'3 กลุ่มธุรกิจ' ผู้เล่นสำคัญในตลาดรถ EV เติบโตพุ่งรองรับโลกอนาคต จากปัจจัยผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่ม หนีน้ำมันแพง ลดฝุ่นพิษ นโยบายรัฐหนุน
'3 กลุ่มธุรกิจ' ผู้เล่นสำคัญในตลาดรถ EV เติบโตพุ่งรองรับโลกอนาคต
จากปัจจัยผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่ม
หนีน้ำมันแพง ลดฝุ่นพิษ นโยบายรัฐหนุน
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผย 'ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า' (EV Industry) เด้งโตรับตลาดผู้บริโภคขยายก้าวกระโดด 3 กลุ่มธุรกิจรับอานิสงส์เต็มๆ ได้แก่ 1)
กลุ่มผู้ผลิตระบบควบคุมไฟฟ้า 2) กลุ่มผู้ผลิตระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ 3) กลุ่มธุรกิจสถานีชาร์จ ปัจจัยที่สนับสนุนให้เติบโตมาจากการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์
EV มากขึ้น เพื่อเปลี่ยนจากการใช้เครื่องยนต์สันดาปเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้า
เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และช่วยลดฝุ่นพิษ
รวมถึงรัฐบาลออกนโยบายส่งเสริมด้านต่างๆ กระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจ ทั้งนี้
จากบทวิเคราะห์พบว่า สัญชาติของผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลไทยมีญี่ปุ่น และจีนที่มีการลงทุนในไทยเป็นส่วนใหญ่
สะท้อนศักยภาพที่ดีของประเทศไทยในการลงทุนด้านรถยนต์ไฟฟ้า และสอดรับกับวิสัยทัศน์ลำดับที่
6 ของรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต ทั้งนี้
มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจรถยนต์ EV ตามพ.ร.บ.ต่างด้าว
4 ปีย้อนหลัง จำนวน 14 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 22,134.80 ล้านบาท
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้วิเคราะห์ธุรกิจที่น่าสนใจประจำเดือนกุมภาพันธ์
2567 พบว่า ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (EV Industry) เป็นกลุ่มธุรกิจที่น่าจับตามอง และมีอัตราการเติบโตสูงทั้งตลาดรถยนต์ในประเทศไทยและตลาดโลก
เนื่องจากมีปัจจัยที่เข้ามาสนับสนุนหลายด้าน
อาทิ ปัจจัยด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าและไฮบริดมากขึ้น จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก พบว่า ช่วงปี 2563-2566 มีอัตราการจดทะเบียนรถประเภทนี้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง
116.69% สอดรับกับปัจจัยด้านนโยบายสนับสนุนของรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปี
2573 ต้องมีรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อย่างน้อย
30% ของรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ ประกอบกับการส่งเสริมแรงจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นด้วยการลดภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิตลง ปัจจัยด้านสถานการณ์น้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
และปัจจัยด้านฝุ่นพิษที่ทวีความรุนแรงขึ้น การใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นส่วนช่วยแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว
อธิบดี กล่าวต่อว่า "จากการวิเคราะห์เชิงลึกพบว่า กลุ่มตัวอย่างธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นนิติบุคคลไทยที่น่าสนใจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1)
กลุ่มผู้ผลิตระบบควบคุมไฟฟ้า (Control Charging Plug and Socket) จดทะเบียน นิติบุคคลจำนวน 31 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 14,537.19
ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาด L จำนวน 22 ราย คิดเป็น 70.97%
มูลค่าทุนจดทะเบียน 14,480.19 ล้านบาท รองลงมาธุรกิจขนาด S จำนวน 5 ราย คิดเป็น 16.13% มูลค่าทุนจดทะเบียน 16 ล้านบาท และธุรกิจขนาด M จำนวน 4 ราย คิดเป็น 12.90%
มูลค่าทุนจดทะเบียน 41 ล้านบาท สัญชาติของผู้ถือหุ้นประกอบไปด้วย
ญี่ปุ่น มูลค่าการลงทุน 7,870.19 ล้านบาท รองลงมาคือไทย มูลค่าการลงทุน 3,137
ล้านบาท และอินเดีย มูลค่าการลงทุน 400 ล้านบาท 2) กลุ่มผู้ผลิตระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic
