ธุรกิจไทยเดินหน้าต่อเนื่อง... 2 เดือนแรกของปี 2567 ธุรกิจจัดตั้งใหม่ทุนจดทะเบียนทะลุ 4.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าและที่เกี่ยวเนื่อง เติบโตแบบก้าวกระโดด

ธุรกิจไทยเดินหน้าต่อเนื่อง... 2 เดือนแรกของปี 2567

ธุรกิจจัดตั้งใหม่ทุนจดทะเบียนทะลุ 4.5 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าและที่เกี่ยวเนื่อง เติบโตแบบก้าวกระโดด

นักลงทุนทั้งไทยและเทศโดดเข้าแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดกันคึกคัก

          2 เดือนแรกปี 2567 นักลงทุนไทยแห่จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจทุนจดทะเบียนรวมทะลุ 4.5 หมื่นล้านบาท 3 ธุรกิจสุดฮิตจัดตั้งสูงสุด: ก่อสร้างอาคารทั่วไป อสังหาริมทรัพย์ และภัตตาคาร/ร้านอาหาร คิดเป็นเกือบ 20% ของการจัดตั้งธุรกิจทั้งหมด ขณะธุรกิจอี-คอมเมิร์ซไม่น้อยหน้าจัดตั้งธุรกิจใหม่ 479 ราย ผลจากมาตรการเข้มของกรมสรรพากร ส่วนธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าและที่เกี่ยวเนื่องเป็นธุรกิจดาวเด่นที่เติบโตแบบก้าวกระโดดรับ Mega Trend ของรัฐบาล นักลงทุนทั้งไทย/เทศโดดเข้าแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดกันอย่างคึกคัก

          นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "เปิดศักราชใหม่ 2567 ธุรกิจไทยมีการเดินหน้าจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจกันอย่างต่อเนื่อง โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าประเมินว่า ไตรมาสแรกของปี 2567 จะมียอดการจดทะเบียนจัดตั้งอยู่ที่ 23,000 - 27,000 ราย และคาดว่าปี 2567 จะเป็นปีที่นักธุรกิจทั้งชาวไทยและต่างชาติให้ความสนใจเดินทางเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากปัจจัยสนับสนุนหลากหลายสาเหตุ เช่น การบริโภคของภาคเอกชนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ภาคการส่งออกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น โครงการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจภาครัฐขนาดใหญ่ (Mega Projects) กลับมาเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ล่าช้าและหยุดชะงักในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึง นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจตามโมเดลเศรษฐกิจใหม่ Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG Model ที่ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีการเติบโตตามไปด้วย

          เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2567 มีการจัดตั้งธุรกิจใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 17,270 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 45,794.41 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้น 267 ราย หรือเพิ่มขึ้น 1.57% ทุนจดทะเบียนรวมเพิ่มขึ้น 5,807.51 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 14.52% (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 จดทะเบียนจัดตั้ง 17,003 ราย ทุน 39,986.90 ล้านบาท) โดยเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2567 ธุรกิจที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 1,378 ราย (7.98%) ทุนจดทะเบียน 3,020.09 ล้านบาท (6.59%) 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 1,311 ราย (7.58%) ทุนจดทะเบียน 5,275.20 ล้านบาท (11.51%) และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 743 ราย (4.30%) ทุนจดทะเบียน 1,374.09 ล้านบาท (3.00%

          ธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการ เดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2567 จำนวน 1,898 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 6,361.29 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 จดทะเบียนเลิกประกอบธุรกิจลดลง 268 ราย หรือลดลง 12.37% ทุนจดทะเบียนรวมลดลง 846.37 ล้านบาท หรือ ลดลง 11.74% (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 จดทะเบียนเลิกประกอบกิจการ 2,166 ราย ทุน 7,207.66 ล้านบาท) โดยเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2567 ธุรกิจที่มีการเลิกประกอบธุรกิจสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 192 ราย (10.12%) ทุนจดทะเบียน 446.51 ล้านบาท (7.02%) 2) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 100 ราย (5.27%) ทุนจดทะเบียน 409.83 ล้านบาท (6.44%) และ 3) ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 71 ราย (3.74%) ทุนจดทะเบียน 185.90 ล้านบาท (2.92%

          ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567) มีธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 905,544 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 21.86 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 1) บริษัทจำกัด 703,449 ราย (77.68%) 2) ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 200,644 ราย (22.16%) และ 3) บริษัทมหาชนจำกัด 1,451 ราย (0.16%)

          ขณะที่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 109 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 37 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) 72 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 26,542 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 564 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่

          1) ญี่ปุ่น 31 ราย (28%) เงินลงทุน 15,930 ล้านบาท (60%) 2) สิงคโปร์ 18 ราย (17%) เงินลงทุน 1,760 ล้านบาท (7%) 3) สหรัฐอเมริกา 15 ราย (14%) เงินลงทุน 959 ล้านบาท (4%) 4) จีน 11 ราย (10%) เงินลงทุน 892 ล้านบาท (3%) และ 5) ฮ่องกง 7 ราย (6%) เงินลงทุน 621ล้านบาท (2%)

            อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า สำหรับธุรกิจที่น่าสนใจและมีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือ ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ หรือ ธุรกิจขายปลีกทางอินเทอร์เน็ต โดยระหว่างเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2567 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ จำนวน 479 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 555.06 ล้านบาท คิดเป็น 2.77% และ 1.21% เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนและมูลค่าการจดทะเบียนจัดตั้ง 2 เดือน (มกราคม - กุมภาพันธ์) ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 พบว่า จดทะเบียนธุรกิจเพิ่มขึ้น 116 ราย หรือเพิ่มขึ้น 31.96% ทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 137.43 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 32.91% (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ 363 ราย ทุนจดทะเบียน 417.63 ล้านบาท) สาเหตุมาจากประกาศของกรมสรรพากรที่กำหนดให้อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีบัญชีพิเศษที่ต้องจัดทำและนำส่งข้อมูลผู้ประกอบการให้แก่กรมสรรพากร และจากมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะมีธุรกิจอี-คอมเมิร์ซเข้ามาจดทะเบียนจดตั้งธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น เป็นการส่งเสริมให้ธุรกิจของไทยเข้าสู่ระบบมากยิ่งขึ้น

          นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเป็นธุรกิจดาวเด่นที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดรับ Mega Trend ของรัฐบาล โดยนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติต่างเข้าสู่ธุรกิจเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดที่ยังมีพื้นที่อีกมาก โดยธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าและที่เกี่ยวเนื่องประกอบด้วย 1) กลุ่มผู้ผลิตระบบควบคุมไฟฟ้า 2) กลุ่มผู้ผลิตระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ 3) กลุ่มธุรกิจสถานีชาร์จ

          1) กลุ่มผู้ผลิตระบบควบคุมไฟฟ้า (Control Charging Plug and Socket) ปัจจุบันมีนิติบุคคลจำนวน 31 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 14,537.19 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (L) 22 ราย คิดเป็น 70.97% มูลค่าทุนจดทะเบียน 14,480.19 ล้านบาท ผลประกอบการรวม 3 ปีย้อนหลัง ปี 2563 รายได้รวม 272,016.67 ล้านบาท กำไรรวม 17,927.72 ล้านบาท ปี 2564 รายได้รวม 242,555.67 ล้านบาท (ลดลงจากปี 2563 จำนวน 29,461 ล้านบาท หรือ 10.83%) กำไรรวม 18,237.56 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 309.84 ล้านบาท หรือ 1.73%) ปี 2565 รายได้รวม 282,440.52 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 39,884.85 ล้านบาท หรือ 16.45%) กำไรรวม 22,654.61 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 4,417.05 ล้านบาท หรือ 24.22%

2) กลุ่มผู้ผลิตระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Devices) ปัจจุบันมีนิติบุคคลจำนวน 122 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 76,674.67 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (L) 85 ราย คิดเป็น 69.67% มูลค่าทุนจดทะเบียน 71,967.55 ล้านบาท ผลประกอบการรวม 3 ปีย้อนหลัง ปี 2563 รายได้รวม 503,394.36 ล้านบาท กำไรรวม 23,776.13 ล้านบาท ปี 2564 รายได้รวม 534,036.21 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 30,641.85 ล้านบาท หรือ 6.09%) กำไรรวม 23,482.56 ล้านบาท (ลดลงจากปี 2563 จำนวน 293.57 ล้านบาท หรือ 1.24%) ปี 2565 รายได้รวม 592,925.42 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 58,889.21 ล้านบาท หรือ 11.03%) กำไรรวม 34,728.24 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 11,245.68 ล้านบาท หรือ 47.89%)

