กรมพัฒนาธุรกิจฯ MOU เจาะกลุ่มพัฒนาสตรี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างธุรกิจให้คึกคัก สร้างรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชน ประเดิมปัตตานีที่แรก

กรมพัฒนาธุรกิจฯ MOU เจาะกลุ่มพัฒนาสตรี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

สร้างธุรกิจให้คึกคัก สร้างรายได้ที่มั่นคงให้ชุมชน ประเดิมปัตตานีที่แรก

         กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เล็งสร้างกลุ่มสตรี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เดินเครื่องเศรษฐกิจในท้องถิ่นให้เติบโต จัดพิธีลงนาม MOU ร่วมกับ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จังหวัดปัตตานี และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) วาง 3 แนวทางสร้างธุรกิจ คือ ปั้นธุรกิจให้แข็งแรง เพิ่มช่องทางขายของ และโยงใยเครือข่ายธุรกิจ พร้อมกิจกรรมในงานอีกเพียบ ทั้งการอบรมสร้างความรู้การทำธุรกิจแบบมืออาชีพ การถ่ายทอดกระบวนการผลิตของดีในปัตตานี และการเจรจาจับคู่ธุรกิจร่วมกับนักธุรกิจรายใหญ่ของไทย มั่นใจหลังจบกิจกรรมสร้างยอดขายให้กลุ่มสตรีฯ ได้ทันที และพร้อมต่อยอดไปสู่โครงการพัฒนาธุรกิจต่างๆ ของกรมฯ ในอนาคตได้ต่อไป

          นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ในวันนี้ (1 มีนาคม 2567) กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) และกิจกรรมการส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มสตรี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ โรงแรม ซี.เอส. จังหวัดปัตตานี เป็นความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จังหวัดปัตตานี โดยนางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยพ.ต.ท. วรรณพงษ์ คชรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาทักษะการทำธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มสตรี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมาก โดยในพื้นที่มีการรวมกลุ่ม ซึ่งถือเป็นเครือข่ายทางธุรกิจกันอยู่แล้วทำให้ง่ายต่อการเข้าถึงและพัฒนา

          อธิบดี กล่าวต่อว่า แนวทางพัฒนากลุ่มสตรีฯ ประกอบไปด้วย 3 ด้านคือ 1) ปั้นธุรกิจให้แข็งแรง สร้างความรู้ด้านการตลาด ตั้งแต่เริ่มต้นวิธีก่อร่างสร้างธุรกิจของ SMEs, ทำอย่างไรให้สินค้า/บริการเข้าไปสู่ตลาดออนไลน์ได้ ซึ่งเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าที่หลากหลายและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ในวงกว้างไม่รู้จบ รวมถึงการบริหารระบบหลังบ้านให้เป็นมืออาชีพคือสิ่งที่ SMEs ยังมีข้อจำกัด กรมฯ จะเชิญผู้เชี่ยวชาญไปให้ความรู้ด้านบริหารและการจัดการบัญชีให้มีมาตรฐานด้วย ประกอบกับสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วยการพัฒนารูปแบบ Packaging ให้ดึงดูดน่าสนใจ สื่อสารถึงสินค้าได้อย่างชัดเจน 2) เพิ่มช่องทางขายของ สร้างโอกาสทางการค้าดึง 'ของดี' ในท้องถิ่นของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีอยู่จำนวนมากให้เป็น 'ของเด่น' ในประเทศ พร้อมด้วยการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดให้เหมาะสมกับธุรกิจแต่ละประเภท และ 3) โยงใยเครือข่ายธุรกิจ เมื่อธุรกิจสามารถดำเนินไปอย่างมืออาชีพและมีช่องทางการขายที่หลากหลายแล้ว การทำธุรกิจในยุคนี้จะต้องมีการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงกับผู้ผลิตวัตถุดิบ ร้านค้าส่งที่จะช่วยกระจายสินค้า หรือแม้กระทั่งธุรกิจในประเภทเดียวกันเองก็สามารถรวมตัวกันเพื่อเกื้อกูลกันทางธุรกิจได้นั่นเอง

          นอกจากพิธีลงนาม MOU ในข้างต้นแล้ว ยังมีกิจกรรมให้ความรู้แก่กลุ่มสตรีฯ และเจ้าของธุรกิจที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ผ่านวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด โดยเป็นการอบรมในเรื่องการทำตลาดออนไลน์ และสอนการจัดแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ (Display) ให้ดึงดูดลูกค้า รวมถึงกิจกรรมแสดงและจำหน่ายสินค้าจากกลุ่มสตรี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 30 ราย อาทิ เช่น ผ้าบาติก เครื่องจักสาน ขนมโบราณ โรตีกรอบ ชุดข้าวยำพร้อมทาน น้ำบูดู ลูกหยีแปรรูป ข้าวเกรียบปลา และเกลือสมุนไพร เป็นต้น กิจกรรมสาธิตวิธีการผลิตสินค้าเด่นของปัตตานีอย่างกลุ่มสตรีรายาบาติก และสมุนไพรไทย จากศยาสมุนไพร ทั้งนี้ ยังมีกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ร่วมกับนักธุรกิจ (Trader) รายใหญ่ของไทย อาทิ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด บริษัท คิง เพาเวอร์ แท็กซ์ฟรี จำกัด บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด และสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย ภายหลังจบกิจกรรมคาดว่าจะเกิดการซื้อขายขึ้น พร้อมสร้างออเดอร์ให้กับกลุ่มสตรีฯ ได้ทันที

   อีกทั้ง ในอนาคตกรมฯ จะขยายความสำเร็จนี้ไปสู่การสร้าง Digital Village by DBD ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นโครงการภายใต้การส่งเสริมของกรมฯ ที่สร้างชุมชนออนไลน์จากการดึงศักยภาพของผู้ผลิตในท้องถิ่น ประกอบกับเผยแพร่อัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านสินค้าที่ผลิตและจำหน่ายบนตลาดออนไลน์

        การส่งเสริมธุรกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ถือเป็นภารกิจที่กรมฯ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ได้ปรับลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนธุรกิจทุกประเภทลง 50% ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2569 ซึ่งมี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้รวมอยู่ด้วย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น และดึงดูดนักลงทุนให้เข้าสู่พื้นที่มากขึ้น โดยการ MOU ครั้งนี้จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจในท้องถิ่นสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเอง ดูแลครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ที่สำคัญจะเป็นกุญแจไขอนาคตทางเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับการค้าผ่านชายแดนนำสินค้าไทยส่งออกสู่ต่างประเทศตามมา" อธิบดี กล่าวทิ้งท้าย

#SuperDBD

#กระทรวงพาณิชย์

***************************************

ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า                                                       ฉบับที่ 33 / วันที่ 1 มีนาคม 2567