กรมพัฒน์ฯ นำกระบวนการอนุญาโตตุลาการ มาเป็นทางเลือกในการระงับข้อพิพาท ที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจ ไม่ต้องเสียเวลาไปจบปัญหาที่ศาล
กรมพัฒน์ฯ นำกระบวนการอนุญาโตตุลาการ มาเป็นทางเลือก
ในการระงับข้อพิพาท ที่อาจเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจ
ไม่ต้องเสียเวลาไปจบปัญหาที่ศาล
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center : THAC) จับมือลงนาม MOU ว่าด้วยการนำกระบวนการอนุญาโตตุลาการและการประนอมข้อพิพาท มาเป็นทางเลือกในการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจของประชาชน ลดการจบปัญหา ที่ศาล ซึ่งยืดเยื้อ เสียเวลาทำมาหากิน สามารถเริ่มธุรกิจใหม่ได้ไวขึ้น
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยภายหลัง MOU ในวันนี้ (วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2564) ว่า การประกอบธุรกิจย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอปัญหาความเห็นที่แตกต่างกัน ความไม่เข้าใจกัน จนกลายเป็นข้อพิพาทระหว่างผู้ที่มีส่วนได้เสียในการดำเนินธุรกิจ เช่น กรรมการ ผู้ถือหุ้น ลูกหนี้ เจ้าหนี้ รวมถึงผู้ให้หลักประกัน เมื่อคุยกันไม่ลงตัว เกิดการฟ้องร้องกันอยู่เป็นประจำ สุดท้ายต้องไป พึ่งศาลให้เป็นผู้ตัดสิน ซึ่งกว่าจะถึงบทสรุปได้ต้องใช้เวลายาวนาน และส่งผลเสียต่อชื่อเสียงของบริษัท คู่กรณี ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ และเป็นการทำลายสัมพันธภาพระหว่างหุ้นส่วน ผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจส่งผลให้ธุรกิจหยุดชะงักดำเนินการต่อไม่ได้
ด้วยเหตุนี้ กรมฯ และสถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center : THAC) จึงเล็งหาวิธีการที่จะช่วยลดปัญหาเหล่านั้นลงไปโดยไม่ต้องถึงศาล ซึ่งกระบวนการอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) คือ การระงับข้อพิพาททางเลือกนอกศาล หรือ การระงับข้อพิพาทโดยไม่ได้ให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน แต่ให้บุคคลที่สาม ที่มีความเป็นกลางและเป็นอิสระ เรียกว่า "อนุญาโตตุลาการ" ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องที่พิพาทเข้ามาเป็นผู้ทำการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทดังกล่าวและกำหนดให้คู่กรณีต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาด คล้ายกับการระงับ ข้อพิพาทโดยศาล เพียงแต่ไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดโดยศาล ซึ่ง "อนุญาโตตุลาการ" หรือ บุคคลที่สาม อาจเป็นบุคคลเดียวหรือ หลายบุคคลก็ได้
นายพสิษฐ์ อัศววัฒนาพร ผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการ กล่าวเสริมว่า "สำหรับการประนอมข้อพิพาท (Mediation) คือ กระบวนการระงับข้อพิพาทด้วยความตกลงยินยอมของคู่พิพาทก่อนเริ่มกระบวนการอนุญาโตตุลาการ โดยจะมีบุคคลที่สามมาเป็นคนกลางเรียกว่า "ผู้ประนอมข้อพิพาท" ทำหน้าที่ช่วยเหลือหาทางออกร่วมกันของผู้พิพาททั้งสองฝ่าย เพื่อนำมาสู่ข้อตกลงในการระงับข้อพิพาทร่วมกันอย่างเป็นมิตร (win-win solution) ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการ ของการระงับข้อพิพาททางเลือก เพียงแต่การประนอมนั้นจะไม่มีการตัดสินออกมาเป็นคำชี้ขาด และไม่ได้กำหนดแน่ชัดว่าใครเป็นคนถูก คนผิดที่ชัดเจนเหมือนกับกระบวนการอนุญาโตตุลาการ"
ข้อดีของการประนอมข้อพิพาทด้วยกระบวนการอนุญาโตตุลาการ คือ 1) สะดวก ขั้นตอนไม่ยุ่งยากและช่วยรักษาความสัมพันธ์ระหว่างคู่พิพาท 2) รวดเร็ว มีประสิทธิผล ใช้เวลาไม่นาน เพราะคู่พิพาทสามารถเลือกบุคคลที่จะทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการ หรือผู้ประนีประนอมข้อพิพาท จากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่อง ที่ตนพิพาทได้ ทำให้การรับฟังพยานหลักฐานและตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทสามารถทำได้รวดเร็ว 3) ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่ากระบวนการทางยุติธรรม 4) รักษาความสัมพันธ์ของคู่กรณี หากคู่พิพาทสามารถตกลงระงับข้อพิพาทกันได้จะทำให้ลดข้อขัดแย้ง ข้อโต้เถียงระหว่างกัน
5) รักษาชื่อเสียงและความลับทางธุรกิจของคู่พิพาท เนื่องจากพยานหลักฐานและข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถนำไปใช้เป็นพยานหลักฐานอ้างอิงในชั้นศาลได้ เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งจะยินยอม 6) ลดปริมาณข้อร้องเรียน และข้อพิพาทด้านการจดทะเบียน ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รวมทั้งคดีที่จะขอให้ นายทะเบียนเป็นพยานเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของศาล
จากนี้ไป ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันสนับสนุนให้มีการฝึกอบรม สัมมนา เพื่อพัฒนาบุคคลากรของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการระงับข้อพิพาทโดยกระบวนการอนุญาโตตุลาการ และการประนอมข้อพิพาท นอกจากนี้ยังจะช่วยกันส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร หรือองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการระงับข้อพิพาททางเลือก สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมพัฒนา-ธุรกิจการค้า 1570 และ สถาบัน THAC โทร.0 2018 1615
#PoweredByDBD
****************************************
ที่มา : กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ฉบับที่ 136 / 9 สิงหาคม 2564