กรมพัฒน์ฯ จับมือ 6 พันธมิตร ติดปีกโชวห่วยไทย ร่วมแก้ไขทุกปัญหาให้โชวห่วยไทยอยู่ได้อย่างยั่งยืน
กรมพัฒน์ฯ จับมือ 6 พันธมิตร ติดปีกโชวห่วยไทย
ร่วมแก้ไขทุกปัญหาให้โชวห่วยไทยอยู่ได้อย่างยั่งยืน
ร่วมแก้ไขทุกปัญหาให้โชวห่วยไทยอยู่ได้อย่างยั่งยืน
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จับมือ 6 หน่วยงานพันธมิตรจากภาครัฐและเอกชน ร่วมพัฒนา ขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ธุรกิจร้านโชวห่วย เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการร้านค้า ขาดประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจ ขาดเทคโนโลยีในการบริหารร้านค้า เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ โดยจะใช้ทรัพยากร ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์จากพันธมิตร มาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ภายใต้แนวคิด "จับมือพันธมิตร ติดปีกโชวห่วยไทย (Total Solutions : โชวห่วย)"
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ปัจจุบันร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม หรือ "ร้านโชวห่วย" ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงมีคู่แข่งรายใหม่ๆ ทั้งร้านค้าปลีกสมัยใหม่ขนาดเล็กที่เป็นคู่แข่งโดยตรง รวมถึงธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับร้านโชวห่วยจำนวนมากยังขาดความรู้ในการบริหารจัดการร้านค้าอย่างมีประสิทธิภาพทั้งด้านการตลาด การบัญชี การบริการจัดการพื้นที่ขายสินค้า และด้านอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากไม่มีการพัฒนาให้ดีขึ้นผลประกอบการ ของธุรกิจโชวห่วยจะลดลงจนนำไปสู่การปิดตัวของกิจการท้องถิ่น อันจะนำไปสู่ปัญหาการว่างงานและการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจ
จากความจำเป็นเร่งด่วนดังกล่าว ในวันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2562) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงได้ร่วมมือกับ 6 หน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด, บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank), ธนาคารกรุงไทย, สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย และ สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพให้ผู้ประกอบการร้านโชวห่วยตั้งแต่ระดับพื้นฐาน โดยเริ่มตั้งแต่การปรับทัศนคติในการทำธุรกิจแบบสมัยใหม่ การให้ความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจ การสนับสนุนด้านทรัพยากรและแหล่งเงินทุน เพื่อให้ ร้านโชวห่วยมีความสามารถในการแข่งขัน และดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน พร้อมทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนต่อไป โดยตั้งเป้าหมายให้ผู้ประกอบการร้านโชวห่วยตระหนักรู้ถึงคุณค่าของการเป็นร้านค้าปลีกท้องถิ่น มีความพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพในการบริหารธุรกิจแบบมืออาชีพ รู้ช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และสามารถเพิ่มยอดขาย สร้างรายได้ที่ยั่งยืน ซึ่งแต่ละหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจ ดังนี้
นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า สมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย ยินดีอย่างยิ่งที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านโชวห่วย เนื่องจากมีความใกล้ชิดเป็นเสมือนพี่น้องกัน โดยร้านค้าส่ง-ค้าปลีกในสมาคมฯ ที่ประสบความสำเร็จ จะมีประสบการณ์และมุมมองแนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องร้านโชวห่วยได้เป็นอย่างดี สมาชิกของสมาคมฯ จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และเป็นพี่เลี้ยงให้กับร้านโชวห่วยเหล่านี้ โดยพร้อมที่จะถ่ายทอดแนวคิด ความรู้ที่เรามีและประสบการณ์ที่ทำให้เราประสบความสำเร็จให้กับพี่น้องร้านโชวห่วยตัวเล็กๆ ที่มีใจอยากพัฒนาตนเองให้สามารถแข่งขันได้ในโลกของธุรกิจสมัยใหม่ นอกจากนี้ ในการอบรมให้กับร้านโชวห่วยทั่วประเทศ สมาคมฯ ยินดีที่จะไปร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ รวมถึงให้ความรู้ในสิ่งที่สำคัญที่ทำให้วงการค้าส่ง-ค้าปลีกไทยยืนหยัดแข็งแกร่งอยู่ได้จนถึงวันนี้ นั่นคือในเรื่องของทัศนคติและแนวคิดในการทำธุรกิจ เพราะทางสมาคมฯ เชื่อว่า ทัศนคติและใจที่เข้มแข็งคือปัจจัยที่ทำให้ร้านโชวห่วยประสบความสำเร็จ รวมถึงประสบการณ์ที่สมาชิกของสมาคมฯ มี จะเป็นทางลัดให้กับผู้ประกอบการร้านโชวห่วยประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น
นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การร่วมมือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในโครงการ "จับมือพันธมิตร ติดปีกโชวห่วยไทย" ในครั้งนี้ แม็คโครมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้มีโอกาสแบ่งปันความรู้ และถ่ายทอดประสบการณ์การทำ ค้าปลีกให้กับร้านค้าปลีกรายย่อย ร้านโชวห่วย และร้านค้าประชารัฐ ซึ่งในกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ได้แก่ การสนับสนุนชุดคู่มือการจัดการร้านค้าปลีกอย่างมืออาชีพ การให้คำปรึกษาในการจัดการร้านค้าปลีก การออกแบบแผนผังร้านค้าแบบ 3 มิติ การเพิ่มพูนความรู้ และเทคนิคต่าง ๆ ผ่าน e-Learning ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงบริการรับสั่งซื้อ จัดเตรียมสินค้า และจัดส่งสินค้า สำหรับร้านค้าประชารัฐ นอกจากนี้ แม็คโครยังช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการและร้านโชวห่วย ด้วยการจัดหาสินค้ายอดนิยมพร้อมรายการโปรโมชั่นพิเศษสำหรับร้านค้าประชารัฐที่เป็นสมาชิกเป็นประจำทุกเดือน
นางสาวจนัญญา เมฆวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและความยั่งยืน บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า บริษัท ยูนิลีเวอร์ไทย เทรดดิ้ง จำกัด มีโครงการพัฒนาร้านโชวห่วยคือ ร้านติดดาว ซึ่งเป็นการอบรมการบริหารการจัดการหน้าร้านให้เป็นระบบ เพื่อสร้างความน่าดึงดูด พร้อมทั้งสนับสนุนสื่อตกแต่งทั้งภายในและภายนอกร้านค้า แคมเปญทางการตลาด เช่น การสะสมแต้มหรือของแถมเพื่อผลักดันยอดขาย บริษัทฯ พร้อมเป็นที่ปรึกษาในการทำธุรกิจให้กับร้านโชวห่วยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อประโยชน์ของร้านค้าและผู้บริโภคที่แท้จริง ซึ่งในปี 2561 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ยังได้ร่วมพัฒนาร้านค้าธงฟ้าประชารัฐผ่านโครงการดังกล่าวด้วย
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวว่า ธนาคารมุ่งสนับสนุนผ่าน "3 เติม" ได้แก่ "เติมทุน"ผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) เพื่อให้นำมาใช้เป็นทุนหมุนเวียน ลงทุนซื้อเครื่องจักร รวมถึงขยายและปรับปรุงกิจการให้มีความทันสมัย ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยถูก สำหรับบุคคลธรรมดาอัตราดอกเบี้ย 3 ปีแรกเพียง 0.42% ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 2 ล้านบาทต่อราย และหากยกระดับเข้าสู่การเป็นนิติบุคคลและจัดทำบัญชีเดียว อัตราดอกเบี้ยจะยิ่งถูกลงไปอีก โดย 3 ปีแรกเหลือเพียง 0.25% ต่อเดือนเท่านั้น ส่วนปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย นอกจากการสนับสนุนเงินทุนแล้ว ธนาคารยัง "เติมทักษะ" โดยผลักดันผู้ประกอบการร้านโชวห่วยให้มีขีดความสามารถทางธุรกิจเพิ่มขึ้น นำไปสู่การเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การอบรมสัมมนา การจับคู่เจรจาธุรกิจ การเป็นพี่เลี้ยงมืออาชีพ และขยายตลาดออนไลน์ เป็นต้น รวมถึง "เติมคุณภาพชีวิต" ช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจร้านโชวห่วยเข้าถึง สิทธิประโยชน์และสวัสดิการภาครัฐ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ตนเองและครอบครัว รวมถึงสร้างความมั่นคงในอาชีพได้อย่างยั่งยืน
