สัมมาอาชีวบัญชี มหาจักรีสิรินธร ครั้งที่ 9

สัมมาอาชีวบัญชี มหาจักรีสิรินธร ครั้งที่ 9

     กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดการแข่งขันตอบปัญหาทางบัญชี "สัมมาอาชีวบัญชี มหาจักรีสิรินธร" ครั้งที่ 9 ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีหม่อมหลวงภู่ทอง ทองใหญ่ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมกันมอบรางวัลให้ผู้ชนะการแข่งขัน ณ ห้องประชุมปรีดี พนมยงค์ อาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เมื่อวันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567

           นางอรมน  ทรัพย์ทวีธรรม  อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ หม่อมหลวงภู่ทอง ทองใหญ่ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นผู้แทนเข้าร่วมมอบรางวัลและกล่าวแสดงความยินดี ในการแข่งขันตอบปัญหาทางบัญชี "สัมมาอาชีวบัญชี มหาจักรีสิรินธร" ครั้งที่ 9 ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดการแข่งขันตอบปัญหาทางบัญชี "สัมมาอาชีวบัญชี มหาจักรีสิรินธร" มาอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 9 แล้ว ถือเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาสาขาบัญชีได้พัฒนาทักษะทางวิชาการ เกิดความสามัคคี และทำงานร่วมกันเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน สถาบันการศึกษา ก็สามารถนำผลจากการแข่งขันไปใช้ในการพัฒนานักศึกษาเพื่อให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่มีศักยภาพ พร้อมก้าวเข้าสู่วิชาชีพบัญชีอย่างมีคุณภาพต่อไปในอนาคต

             "กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลนิติบุคคลให้ปฏิบัติตามกฎหมาย พร้อมกับส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีธรรมาภิบาล และอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญ คือ การกำกับดูแล "ผู้ทำบัญชี" ซึ่งมีหน้าที่จัดทำบัญชีให้แก่ภาคธุรกิจ สำหรับผู้ที่จะเป็นผู้ทำบัญชีได้นั้นจะต้องสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี หรือ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทางการบัญชี โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ทำบัญชีที่แจ้งต่อ   กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากว่า 70,000 ราย รองรับกับการจัดทำบัญชีให้แก่นิติบุคคลประมาณ 900,000 รายทั่วประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกปี เพราะทุกธุรกิจจำเป็นต้องมีผู้ทำบัญชีอย่างน้อย 1 คน  ผู้ทำบัญชีจึงถือว่ามีความใกล้ชิดและเป็นเพื่อนคู่คิดของภาคธุรกิจ รวมทั้ง  จะเป็นผู้ส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น วิชาชีพบัญชีจึงมีความสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก มีส่วนสร้างความน่าเชื่อถือให้งบการเงินสะท้อนภาพธุรกิจที่เป็นจริง และสามารถนำงบการเงินไปใช้ปรับกลยุทธ์ธุรกิจได้อย่างแม่นยำ ช่วยเปิดทางให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้"   

            อธิบดี กล่าวต่อว่า "ขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะการแข่งขันทุกประเภทรางวัล และขอชื่นชมนักศึกษาทุกคนที่เข้าร่วมการแข่งขันตอบปัญหาทางบัญชีในครั้งนี้ ซึ่งทุกคนเป็นที่ยอมรับของคณาจารย์และเพื่อนๆ จึงได้รับการคัดเลือกให้มาเป็นตัวแทนของสถาบัน แม้จะไม่ได้รับรางวัลทุกคน ทุกสถาบัน แต่มั่นใจว่าทุกคนที่เข้าร่วมการแข่งขันต่างได้รับความรู้ ได้มีโอกาสพบปะเพื่อน ๆ จากต่างสถาบัน ซึ่งนับเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามาก และขอฝากถึงนักศึกษาทุกท่านในที่นี้ว่า ปัจจุบัน นอกจากความรู้ทางด้านวิชาการบัญชีแล้ว จำเป็นจะต้องศึกษาหาความรู้หรือฝึกทักษะด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ทักษะด้านภาษา ทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ทักษะด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การทำงานของนักศึกษาในอนาคตประสบผลสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ในฐานะนักบัญชีต้องตระหนักถึงหลักจรรยาบรรณวิชาชีพเพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นนักบัญชีมืออาชีพ ขออวยพรให้ทุกท่านประสบความสุข ความสำเร็จ และเป็นผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่ดีและเก่งในอนาคต"

