กรมพัฒน์ฯ เปิดเคล็ดลับบริหารธุรกิจโลจิสติกส์บนโลกออนไลน์ ช่วยผู้ประกอบการปรับตัวเข้าสู่ e-Logistics

กรมพัฒน์ฯ เปิดเคล็ดลับบริหารธุรกิจโลจิสติกส์บนโลกออนไลน์
ช่วยผู้ประกอบการปรับตัวเข้าสู่ e-Logistics พร้อมเรียนรู้และทำความเข้าใจตลาดเชิงลึก
รับมือรูปแบบธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด
 
          กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเคล็ดลับการบริหารธุรกิจโลจิสติกส์บนโลกออนไลน์ หลังพบพฤติกรรมผู้บริโภคใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง ทำให้เกิดการโยกกิจกรรมบนโลกปกติมาอยู่บนโลกออนไลน์ เอื้อประโยชน์แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ปรับตัวเข้าสู่ e-Logistics ได้เร็ว พร้อมเปิดทางให้นักธุรกิจหน้าใหม่ที่มีความชำนาญการใช้เทคโนโลยีเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น ผู้ประกอบการในห่วงโซ่ธุรกิจจึงต้องเร่งปรับตัวให้ทันสถานการณ์...หากไม่สามารถปรับตัวได้ทัน อาจต้องออกจากตลาดไป ส่งผลให้การแข่งขันในธุรกิจโลจิสติกส์ของไทยมีความดุเดือดมากขึ้น
 
         นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคมีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิมเป็นอย่างมาก กอรปกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการโยกกิจกรรมบนโลกปกติมาอยู่บนโลกออนไลน์มากขึ้น คนไทยมีการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของการใช้เวลาภายใน 1 วัน ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงให้ความสำคัญและหันมาประกอบธุรกิจ/ทำการตลาดบนโลกออนไลน์มากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัล ปี 2563 ของสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ที่ภาคธุรกิจมีการใช้งบประมาณซื้อสื่อโฆษณาดิจิทัลมูลค่าสูงถึง 21,058 ล้านบาท เติบโตขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับปี 2562 (19,555 ล้านบาท) และคาดว่า ปี 2564 ก็ยังคงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงภาคธุรกิจให้ความสำคัญและพร้อมลงทุนทำการตลาดบนโลกออนไลน์เพิ่มขึ้น อีกทั้ง แนวโน้มผู้ซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เป็นกลุ่มคนที่มีอายุน้อยมากขึ้น คือ กลุ่มเจนวายและเจนซี ทำให้การทำธุรกิจบนโลกออนไลน์จึงมีความหลากหลายและครอบคลุมกลุ่มผู้บริโภคได้กว้างเพิ่มขึ้น รูปแบบการทำธุรกิจจึงเกิดการผสมผสานระหว่างช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี
 
         นอกจากนี้ พฤติกรรมการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการขึ้นอยู่กับอิทธิพลจากโซเชียลมีเดีย และวิธีการนำเสนอ/สื่อสารที่มีความน่าสนใจบนโลกออนไลน์ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องสร้างสรรค์และรู้เท่าทันความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มวัย โดยต้องทำการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคในเชิงลึก และต้องเข้าใจเทรนด์ของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่พร้อมเปิดใจกว้างรับสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะเข้ามา ซึ่งการสนองตอบความต้องการได้อย่างตรงจุดจะทำให้ธุรกิจมีโอกาสประสบความสำเร็จและได้เปรียบคู่แข่งทางธุรกิจ ทั้งนี้ เมื่อการประกอบธุรกิจบนโลกออนไลน์เติบโตสูง ธุรกิจขนส่งและให้บริการโลจิสติกส์ก็ได้รับอานิสงส์เติบโตตามขึ้นไปด้วย โดยธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศไทยปี 2563 มีมูลค่าตลาด รวมกว่า 88,700 ล้านบาท (ข้อมูลจากสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ : TIFFA) การที่โลกออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลต่อการประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ จึงพร้อมเปิดทางให้นักธุรกิจหน้าใหม่ที่มีความชำนาญในการใช้เทคโนโลยีเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น ผู้ประกอบการในห่วงโซ่ธุรกิจจึงต้องเร่งปรับตัวให้ทันสถานการณ์และพร้อมรับมือกับการประกอบธุรกิจบนโลกออนไลน์มากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงและผลกำไรระยะยาว ซึ่งหากไม่สามารถปรับตัวได้ทัน อาจต้องออกจากตลาดไป ส่งผลให้การแข่งขันในธุรกิจโลจิสติกส์ของไทยมีความดุเดือดมากขึ้น
 
         อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง ได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ไทยเป็นอย่างมาก ทั้งการพัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ การบริหารจัดการธุรกิจอย่างเป็นระบบ/มีมาตรฐาน และยกระดับการบริการให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล โดยในปี 2564 นี้ กรมฯ ได้กำหนดแผนการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบธุรกิจฯ เพื่อรองรับการค้าออนไลน์ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเตรียมจัดกิจกรรมให้ความรู้หลักสูตร โลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าในโลกออนไลน์ โดยสาระสำคัญจะเน้นเรื่องการเตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในยุค New Normal การเพิ่มศักยภาพธุรกิจด้วยเทคโนโลยีให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า กลยุทธ์และเทคนิคการลดต้นทุน การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ และเทคนิคการเปิดตลาดใหม่เพื่อขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มขึ้น เป็นต้น โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนกลยุทธ์องค์กรและการให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจร ทั้งนี้ กิจกรรมฯ ดังกล่าว จะดำเนินการทันทีหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง
 
           นอกจากความรู้ที่จำเป็นต้องมีแล้ว สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องเร่งดำเนินการในปัจจุบัน คือ การปรับตัวและเปลี่ยนวิธีคิดใหม่เพื่อรองรับการแข่งขันในตลาดที่สูงเพิ่มขึ้นและเป็นที่ยอมรับในเชิงธุรกิจ รวมทั้ง สร้างความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจในระยะยาว โดยปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงและปรับเปลี่ยน ได้แก่ 1) นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการธุรกิจ 2) มีเครือข่ายพันธมิตรที่กว้างขวาง 3) ความเชี่ยวชาญของบุคลากร 4) คุณภาพการให้บริการ 5) รักษาฐานลูกค้าปัจจุบัน และ 6) มาตรฐานความปลอดภัยการให้บริการขนส่งสินค้า ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถประกอบธุรกิจโดยมีองค์ประกอบที่สำคัญครบถ้วน จะส่งผลให้การดำเนินธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน และส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศอีกด้วย อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย
 
         ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2564) ประเทศไทยมีธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ จำนวนทั้งสิ้น 29,360 ราย แบ่งเป็น การขนส่งทางบกและระบบท่อลำเลียง 21,216 ราย (ร้อยละ 72.27) ตัวแทนออกของ 4,093 ราย (ร้อยละ 13.94) การบริหารจัดการเกี่ยวกับสินค้า 1,432 ราย (ร้อยละ 4.88) คลังสินค้า 860 ราย (ร้อยละ 2.93) การขนส่งทางน้ำ 721 ราย (ร้อยละ 2.46) การขนถ่ายสินค้า 684 ราย (ร้อยละ 2.31) การขนส่งทางอากาศ 209 ราย (ร้อยละ 0.72) ตัวแทนผู้รับจัดการขนส่งสินค้าและอื่นๆ 145 ราย (ร้อยละ 0.49
 
#PoweredByDBD
 
************************************************
 
ที่มา : กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ                                                                     ฉบับที่ 103 / วันที่ 26 พฤษภาคม 2564