นางอรนุช ศิรประภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสายงาน สายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์รายย่อย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ "จับมือพันธมิตร ติดปีกโชวห่วยไทย (Total Solutions : โชวห่วย)" ทั้งผู้ประกอบการร้านโชวห่วย และ ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ซึ่งต้องการเงินทุนเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนหรือลงทุนในกิจการ โดยธนาคารให้วงเงินกู้สูงถึง 20 ล้านบาท ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี และสำหรับลูกค้าที่ยื่นขอสินเชื่อภายในวันที่ 28 มิถุนายน 2562 ทางธนาคารมีความยินดีที่จะให้สินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยพิเศษต่ำสุด MRR-0.5% ต่อปี หรือเท่ากับ 6.62% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ลูกค้าที่ได้รับอนุมัติและตั้งวงเงินสินเชื่อ 1,000 รายแรกธนาคารจะมอบ ร่มสนามเป็นของสมนาคุณให้กับลูกค้าอีกด้วย
นายทินกร เหล่าเราวิโรจน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (ATSI) กล่าวว่า สมาชิกสมาคมฯ นับสิบรายที่เป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ POS (Point of Sale) ที่เป็นที่รู้จักและใช้งานอย่างแพร่หลายได้แสดงความจำนงเข้าร่วมนำซอฟต์แวร์ POS เหล่านี้มาเผยแพร่ให้กับร้านโชวห่วย และจำหน่ายในราคาพิเศษโดยจะมอบส่วนลดให้ 15-20% จากราคาปกติ อีกทั้งจะนำพาร้านโชวห่วยไปเข้าร่วมโครงการ Depa Mini Transformation Fund ที่ให้เงินช่วยเหลือ SME ที่ต้องการลงทุนด้านดิจิทัล ในแบบ reimburse (การชำระเงินคืน) มูลค่ารายละไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งจะช่วยให้ร้านโชวห่วยไทยได้นำซอฟต์แวร์มาใช้ประโยชน์ในธุรกิจได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังเห็นความสำคัญในเรื่องของความรู้ที่สามารถทำให้ผู้ประกอบการร้านโชวห่วยปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยจึงเปิด e-Learning Platform ให้กับร้านโชวห่วยไทย และ SME ภายใต้การสนับสนุนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทุกราย สามารถเข้าไปศึกษาเรียนรู้เนื้อหาออนไลน์ได้ฟรี ซึ่งจะเป็นการนำเทคโนโลยีมาเสริฟถึงมือ SME ไทย ได้อย่างทั่วถึง ไร้ข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ "จับมือพันธมิตร ติดปีกโชวห่วยไทย (Total Solutions : โชวห่วย) นับเป็นการบูรณาการความร่วมมือกันระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและพันธมิตรทั้ง 6 หน่วยงาน ที่จะส่งเสริมร้านโชวห่วยให้มีเครื่องมือและอาวุธในการพัฒนาธุรกิจของตนเองให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม เพื่อให้ร้านโชวห่วยมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาชุมชนต่อไป โดยร้านโชวห่วยสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือของหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านองค์ความรู้ การตลาด การบริหารจัดการร้านค้า สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำฯ ซึ่งจะช่วยให้ร้านโชวห่วยอยู่ได้อย่างยั่งยืน
ผู้ประกอบการร้านโชวห่วยที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สายด่วน 1570 หรือ โทร.0 2547 5986 และ http://www.dbd.go.th/
********************************
ที่มา : กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ฉบับที่ 56 / 25 กุมภาพันธ์ 2562