การจดทะเบียนธุรกิจและการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

การจดทะเบียนธุรกิจและการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
 
                            นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แถลงข่าวการจดทะเบียนธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประจำเดือน มกราคม 2562 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
 
ผลการจดทะเบียนธุรกิจ
                ธุรกิจจัดตั้งใหม่เดือนมกราคม
                      - จำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศ ในเดือนมกราคม 2562 จำนวน 7,311 ราย เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2561 จำนวน 4,102 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 3,209 ราย คิดเป็นร้อยละ 78 และเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2561 จำนวน 6,965 ราย เพิ่มขึ้น จำนวน 346 ราย คิดเป็นร้อยละ 5
                      - ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 620 ราย คิดเป็น ร้อยละ 8 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 386 ราย คิดเป็นร้อยละ 5 และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและ ขนถ่ายสินค้า รวมถึงคนโดยสาร จำนวน 184 ราย คิดเป็นร้อยละ 3
                      - มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่ ในเดือนมกราคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 17,693 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2561 จำนวน 38,669 ล้านบาท ลดลงจำนวน 20,976 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 54 และเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2561 จำนวน 17,940 ล้านบาท ลดลงจำนวน 247 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1
                      - ธุรกิจจัดตั้งใหม่แบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 5,336 ราย คิดเป็นร้อยละ 72.99 รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท มีจำนวน 1,871 ราย คิดเป็นร้อยละ 25.59 รองลงมา คือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 85 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.16 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 19 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.26
 
ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ ณ เดือนมกราคม
                      - ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 31 ม.ค. 62) ธุรกิจที่ยังคงดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน718,777 ราย มูลค่าทุน 16.56 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด / ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 183,286 ราย คิดเป็นร้อยละ 25.50 บริษัทจำกัด จำนวน 534,272 ราย คิดเป็นร้อยละ 74.33 และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,219 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.17
                      - ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่แบ่งตามช่วงทุน ธุรกิจส่วนใหญ่มีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 427,164 ราย คิดเป็นร้อยละ 59.43 รวมมูลค่าทุน 0.37 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.23 รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 207,720 ราย คิดเป็นร้อยละ 28.90 รวมมูลค่าทุน 0.68 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.10 รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 68,991 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.60 รวมมูลค่าทุน 1.87 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.29 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 14,902 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.07 รวมมูลค่าทุน 13.65 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 82.38 ตามลำดับ
 
ธุรกิจเลิกประกอบกิจการเดือนมกราคม
                      - จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 1,401 ราย เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2561 จำนวน 5,511 ราย ลดลงจำนวน 4,110 ราย คิดเป็นร้อยละ 75 และเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2561 จำนวน 1,350 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 51 ราย คิดเป็นร้อยละ 4
                      - ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 150 ราย คิดเป็นร้อยละ 11 รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 75 ราย คิดเป็นร้อยละ 5 และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ จำนวน 44 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 ตามลำดับ
                      - มูลค่าทุนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ ในเดือนมกราคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,462 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2561 จำนวน 19,586 ล้านบาท ลดลงจำนวน 15,124 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 77 และเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2561 จำนวน 5,563 ล้านบาท ลดลงจำนวน 1,101 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20
                      - ธุรกิจเลิกประกอบกิจการแบ่งตามช่วงทุน โดยช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศ มากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 979 ราย คิดเป็นร้อยละ 69.88 รองลงมาคือช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท จำนวน 363 ราย คิดเป็นร้อยละ 25.91 ลำดับถัดไปคือช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 54 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.85 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 5 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.36
 
แนวโน้มการจัดตั้งธุรกิจ
                        แนวโน้มการเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจ มีอัตราการเติบโตที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาและยังคงเป็นไปตาม seasonal และเมื่อประเมินจากอัตราการเติบโตของ GDP และแนวโน้มด้านเศรษฐกิจ สังคม เดือนกุมภาพันธ์ 2562 คาดว่าจะเป็นไปตาม seasonal ของการจดทะเบียนชะลอเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ มกราคม 2562 และยังมีอัตราเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับกุมภาพันธ์ 2561 สำหรับในภาพรวมการจัดตั้งธุรกิจทั้งปี คาดการณ์ยังคงใกล้เคียงกับปี 2561
 
