กรมพัฒน์ฯ ผนึกกำลัง ซีพี ออลล์ ช่วยโอทอปซีเล็กซ์ และเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club จำหน่ายสินค้าผ่านเซเว่น อีเลฟเว่น, 24 shopping, เอ็กซ์ตร้า พลัส และห้างแม็คโคร
กรมพัฒน์ฯ ผนึกกำลัง ซีพี ออลล์
ช่วยโอทอปซีเล็กซ์ และเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club
จำหน่ายสินค้าผ่านเซเว่น อีเลฟเว่น, 24 shopping, เอ็กซ์ตร้า พลัส และห้างแม็คโคร
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผนึกกำลัง ซีพีออลล์ ช่วยผู้ประกอบการโอทอปซีเล็กซ์ และเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club จำหน่ายสินค้าผ่านร้านเซเว่น อีเลฟเว่น, 24 shopping, เอ็กซ์ตร้า พลัส และห้างแม็คโคร พร้อมสนับสนุนจัดส่งผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำพัฒนาสินค้าและแพ็คเกจจิ้งให้ตรงตามความต้องการของตลาด และโดนใจลูกค้า
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ช่วงเวลาที่แสนยากลำบากของผู้ประกอบธุรกิจในขณะนี้ มีสาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจทุกขนาดต่างได้รับผลกระทบกันอย่างทั่วถึง ธุรกิจที่มีสายป่านยาวก็สามารถประคับประคองธุรกิจให้เดินต่อไปได้ แต่ก็มีอีกหลายธุรกิจที่ต้องปิดกิจการไปอย่างน่าเสียดาย ผู้ประกอบการสินค้าชุมชนเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะยอดขายที่ลดลงจำนวนมาก ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันที่อาศัยรายได้หลักจากการขายสินค้าและบริการมาจับจ่ายใช้สอย ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งใช้โอกาสที่ลูกหลานถูกเลิกจ้างและกลับบ้านมาช่วยพัฒนาสินค้า/บรรจุภัณฑ์ให้มีความทันสมัย น่าสนใจ ขณะที่ อีกส่วนหนึ่งเริ่มผ่องถ่ายธุรกิจ/ประสบการณ์การผลิตสินค้าให้ลูกหลานเพื่อสืบทอดเป็นทายาททางธุรกิจรุ่นต่อไป ดังนั้น สินค้าชุมชนดั้งเดิมจึงเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยตัวสินค้าและบรรจุภัณฑ์เริ่มมีรูปแบบที่เข้าถึงความต้องการของตลาดและลูกค้าได้มากขึ้น"
"ปัญหาสำคัญ คือ ทำอย่างไรให้สินค้าชุมชนที่ผลิตออกมามีตลาดรองรับและสามารถจำหน่ายได้ การเข้ามาช่วยเหลือของภาครัฐยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพยุงให้ผู้ประกอบการก้าวข้ามวิกฤตนี้ไปได้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะที่เป็นหน่วยงานในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบธุรกิจสาขาต่างๆ รวมทั้ง ผู้ประกอบการสินค้าชุมชนให้มีความเข้มแข็งแข่งขันได้ทุกตลาด ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะด้านการตลาดและช่องทางการกระจายสินค้าสู่มือผู้บริโภค ล่าสุด กรมฯ ได้ร่วมมือกับ กลุ่มบริษัทในเครือซีพีออลล์ ช่วยเหลือผู้ประกอบการสินค้าชุมชน ได้แก่ ผู้ประกอบการโอทอปซีเล็กซ์ และผู้ประกอบการเครือขายธุรกิจ MOC Biz Club ในการนำสินค้าไปจำหน่ายผ่านร้านค้าในเครือซีพี ออลล์ คือ เซเว่น อีเลฟเว่น, 24 shopping, เอ็กซ์ตร้า พลัส และห้างแม็คโคร"
อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า "เบื้องต้น กรมฯ และ ซีพี ออลล์ ได้ดำเนินการคัดเลือกสินค้าจากผู้ประกอบการที่สมัครเข้าร่วมคัดเลือกทั้ง 2 กลุ่ม เพื่อนำสินค้าเข้าจำหน่ายในร้านค้าเครือซีพี ออลล์ จำนวนทั้งสิ้น 80 ราย โดยมีผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 41 ราย แบ่งเป็น สินค้าโอทอปซีเล็กซ์ จำนวน 21 ราย (จาก 35 ราย) และสินค้าเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club จำนวน 20 ราย (จาก 45 ราย) ทั้งนี้ ได้มีการจำแนกสินค้าที่คัดเลือกออกเป็น 