         ดร.ดาริกา  ลัทธพิพัฒน์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า "หลักสูตรบัญชีของวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี หรือ CIBA เป็นหลักสูตรบัญชีดิจิทัลที่ผ่านการรับรองวิชาชีพจากสภาวิชาชีพบัญชี นักศึกษาของ CIBA จะมีคุณลักษณะพิเศษคือ มีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยี โปรแกรมบัญชีดิจิทัลต่าง ๆ ซึ่งวิทยาลัยมีซอฟต์แวร์ มีพันธมิตรเป็นสำนักงานบัญชีดิจิทัล ดังนั้น จะเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพของนักบัญชีในอนาคต และเป็นแนวทางให้วิชาชีพบัญชีก้าวไปสู่บัญชีดิจิทัลมากขึ้น ทั้งนี้ CIBA ได้ดำเนินการจัดแข่งขันตอบปัญหา  ทางบัญชี "สัมมาอาชีวบัญชี มหาจักรีสิรินธร" มาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 แล้ว "งานบัญชี" เป็นหนึ่งในงานที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการทำงานให้มีความแม่นยำ ถูกต้องได้ 100% เช่น การทำบันทึกรายการต่างๆ แต่ในส่วนของการตรวจสอบรายการ การวิเคราะห์รายการยังต้องเป็นหน้าที่ของนักบัญชีที่มีความเชี่ยวชาญ และมี Soft Skill สามารถสื่อสารทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี ดังนั้น อาชีพบัญชี จึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเทคโนโลยีและมนุษย์ การแข่งขันตอบปัญหาทางบัญชี "สัมมาอาชีวบัญชี มหาจักรีสิรินธร" เป็นการฝึกฝนให้นักศึกษาอาชีวะได้เรียนรู้ทั้งด้านวิชาการและเพิ่มเติมทักษะประสบการณ์นอกห้องเรียน รวมถึงพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร นักเรียน นักศึกษาที่ได้      เข้าร่วมการแข่งขันจะได้รับการฝึกฝนให้สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างเข้าใจ มีทักษะและมนุษยสัมพันธ์ที่ดี สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมืออาชีพ

          นักศึกษาอาชีวะ เป็นบุคลากรที่สำคัญด้านการพัฒนาบัญชี สามารถเข้าสู่การทำงานได้ทันทีหลังจากเรียนจบปวช.และปวส. การแข่งขันจึงเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้พัฒนาศักยภาพ เห็นรูปแบบการทำงานสมัยใหม่และเข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น อีกทั้งเป็นการกระตุ้นให้ทุกคนได้เห็นโลกของวิชาชีพบัญชีที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สร้างความตระหนักในการปรับตัวให้เท่าทัน และเป็นการลับคมทางความคิด เพราะบางครั้งต่อให้เรียนเก่งในชั้นเรียน แต่เมื่อได้มาลงเวทีสนามการแข่งขัน มาลับคมกับผู้อื่น จะทำให้พวกเขาเข้าใจโลกการแข่งขัน การทำงานจริงมากขึ้น ทำให้เกิดไอเดีย ความคิดใหม่ๆ ในการพัฒนาตนเองและการแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่คับขัน" ดร.ดาริกา กล่าวในตอนท้าย

 

#SuperDBD

#กระทรวงพาณิชย์

****************************************

ที่มา : กองกำกับบัญชีธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า                                    ฉบับที่ 31 /วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567