พาณิชย์ จับมือพันธมิตรรายใหญ่ จัดชุดสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็น...จำหน่ายให้ประชาชนในราคาประหยัด ผ่านเครือข่ายร้านค้ากองทุนหมู่บ้าน 3,500 แห่งทั่วประเทศ

พาณิชย์ จับมือพันธมิตรรายใหญ่
จัดชุดสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็น...จำหน่ายให้ประชาชนในราคาประหยัด
ผ่านเครือข่ายร้านค้ากองทุนหมู่บ้าน 3,500 แห่งทั่วประเทศ
 
          กระทรวงพาณิชย์ จับมือ พันธมิตรรายใหญ่ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) และ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) จัดชุดสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน มูลค่ารวมกว่า 12 ล้านบาท จำหน่ายถึงมือประชาชนราคาประหยัด ผ่านร้านค้ากองทุนหมู่บ้าน 3,500 แห่งทั่วประเทศ เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนถึงระดับท้องถิ่น ภายใต้กิจกรรม ซื้อง่าย ถูกใจ ใกล้ชุมชน ช่วยผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้อสินค้าราคาถูกใกล้บ้าน ส่งผลให้เกิดการไหลเวียนของเม็ดเงินในชุมชน
 
         นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้วางนโยบายให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินโครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชนลงลึกถึงระดับตำบลทั่วประเทศ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันลง บรรเทาภาระค่าครองชีพ และช่วยเพิ่มเงินในกระเป๋า ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) และสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) จัดกิจกรรม ซื้อง่าย ถูกใจ ใกล้ชุมชน จัดชุดสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน จำนวน 23 รายการ มูลค่ากว่า 3,500 บาท เช่น ข้าวสาร น้ำมันพืช น้ำตาลทราย ฯลฯ จำหน่ายถึงมือประชาชนในราคาพิเศษ ผ่านเครือข่ายร้านค้ากองทุนหมู่บ้าน 3,500 แห่งทั่วประเทศ (มูลค่าสินค้ารวมกว่า 12,250,000 บาท) เพื่อให้ร้านค้านำสินค้าราคาประหยัดไปจำหน่ายแก่ประชาชนในชุมชน ซึ่งร้านค้ากองทุนหมู่บ้านมีแนวคิดพื้นฐานในการจัดตั้ง คือ ร้านค้าของคนในชุมชน เพื่อคนในชุมชน ดังนั้น การจำหน่ายสินค้าราคาพิเศษจึงทำให้สมาชิกของร้านค้า (คนในชุมชน) ได้เลือกซื้อสินค้าราคาประหยัด ขณะเดียวกัน ร้านค้าจะมียอดขายและกำไรเพิ่มขึ้น โดยกำไรที่ได้รับจะถูกจัดสรรกันในชุมชน ผ่านกลไกสมาชิกร้านค้ากองทุนหมู่บ้าน ส่งผลให้เกิดการไหลเวียนของเม็ดเงินในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง เป็นการช่วยเหลือทั้งผู้บริโภค ร้านค้าโชวห่วยในท้องถิ่น และกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับชุมชนไปพร้อมกัน
 
         ร้านค้ากองทุนหมู่บ้าน ทั้ง 3,500 แห่ง จะได้รับหนังสือจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อให้ไปรับชุดสินค้า ณ ห้างแม็คโคร ภายในจังหวัดที่ร้านค้าตั้งอยู่ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายค่าชุดสินค้าแต่ประการใด กำหนดรับชุดสินค้าตั้งแต่วันที่ 1 - 31 พฤษภาคม 2564 นี้ หลังจากนั้น กรมฯ และหน่วยงานพันธมิตรจะทำการประเมินจุดเด่น จุดด้อย ปัญหา และอุปสรรคที่ได้รับจากกิจกรรม ก่อนนำมาปรับปรุงและพัฒนาเพื่อกำหนดแนวนโยบายในการช่วยเหลือประชาชน และร้านค้าโชวห่วยต่อไป กิจกรรม ซื้อง่าย ถูกใจ ใกล้ชุมชน จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและร้านค้าโชวห่วยมากที่สุด เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด ช่วยให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็งในระยะยาว
 
          รมช.พณ. (นายสินิตย์ เลิศไกร) กล่าวต่อว่า ผู้ประกอบการร้านค้าโชวห่วยเป็นหน่วยเศรษฐกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และเป็นที่พึ่งของประชาชนทั้งช่วงระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และช่วงระยะการฟื้นฟู โดยเป็นทางเลือกในการเลือกซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็น เช่น ข้าวสาร น้ำมัน น้ำตาลทราย และของใช้ประจำวันอื่นๆ สำหรับประชาชนที่ต้องการหลีกเลี่ยงการเดินทาง และไม่ประสงค์ที่จะจับจ่ายใช้สอยในสถานที่แออัดหรืออากาศไม่ถ่ายเท เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของโรคระบาด ขณะเดียวกัน ร้านค้าโชวห่วยยังเป็นช่องทางสำคัญของรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชน ผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เช่น เราชนะ คนละครึ่ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ม.33 เรารักกัน รวมถึง เป็นแหล่งจ้างงานในชุมชนและช่องทางการกระจายสินค้าที่สำคัญในระดับท้องถิ่น ซึ่งในปี 2563 ร้านค้าโชวห่วยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกันกว่า 1.03 ล้านล้านบาท และมีปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ ทั้งมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนมาซื้อสินค้าใกล้บ้านแทนการไปซื้อสินค้าในร้านค้าปลีกสมัยใหม่
 
         สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทรศัพท์ 02 547 5986 สายด่วนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 1570 e-Mail : bizpromotion.dbd@gmail.com และ www.dbd.go.th รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้าย
 
#PoweredByDBD
 
******************************************
 
ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ                                   ฉบับที่ 95 / วันที่ 3 พฤษภาคม 2564