนาธุรกิจฯ เร่งสร้างมาตรฐานธุรกิจแฟรนไชส์สู่ความสำเร็จ

ดึงผู้คร่ำหวอดวงการแฟรนไชส์แนะ 'ทางรอด ทางรุ่ง ธุรกิจแฟรนไชส์ ปี 2024'

      กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งสร้างมาตรฐานธุรกิจแฟรนไชส์สู่ความสำเร็จ ดึงผู้คร่ำหวอดวงการแฟรนไชส์แนะ 'ทางรอด ทางรุ่ง ธุรกิจแฟรนไชส์ ปี 2024' เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัวและฟื้นตัวหลังวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ตลอดจนประยุกต์วิธีการในการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องและตอบโจทย์ทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "วันนี้ได้มอบหมายให้ นายสถาพร ร่วมนาพะยา รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นประธานเปิดกิจกรรมยกระดับธุรกิจสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise Standard) ซึ่งกรมฯ ได้ดำเนินการพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์เพื่อเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์มากว่า 10 ปี และได้มีการพัฒนาและทบทวนเกณฑ์มาตรฐานฯ ทุกๆ 2 ปี เพื่อให้เกณฑ์มาตรฐานการบริหารจัดการและกระบวนการตรวจประเมินมีมาตรฐานเทียบเคียงมาตรฐานสากลและเป็นปัจจุบัน

มาตรฐานคุณภาพแฟรนไชส์ เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจแฟรนไชส์แต่ละประเภทได้รับการยอมรับ และมีความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะผู้ซื้อแฟรนไชส์สามารถตัดสินใจเลือกซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ไปประกอบเป็นอาชีพได้ง่ายและมั่นใจมากขึ้น การสร้างมาตรฐานสินค้าและบริการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการทำธุรกิจของผู้ให้บริการ โดยเฉพาะระบบแฟรนไชส์ ซึ่งสิ่งที่จะช่วยให้เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์สามารถควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าและบริการได้ก็คือ คู่มือการทำงาน รวมถึงการมีทีมงานบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจพร้อมเดินตามกลยุทธ์แฟรนไชส์ก็จะช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น

เพื่อยกระดับธุรกิจของคนไทย โดยใช้ระบบแฟรนไชส์เป็นกลยุทธ์ในการขยายธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ กรมฯ จึงจัดเสวนาเรื่อง 'ทางรอด ทางรุ่ง ธุรกิจแฟรนไชส์ในปี 2024' โดยเชิญผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ชั้นนำระดับประเทศ 4 ท่าน มาร่วมเผย key Success ถ่ายทอดบทเรียนและกลยุทธ์ พร้อมแนะนำ ทางรอด ทางรุ่งของธุรกิจช่วงหลังวิกฤตการณ์ว่ามีการดำเนินงานอย่างไรให้ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ที่เข้าร่วมงานได้รับฟัง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจของตน อาทิ การปรับตัวขององค์กร การฟื้นตัว การพลิกโฉมของธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยในปี 2567 การดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ที่สอดคล้องกับเทรนด์โลก และการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลมาใช้

นอกจากนี้ ยังมีการบรรยาย 'สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์' 7 หมวดหลัก ประกอบด้วย 1) การนำองค์กร 2) กลยุทธ์ 3) ลูกค้าและแฟรนไชส์ซี 4) การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ 5) บุคลากร 6) การปฏิบัติการ และ 7) ผลลัพธ์ จากผู้เชี่ยวชาญธุรกิจแฟรนไชส์ เพื่อให้ผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ธุรกิจแฟรนไชส์ได้ทราบถึงเกณฑ์มาตรฐานฯ ที่ต้องนำมาใช้ปฏิบัติ

กรมฯ มีเป้าประสงค์ต้องการเพิ่มศักยภาพในการลงทุน และนำแนวทางระบบแฟรนไชส์ไปใช้ในการขยายธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการดำเนินงาน การรักษาฐานลูกค้าและสร้างลูกค้าใหม่ การพัฒนาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับความต้องการและความคาดหวังของลูกค้า เพื่อขยายโอกาสทางการตลาดธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ได้อย่างกว้างขวาง ทำให้มีร้านสาขาและแฟรนไชส์ซีเพิ่มขึ้น

อธิบดี กล่าวทิ้งท้ายว่า คู่มือการทำงานของธุรกิจแฟรนไชส์เปรียบเสมือนแผนที่บอกเส้นทางการทำงาน ระบุจุดเริ่มต้น รายละเอียด ไปจนถึงจุดสิ้นสุดของกระบวนการทำงานใดงานหนึ่งในองค์กร สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์แล้ว คู่มือการทำงานยังเปรียบได้กับสินค้าของเจ้าของธุรกิจ เพราะเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ ประสบการณ์ หรือเทคนิคของแฟรนไชส์นั้นๆ เรียกได้ว่าเป็นคัมภีร์หรือเป็นทรัพย์สินของธุรกิจเลยก็ว่าได้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สายด่วน 1570 โทรศัพท์หมายเลข 0 2547 5953 e-Mail : franchisedbd@gmail.com

#SuperDBD

#กระทรวงพาณิชย์

************************************

 

ที่มา : กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ                                                                       ฉบับที่ 42 / วันที่ 11 มีนาคม 2567