2 ประเภท คือ 1) กลุ่มสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่ม และ 2) กลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร โดยใช้เกณฑ์การคัดเลือกสินค้าทั้งสิ้น 8 ด้าน ประกอบด้วย 1) มีความแตกต่าง มีนวัตกรรม 2) จุดขายชัดเจน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว 3) ตรงตามกระแสนิยม 4) ราคาเหมาะสมกับปริมาณและคุณภาพ 5) บรรจุหีบห่อ บรรจุภัณฑ์ได้มาตรฐาน 6) มีสัญลักษณ์รับประกันคุณภาพ 7) มีตารางแสดงอายุของสินค้าที่ตรงตามเกณฑ์มาตรฐาน และ 8) มีเอกสารประกอบสินค้า"
"คุณสมบัติทั้ง 8 ข้อ ถือเป็นจุดแข็งที่สินค้าของผู้ประกอบการชุมชนทุกรายควรจะต้องมี แสดงถึงความมีมาตรฐานของสินค้าที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อไปอุปโภคหรือบริโภค ช่วยให้การดำเนินการประชาสัมพันธ์และการจำหน่ายผ่านช่องทางการตลาดต่างๆ ทำได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น"
"ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกจะเข้ารับการประเมินผ่านระบบการประเมินศักยภาพ Product Health Check เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) กับซีพีออลล์ ในเดือนกรกฎาคม 2564 และคาดว่าจะสามารถนำสินค้าที่ผ่านการคัดเลือกขึ้นจำหน่ายผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายของซีพีออลล์ได้ภายในเดือนสิงหาคม 2564 นี้"
"สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่ผ่านการคัดเลือก กรมฯ และ ซีพี ออลล์ จะจัดส่งผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์เพื่อให้ตรงตามความต้องการของตลาด และโดนใจลูกค้ามากที่สุด รวมทั้ง แนวทางการเตรียมความพร้อมทั้งของผู้ประกอบการและสินค้าก่อนนำเข้าสู่ระบบการประเมินความพร้อมของผู้ประกอบการก่อนนำสินค้าเข้าจำหน่ายบนโมเดิร์นเทรดและห้างสรรพสินค้า ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ระบบการประเมินที่คล้ายคลึงกัน ทำให้ผู้ประกอบการมีโอกาสที่จะขยายช่องทางการตลาดให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น" อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 27 พฤษภาคม 2564) มีผู้ประกอบการโอทอปซีเล็กซ์ จำนวนทั้งสิ้น 1,818 ราย แบ่งเป็น ประเภทอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 465 ราย (ร้อยละ25.58) ของใช้ ของตกแต่ง และของที่ระลึก จำนวน 749 ราย (ร้อยละ 41.20) ผ้าและเครื่องแต่งกาย จำนวน 456 ราย (ร้อยละ25.08) และสุมนไพรที่ไม่ใช้อาหาร จำนวน 148 ราย (ร้อยละ 8.14)
ผู้ประกอบการเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club จำนวนทั้งสิ้น 12,566 ราย แบ่งเป็นประเภท อาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 4,533 ราย (ร้อยละ 36.07) ผ้าและเครื่องแต่งกาย จำนวน 2,200 ราย (ร้อยละ 17.51) บริการ จำนวน 1,783 ราย (ร้อยละ 14.19) สุขภาพและความงาม จำนวน 1,145 ราย (ร้อยละ 9.11) ของใช้ ของตกแต่งและของที่ระลึก จำนวน 917 ราย (ร้อยละ7.30) สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร จำนวน 623 ราย (ร้อยละ 4.96) และ อื่น ๆ เช่น การเกษตร ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม จำนวน 1,365 ราย (ร้อยละ 10.86)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองธุรกิจภูมิภาคและชุมชน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2547 5950 อีเมล : otop.dbd@gmail.com และ www.dbd.go.th
#PoweredByDBD
*********************************************************
ที่มา : กองธุรกิจภูมิภาคและชุมชน ฉบับที่ 105 / วันที่ 28 พฤษภาคม 2564