 
การให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเดือนมกราคม 2562
                            กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัล และ พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกเพื่อลดต้นทุน ลดเวลา และลดการใช้กระดาษ โดยพัฒนาการบริการทุกระบวนการของกรม ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ผู้ใช้บริการยื่นขอรับบริการได้ทุกที่ ทุกเวลา
 
e-Registration การจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์
 
                           การจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่มีนาคม 2560 - 31 มกราคม 2562 มีการยืนยันการใช้งาน (Activate) จำนวน 33,907 ราย รับจดทะเบียน 11,263 ราย ซึ่งกรมได้มีการเตรียมการพัฒนาระบบให้อำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น ทั้งด้านการยืนยันตัวตนนิติบุคคลและการใช้ระบบงาน รวมถึงการเชื่อมโยง เพื่อสร้างความพร้อมในการดำเนินธุรกิจให้แก่ SME ทั้งด้านการเงินและซอฟแวร์ นอกจากนี้ได้มีการประชุมหารือร่วมกับกรมสรรพากร สำนักงานประกันสังคม สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และสำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อหาแนวทางในการรวมขั้นตอนการจดทะเบียนนิติบุคคล จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และขึ้นทะเบียนลูกจ้างเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อลดขั้นตอนและยกระดับ Ease of doing
 
การบริการหนังสือรับรองข้อมูลนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์และผลักดันการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์
 
                          กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ยกระดับการเป็นหน่วยงานรัฐบาลดิจิทัล โดยการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) มาให้บริการ โดยบริการ e-Service การบริการขอหนังสือรับรองผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขอรับเอกสารได้ผ่านช่องทาง Walk in EMS Delivery การออกหนังสือรับรองรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Certificate File) และจะขยายการให้บริการสู่การบริการหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ สมาคมการค้า และหนังสือรับรองภาษาอังกฤษ ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2562
 
DBD e-Accounting โปรแกรมบัญชีเพื่อช่วยเหลือ SMEs
 
                         กรมได้ดำเนินการแจก"โปรแกรม e-Accounting for SMEs" ช่วยเหลือ SMEs สามารถบริหารจัดการร้านค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการบันทึกข้อมูลซ้ำซ้อน ลดระยะเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายทางธุรกิจ สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น โดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ทาง Play store ซึ่งมีการพัฒนาซอฟแวร์บัญชีและอยู่ระหว่างการทดสอบ จำนวน 4 ราย เชื่อมต่อกับการนำส่งงบการเงินทางระบบ DBD e-Filing ผ่านทาง DBD Connect ซึ่งเป็นการร่วมกับผู้พัฒนาซอฟแวร์บัญชีเพื่อเชื่อมโยงระบบงานบัญชีเข้าสู่งบการเงินทางออนไลน์ได้โดยทันที ซึ่งขณะนี้มีอยู่จำนวน 15 ราย
 
Total Solution for SMEs
                         การขับเคลื่อน SMEs ไทยด้วยนวัตกรรมออนไลน์ โดยส่งเสริมให้ธุรกิจเข้าถึงเทคโนโลยีทางการบัญชีและบริหารจัดการร้านค้าได้โดยง่าย ให้ได้รับข้อมูลในการบริหารจัดการธุรกิจแบบถูกต้อง ครบวงจร เปลี่ยน Traditional SMEs เป็น Smart SMEs ซึ่งกรมได้รวบรวมโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทั้ง 3 ภาคส่วนไว้ด้วยกันคือ โปรแกรมสำนักงาน (Office) โปรแกรมหน้าร้าน (POS) โปรแกรมบัญชี online (Cloud Accounting) โดยผู้ประกอบการ สามารถจัดทำบัญชีเบื้องต้นได้เองก่อนส่งข้อมูลให้ผู้ทำบัญชีตรวจสอบ ขณะนี้อยู่ระหว่างประชุมหารือร่วมกับ สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ และผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ เพื่อกำหนดรายละเอียดในการดำเนินการ และรับสมัครผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งหารือแนวทางความร่วมมือในการสนับสนุนโครงการกับสถาบันการเงิน (ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารทหารไทย)
 
****************************
ที่มา : กองข้อมูลธุรกิจ                                                                              ฉบับที่ 54 / 21 กุมภาพันธ์ 2562