Devices) จดทะเบียนนิติบุคคลจำนวน 122 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 76,674.67 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาด L จำนวน
85 ราย คิดเป็น 69.67% มูลค่าทุนจดทะเบียน 71,967.55 ล้านบาท รองลงมาธุรกิจขนาด S
จำนวน 21 ราย คิดเป็น 17.22% มูลค่าทุนจดทะเบียน 3,578.22 ล้านบาท และธุรกิจขนาด M จำนวน 16 ราย คิดเป็น 13.11%
มูลค่าทุนจดทะเบียน 1,128.90 ล้านบาท สัญชาติของผู้ถือหุ้นประกอบไปด้วย ญี่ปุ่น มูลค่าการลงทุน 53,512.72
ล้านบาท รองลงมาคือไต้หวัน มูลค่าการลงทุน 7,108.25 ล้านบาท และไทย มูลค่าการลงทุน
4,864.84 ล้านบาท"
"และ 3) กลุ่มธุรกิจสถานีชาร์จ (EV Charging Station) จดทะเบียนนิติบุคคลจำนวน 9 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 31,758.46 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาด M จำนวน 4 ราย คิดเป็น 44.44% มูลค่าทุนจดทะเบียน 31,328.01 ล้านบาท รองลงมาธุรกิจขนาด S จำนวน 4 ราย คิดเป็น 44.44% มูลค่าทุนจดทะเบียน 53.88 ล้านบาท และธุรกิจขนาด L จำนวน 1 ราย คิดเป็น 11.12% มูลค่าทุนจดทะเบียน 376.57 ล้านบาท สัญชาติของผู้ถือหุ้นเป็นสัญชาติไทยทั้งหมด"
"ไทยมีความพร้อมที่จะดึงดูดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อมุ่งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต
(Future
Mobility Hub) ตามวิสัยทัศน์ IGNITE Thailand Vision ลำดับที่ 6 ของรัฐบาลที่ประกาศเมื่อวันที่ 22 ก.พ.67 ณ ทําเนียบรัฐบาลที่ผ่านมา
จากข้อมูลจะเห็นว่านักลงทุนสัญชาติญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำด้านการผลิตรถยนต์ระดับโลกได้สนใจเข้ามาลงทุนในไทย
ประกอบกับมีนักลงทุนสัญชาติจีนซึ่งเป็นผู้เล่นใหม่ในอุตสาหกรรมนี้ก็มีแผนขยายฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเช่นกัน
ซึ่งจะส่งผลดีต่อการสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้ประเทศไทย
เกิดการลงทุนและจ้างงานคนไทย
ที่สำคัญเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีการผลิตให้แรงงานไทยเกิดทักษะการทำงานที่สูงขึ้น
แม้ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (EV Industry) จะดูมีอนาคตที่สดใส
แต่ก็ยังมีความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้าเช่นกัน ทั้งการแข่งขันที่จะสูงขึ้น
การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว และการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า
อย่างสถานีชาร์จที่จะต้องครอบคลุมการใช้งานทั่วประเทศ
การบริการหลังการขายที่ดี
การซ่อมแซมและอุปกรณ์อะไหล่ที่ต้องรองรับให้เพียงพอกับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ยังมีโอกาสในการลงทุนอีกมากและผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวให้ทันต่อความท้าทายดังกล่าวด้วย"
"สำหรับการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Industry) ภายใต้ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
พ.ศ. 2542 ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563-2566) มีจำนวน 14 ราย
มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 22,134.80 ล้านบาท โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์ จีน
ฮ่องกง ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นการลงทุนในธุรกิจนายหน้า/ค้าปลีก/ค้าส่ง
(รถยนต์ไฟฟ้า/รถจักยานยนต์ไฟฟ้า/EV Battery) จำนวน 4 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 310.80 ล้านบาท ธุรกิจ
EV Charging Station จำนวน 3 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 8,893.34 ล้านบาท ธุรกิจบริการรับจ้างผลิต จำนวน 2 ราย
มูลค่าทุนจดทะเบียน 371.68 ล้านบาท และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV
Industry) จำนวน 5 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 12,558.99 ล้านบาท เช่น
บริการซ่อมแซมและบำรุงรักษารถยนต์ไฟฟ้า บริการให้เช่าเครื่องอัดประจุไฟฟ้า
(EV Charger) บริการตรวจสอบแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
เป็นต้น" อธิบดี กล่าวทิ้งท้าย
#SuperDBD
#กระทรวงพาณิชย์
***************************************
ที่มา :
กองข้อมูลธุรกิจ ฉบับที่
38/ วันที่ 6 มีนาคม 2567