วีรศักดิ์...ลงพื้นที่เมืองย่าโม ปล่อยคาราวานจัดร้าน Smart โชวห่วย พร้อมเยี่ยมชมธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ
วีรศักดิ์...ลงพื้นที่เมืองย่าโม ปล่อยคาราวานจัดร้าน Smart โชวห่วย
พร้อมเยี่ยมชมธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ หวัง! สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง
รมช.พณ. นำทีมลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา Kick off ปล่อยคาราวานทีมพัฒนาร้าน Smart โชวห่วย โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาท้องถิ่น ลุย "จัดร้านและปรับภาพลักษณ์" ให้สวยงาม ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าง่าย บริหาร Stock คล่องตัว ประเดิมร้านแรก "โอ๋" ร้านโชวห่วย ขนาด SS คาดจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ต่อเดือน พร้อมเดินทางต่อเยี่ยมสถานดูแลผู้สูงอายุ 2 แห่ง เพื่อรับฟังความเห็นและความต้องการจากธุรกิจตัวจริง เอาไปกำหนดเป็นนโยบายส่งเสริมธุรกิจให้เข้มแข็งต่อไป
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเป็นประธาน ในพิธีปล่อยคาราวานขบวนรถทีมพัฒนาร้านค้า Smart โชวห่วย ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมาว่า ในวันนี้ (27 มกราคม 2563) มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นถึงความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบายเร่งด่วนด้านการพัฒนาร้านโชวห่วยให้ไปสู่ SMART โชวห่วย ที่ได้กำชับให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งดำเนินการ โดยการปล่อยคาราวานในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน นำนักศึกษาที่ผ่านการอบรมทีมพัฒนาร้าน Smart โชวห่วย มาร่วม จัดร้านและปรับภาพลักษณ์ ให้ร้านโชวห่วย ณ ร้านโอ๋ ตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอเมือง ซึ่งการจัดร้านถือเป็นประตูด้านแรกจาก 5 ด้าน ในการเข้าสู่พัฒนาเข้าสู่ร้าน Smart โชวห่วย ประกอบไปด้วย การจัดร้าน, การใช้ IT มาบริหาร, การสร้างโปรโมชั่น, การเพิ่มรายได้เสริม และหาแหล่งเงินทุน ทั้งนี้ การเปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้ามาร่วมในกิจกรรมนี้จะช่วยให้เกิดการปลูกฝังจิตสำนึกแก่คนรุ่นใหม่ อันจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เกิดความรักท้องถิ่น และพร้อมที่จะพัฒนาชุมชนของตนเองให้เติบโต
รมช.พณ. กล่าวต่อว่า "การจัดร้านจะเริ่มจากการจัดหมวดหมู่ของสินค้าให้เป็นระบบตามประเภทของสินค้า ง่ายต่อการเลือกซื้อสินค้าของลูกค้า การเว้นพื้นที่ทางเดินที่เหมาะสมไม่มีสิ่งกีดขวาง การจัดเรียงสินค้าที่ง่ายต่อการพบเห็น และจัดมุมโปรโมชั่นสำหรับสินค้าขายดี ซึ่งการจัดสินค้าในลักษณะนี้จะทำให้ร้านโชวห่วยเป็นระเบียบ สวยงาม ช่วยดึงดูดให้ลูกค้าเข้าร้าน อีกทั้งยังทำให้เจ้าของร้านบริหารจัดการ Stock สินค้าได้ดียิ่งขึ้น รู้ว่าสินค้าใดเป็นที่ต้องการของลูกค้าหรือสินค้าใดที่ไม่ได้รับความนิยมจะได้ไม่ต้อง Stock สินค้าไว้ในคลังจำนวนมาก ซึ่งเป็นจุดอ่อนใหญ่ของร้านโชวห่วยที่ทำให้เงินทุนจมอยู่กับสินค้าที่ขายไม่ได้ การจัดร้านแม้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็น Smart โชวห่วย แต่ก็จะช่วยให้ร้านสามารถเพิ่มยอดขายได้มากถึงร้อยละ 10 เลยทีเดียว"
"สำหรับลงพื้นที่ ณ ร้านโอ๋ ในครั้งนี้ ได้มอบตราสัญลักษณ์ร้าน Smart โชวห่วย สำหรับติดหน้าร้านเพื่อเป็นเครื่องหมายการันตีสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าตัดสินใจเดินเข้าได้แบบไม่ลังเล โดยร้านโอ๋เป็นร้านโชวห่วยที่ตั้ง อยู่ใจกลางชุมชน มีขนาด SS รายได้ไม่เกิน 30,000 บาท ต่อเดือน นอกจากนี้ จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และมีประชากรมากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ มีจำนวนกว่า 2.6 ล้านคน (ข้อมูลจากกรมการปกครอง) อีกทั้งสำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมายังพบว่า มีร้านโชวห่วยในจังหวัดที่มีความพร้อมจะพัฒนาเป็น Smart โชวห่วย จำนวน 4,158 ร้าน แบ่งเป็นขนาด SS ร้อยละ 62.7 ขนาด S ร้อยละ 19.4 ขนาด M ร้อยละ 13.4 และขนาด L ร้อยละ 4.5"
"จากนั้นได้เดินทางต่อไปเยี่ยมชมสถานดูแลผู้สูงอายุจำนวน 2 แห่งในจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ 1) ศูนย์ฟื้นฟูบ้านผู้สูงอายุพาดี ตำบลหนองจะบก มีพยาบาลวิชาชีพเป็นผู้ดำเนินกิจการ และมีพนักงานที่ผ่านการฝึกอบรมดูแลตลอด 24 ชั่วโมง อัตราค่าบริการรายเดือน 15,000 - 23,000 บาท และ 2) บ้านผู้สูงอายุราชสีมา อำเภอเมือง เป็นหน่วยงานภายใต้มูลนิธิคณะนักบุญคามิลโลแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ไม่แสวงหากำไร บริหารงานโดยนักบวชคณะคามิลเลียนที่ทำงานให้บริการด้านสุขภาพในประเทศไทยมากว่า 60 ปี อัตราค่าบริการรายวันอยู่ระหว่าง 500-1,500 บาท และรายเดือน 15,000-25,000 บาท ทั้งนี้ สถานดูแลผู้สูงอายุทั้ง 2 แห่ง เปิดให้บริการดูแลผู้สูงอายุหรือบุคคลทั่วไปที่มีภาวะพึ่งพิง ไม่สามารถช่วยตัวเองได้และผู้ป่วยที่นอนติดเตียง โดยมีบริการที่พักแบบชั่วคราวและแบบประจำ"
"การลงพื้นที่เยี่ยมชมธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในครั้งนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการอันจะนำไปสู่การผลักดันแนวทางการส่งเสริมธุรกิจดังกล่าวในระดับนโยบายประเทศ รวมไปถึงจังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีประชากรผู้สูงอายุมากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย รองจากกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้สูงอายุ 435,347 คน คิดเป็นร้อยละ 16.45 ของประชากรในจังหวัด (ข้อมูลจาก กรมการปกครอง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561) ซึ่งธุรกิจดูแลผู้สูงอายุจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในจังหวัดให้มีความเป็นอยู่ที่ดีต่อไป" รมช.พณ. กล่าวในท้ายที่สุด
#วีรศักดิ์ดูแล
#WeerasakTakeCare
********************************
ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ฉบับที่ 54 / วันที่ 27 มกราคม 2563