สินิตย์ รมช.พณ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมร้านค้าปลีกคนไทย รับฟังปัญหา-อุปสรรค-ข้อเสนอแนะ
สินิตย์ รมช.พณ. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมร้านค้าปลีกคนไทย รับฟังปัญหา-อุปสรรค-ข้อเสนอแนะ
พร้อมสั่งการกรมพัฒน์ฯ ดันให้เป็นวาระหลักที่ต้องเร่งสร้างความเข้มแข็ง ให้การสนับสนุน
มั่นใจ..โชวห่วยไทยต้องเป็นธุรกิจที่คู่สังคมไทย
สินิตย์ รมช.พณ. ทำงานเชิงรุก ลงพื้นที่ จ.หนองคาย ตรวจเยี่ยม รับฟังปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะร้านค้าปลีกท้องถิ่น พร้อมสั่งการกรมพัฒน์ฯ ให้เป็นวาระหลักที่ต้องเร่งดำเนินการสร้างความเข้มแข็ง...ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือเต็มที่ เพราะโชวห่วยไม่ใช่เป็นแค่ร้านขายสินค้าทั่วไป แต่เป็นแหล่งพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และเป็นสถานที่กระจายสินค้าอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนในท้องถิ่น
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการร้านค้าปลีกในจังหวัดหนองคายว่า การลงพื้นที่พบปะและตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการร้านค้าโชวห่วย ส่วนตัวรู้สึกเป็นห่วงผู้ประกอบการกลุ่มนี้อย่างมาก จึงต้องการลงมารับฟังปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะของร้านค้าด้วยตนเอง และพร้อมที่จะนำความเห็นนั้นมาดำเนินการช่วยเหลือให้เห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน โดยเบื้องต้นได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าผลักดันให้เป็นวาระหลักที่ต้องเร่งดำเนินการ ให้การสนับสนุนส่งเสริม เพิ่มพูนทักษะความรู้ด้านการจัดการร้านค้า และให้การช่วยเหลือด้านอื่นๆ อย่างเต็มที่ รวมถึงการสร้างจุดแข็งให้ร้านค้าโชวห่วย ซึ่งแนวทางหนึ่งที่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Niche market) เช่น สินค้าฮาลาลในพื้นที่ภาคใต้ที่มีผู้บริโภคชาวมุสลิมเป็นจำนวนมาก อีกทั้ง ยังเป็นการเชื่อมโยงสินค้าฮาลาลกับช่องทางร้านค้าโชวห่วย ซึ่งไม่เพียงแต่จะสอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาลในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนการใช้จ่ายในระดับภูมิภาค ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคง สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองกับสังคมท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
ร้านค้าโชวห่วยที่ลงตรวจเยี่ยม คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ต.โต๊ดการค้า ต.หนองกอมเกาะ อ.เมือง ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกต้นแบบที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาจากกระทรวงพาณิชย์ให้เป็นร้านสมาร์ทโชวห่วย มีพื้นที่ขนาดกลาง ประมาณ 300 ตารางเมตร จำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันกว่า 5,000 รายการ เป็นกิจการของคนไทย 100% มีเครือข่ายที่เป็นร้านค้าปลีกและร้านค้าโชวห่วยทั้งในและนอกอำเภอเมือง จากการพูดคุยพบว่าปัญหาส่วนใหญ่ของร้านค้าโชวห่วย คือ ไม่มีระบบการบริหารจัดการร้านค้าที่ดี การจัดร้านไม่เป็นระเบียบทำให้ลูกค้าหาสินค้าลำบาก ไม่มีระบบการตรวจเช็คสต็อกสินค้าทำให้บางครั้งสินค้าที่ซื้อมาจำหน่ายมีมากเกินความจำเป็นหรือสินค้าหมดอายุ และที่สำคัญ คือ ไม่สามารถจัดโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาซื้อสินค้าในร้านได้ ฯลฯ โดยหลังจากที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นร้านสมาร์ทโชวห่วยโดยมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการร้านค้าแล้ว ทำให้ยอดขายในร้านเพิ่มขึ้นประมาณ 10 - 15% ลูกค้าหาสินค้าได้ง่ายมากขึ้น บริหารสต็อกสินค้าเป็นระเบียบมากขึ้น พร้อมทั้งเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ร้านค้าโชวห่วยที่เป็นเครือข่ายด้วย ทำให้มีลูกค้าที่เป็นร้านค้าปลีกและร้านค้าโชวห่วยเพิ่มขึ้น และด้วยความที่เป็นร้านค้าปลีกจำหน่ายสินค้าให้แก่คนในท้องถิ่นด้วย ทำให้เข้าใจร้านค้าปลีกและร้านค้าโชวห่วยในพื้นที่ต่างๆ ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงมากขึ้น
ทั้งนี้ ร้าน ต.โต๊ดการค้า ได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการตลาด กิจกรรม "ค้าส่งรวมใจ โชวห่วยไทยคู่สังคม" และโครงการต่างๆ ของกระทรวงพาณิชย์มาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการรถโมบายพาณิชย์ลดราคา โครงการพาณิชย์ร่วมใจสู้ภัยโควิดหนองคาย เป็นต้น เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชนในท้องถิ่น ทำให้เกิดมูลค่าการซื้อขายเกือบ 10 ล้านบาท
โดยหลังจากที่ได้พูดคุยและตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการร้านค้าโชวห่วย ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งสรุปปัญหา-อุปสรรค และข้อเสนอแนะที่ได้รับ พร้อมหามาตรการสนับสนุนส่งเสริมร้านค้าปลีก-ค้าส่งเสนอที่ตนมาโดยเร็ว ให้เน้นความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมชัดเจน เกิดภาคีเครือข่ายธุรกิจ และสามารถผลักดันให้ธุรกิจโชวห่วยก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านค้าโชวห่วยเป็นหน่วยเศรษฐกิจที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และเป็นที่พึ่งของประชาชนทั้งช่วงระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และช่วงระยะการฟื้นฟู โดยเป็นทางเลือกในการเลือกซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็น เช่น ข้าวสาร น้ำมัน น้ำตาลทราย และของใช้ประจำวันอื่นๆ สำหรับประชาชนที่ต้องการหลีกเลี่ยงการเดินทาง และไม่ประสงค์ที่จะจับจ่ายใช้สอยในสถานที่แออัดหรืออากาศไม่ถ่ายเท เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของโรคระบาด ขณะเดียวกัน ร้านค้าโชวห่วยยังเป็นช่องทางสำคัญของรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชน ผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เช่น เราชนะ คนละครึ่ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ม.33 เรารักกัน รวมถึง เป็นแหล่งจ้างงานในชุมชนและช่องทางการกระจายสินค้าที่สำคัญในระดับท้องถิ่น ซึ่งในปี 2563 ร้านค้าโชวห่วยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกันกว่า 1.03 ล้านล้านบาท และมีปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจ ทั้งมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนมาซื้อสินค้าใกล้บ้านแทนการไปซื้อสินค้าในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้าย
#PoweredByDBD
***************************************
ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ ฉบับที่ 9 / วันที่ 15 ตุลาคม 2564