3) กลุ่มธุรกิจสถานีชาร์จ (EV Charging Station) ) ปัจจุบันมีนิติบุคคลจำนวน 9 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 31,758.46 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลาง (M) 4 ราย คิดเป็น 44.44% มูลค่าทุนจดทะเบียน 31,328.01 ล้านบาท ผลประกอบการรวม 3 ปีย้อนหลัง ปี 2563 รายได้รวม 3,191.55 ล้านบาท กำไรรวม 375.78 ล้านบาท ปี 2564 รายได้รวม 3,084.07 ล้านบาท (ลดลงจากปี 2563 จำนวน 107.48 ล้านบาท หรือ 3.37%) กำไรรวม 194.64 ล้านบาท (ลดลงจากปี 2563 จำนวน 181.14 ล้านบาท หรือ 48.21%) ปี 2565 รายได้รวม 3,029.38 ล้านบาท (ลดลงจากปี 2564 จำนวน 54.69 ล้านบาท หรือ 1.78%) ขาดทุนรวม 52.42 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 247.06 ล้านบาท หรือ 126.94%)

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจผู้ผลิตระบบควบคุมไฟฟ้าและกลุ่มผู้ผลิตระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของนิติบุคคลส่วนใหญ่อยู่ที่ กรุงเทพมหานคร สัญชาติที่มีการลงทุนมากที่สุด คือ ญี่ปุ่น ซึ่งจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ธุรกิจขนาดใหญ่ในกลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีผลประกอบการทั้งรายได้และกำไรที่ฟื้นตัวได้เร็วกว่าธุรกิจขนาดอื่น แต่เมื่อพิจารณาถึงกลุ่มผู้ผลิตระบบควบคุมไฟฟ้าถึงแม้ธุรกิจขนาดเล็กจะมีจำนวนน้อยกว่าแต่สามารถสร้างรายได้และผลกำไรใกล้เคียงกับธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสถานีชาร์จอาจจะยังสร้างรายได้และผลกำไรที่ไม่ดีมากนัก แต่การลงทุนในธุรกิจดังกล่าว เป็นการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีระยะเวลาคืนทุนค่อนข้างนาน จึงต้องจับตามองประสิทธิภาพในการทำกำไรของธุรกิจนี้ต่อไปในอนาคต

สำหรับการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Industry) ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ระยะ 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2563-2566) มีจำนวน 14 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 22,134.80 ล้านบาท เป็นนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ลงทุนในธุรกิจนายหน้า/ค้าปลีก/ค้าส่ง (รถยนต์ไฟฟ้า/รถจักยานยนต์ไฟฟ้า/EV Battery) 4 ราย ทุน 310.80 ล้านบาท ธุรกิจ EV Charging Station 3 ราย ทุน 8,893.34 ล้านบาท ธุรกิจบริการรับจ้างผลิต 2 ราย ทุน 371.68 ล้านบาท และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Industry) 5 ราย ทุน 12,558.99 ล้านบาท

กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถ EV มีแนวโน้มการลงทุนจากสัญชาติจีนในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นแบรนด์จากประเทศจีน ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตมากและส่งออกมากที่สุดของโลก โดยมีการนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ประมาณ 1% ของสัดส่วนการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศจีน ขณะเดียวกันประเทศจีนก็กำลังเข้ามาขยายฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอีกด้วย นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทยที่จะทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้าน และองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีนวัตกรรมการผลิตรถ EV

อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้ายว่า อุตสาหกรรม EV มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสาเหตุด้านความผันผวนของราคาน้ำมันหรือปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ผู้บริโภคยุคใหม่ใส่ใจมากยิ่งขึ้น ถึงแม้อุตสาหกรรมจะเผชิญความท้าทายด้านการทำกำไร เนื่องจากราคารถ EV มีแนวโน้มถูกลงจากต้นทุนการผลิตที่ลดลง แต่ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการพัฒนารูปแบบรถ EV ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด ทำให้โอกาสของรถ EV และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมีโอกาสเติบโตอย่างก้าวกระโดด และทำกำไรอย่างต่อเนื่องในอนาคต"

#SuperDBD

#กระทรวงพาณิชย์

**************************************

ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า                                                      ฉบับที่ 37 / วันที่ 5 มีนาคม 2567