จุรินทร์ เดินแผน "ช่วยSMEs" ดันผู้ประกอบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ"กลางแผนหนุน" ทั้งตลาดโลกและเจาะตลาดเป้าหมายเมืองรองหลายประเทศ ชู "ความร่วมมือ" ฟันฝ่าวิกฤติโควิด-19 ไปให้ได้
จุรินทร์ เดินแผน "ช่วยSMEs" ดันผู้ประกอบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ"กลางแผนหนุน" ทั้งตลาดโลกและเจาะตลาดเป้าหมายเมืองรองหลายประเทศ ชู "ความร่วมมือ" ฟันฝ่าวิกฤติโควิด-19 ไปให้ได้
วันที่ 25 สิงหาคม 2564 เวลา 13.00 น.
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานและปาฐกถาเรื่องวิกฤตโควิด SMEs จะ Move On ได้อย่างไร ในงานสัมมนาเส้นทางเศรษฐีออนไลน์ เรื่อง "MOVE ON ฝ่าวิกฤตโควิดเศรษฐกิจต้องเดินหน้า" ณ บริษัท ข่าวสด จํากัด ชั้น 1
นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตั้งแต่ตนมารับหน้าที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้จัดตั้ง กรอ.พาณิชย์ หรือคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ ขึ้นมาและต่อไป SMEs จะเข้ามามีส่วนร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในการขับเคลื่อนให้ SMEs ก้าวไปข้างหน้าต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยมี SMEs ประมาณ 3,100,000 ราย ซึ่งมากกว่า 90% ของธุรกิจทั้งประเทศเป็น SMEs และที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์มี 800,000 ราย ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก และมีความสำคัญกับทุกประเทศในโลก กลไกทางการค้าระดับโลก ก็ให้ความสำคัญกับ SMEs เช่น การประชุม APEC เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564 นิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพตนเป็นตัวแทนประเทศไทยในฐานะรัฐมนตรีการค้าแห่งประเทศไทย ที่ประชุมมีมติสำคัญเรื่องหนึ่งคือ SMEs ในการที่สมาชิกจะต้องให้การสนับสนุนการเสริมสร้างศักยภาพของ SMEs เช่นส่งเสริมโอกาสความเท่าเทียมและส่งเสริมให้เข้าถึงตลาดทั้งในและต่างประเทศ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการเพื่อส่งเสริมศักยภาพ ลดอุปสรรคทางการค้า เพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยี เงินทุน กลไกการชำระเงินข้ามพรมแดน ตลอดจนเข้าถึงข้อมูลด้านการตลาดและกฎระเบียบ เพื่อทราบสนับสนุน SMEs
โดยประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ APECในปีหน้า ประเด็นหนึ่งที่ได้กำหนดไว้เป็นหัวข้อคือจะผลักดันเรื่องการส่งเสริมศักยภาพ Micro SMEs ที่เป็นประเด็นสำคัญ แสดงให้เห็น SMEs มีความสำคัญกับทุกประเทศในโลก และในการประชุม RCEP 2 ปีที่ผ่านมานั้น ไทยก็เป็นเจ้าภาพตนเป็นประธานในที่ประชุมวันนั้นหัวข้อสำคัญที่ได้ออกแถลงการณ์ที่เป็นสาระสำคัญที่สุดอันหนึ่งว่าสมาชิกจะต้องร่วมกันส่งเสริมให้ SMEs มีส่วนร่วมในการค้ารูปแบบใหม่ เช่น อีคอมเมิร์ซโดยให้ความสำคัญกับการใช้ 1.เทคโนโลยี 2.นวัตกรรม 3.ทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้มีความพร้อมในการปรับตัวรองรับกับสถานการณ์การค้าโลกของ SMEs
กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับ SMEs นโยบายและโครงการที่เป็นรูปธรรมเช่น 1.โครงการจับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับร้านอาหาร เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้กับ SMEs หรือ Micro-SMEs โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก SME D Bank ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และ บสย. จัดดอกเบี้ยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขพิเศษ เงื่อนไขที่ผ่อนปรน และวันที่ 24 สิงหาคม 2564 สถาบันการเงินทั้งหมดอนุมัติเงินกู้เงื่อนไขพิเศษให้กับร้านอาหารไปแล้วถึง 2,500 ล้านบาท รวม 2,608 ราย เพื่อต่อลมหายใจให้ SMEsในภาวะวิกฤติโควิด และโครงการจับคู่กู้เงิน สถาบันการเงิน กับ SMEsส่งออก อนุมัติเงินกู้ให้ SMEsส่งออกที่มีอยู่ประมาณ 30,000 รายทั่วประเทศโดยอนุมัติไปแล้ว 500 ล้านบาทและทำต่อเนื่อง
"ได้สั่งการเป็นนโยบายว่าทีมเซลล์แมนจังหวัด ที่มีพาณิชย์จังหวัดเป็นผู้ประสานงานต้องบรรจุ SMEs หรือ Micro-SMEsในรูปหอการค้าจังหวัด YECหรือ Biz Club เป็นกรรมการทีมเซลล์แมนจังหวัดจะได้ช่วยกันขับเคลื่อนการตลาดให้สามารถกระจายพื้นที่โอกาสทางการตลาดได้ต่อ
สำหรับทีมเซลล์แมนประเทศที่ทูตพาณิชย์เป็นหัวเรือใหญ่ให้ช่วยหาตลาดให้กับ SMEsไทยที่มีศักยภาพในตลาดต่างๆและตลาดใหม่ที่เราสามารถแทรก SMEs เข้าไปได้" นายจุรินทร์ กล่าว
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อว่า ด้านองค์ความรู้ กระทรวงพาณิชย์จับมือกับแพลตฟอร์มใหญ่ๆหรือบริษัทที่มีเทคโนโลยีทำโครงการร่วมกันให้ความรู้กับนำเทคโนโลยีมาใช้ ส่งเสริมการตลาดการผลิตต่อไป โดยเฉพาะ 5G ที่มีความสำคัญจึงเป็นที่มาของการจับมือระหว่างสถาบันการอบรมของกระทรวงพาณิชย์กับหัวเว่ยมีผู้เข้ารับการอบรมนับ 1,000 ราย และกระทรวงพาณิชย์มีหลักสูตรกว่า 70 หลักสูตร ทั้งให้ความรู้ในเรื่องพื้นฐาน การค้าระหว่างประเทศ FTA การสร้างช่องทางการตลาด ให้ผู้ส่งออกและเครือข่ายและการอบรมการค้าหรือเศรษฐกิจกระแสใหม่ในยุค New Normal ใช้การค้าออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซมาเกี่ยวข้องอบรมให้ความรู้กับผู้สนใจไปแล้ว 66,700 รายในช่วง 2 ปีตั้งแต่ต้นมารับหน้าที่
และการสร้างแม่ทัพรุ่นใหม่ทางการค้าและการส่งออกให้กับประเทศ โครงการปั้น Gen Z เป็น CEO ร่วมมือกับ 93 สถาบันการศึกษาทั่วทั้งประเทศอบรมให้ความรู้การบริหารจัดการธุรกิจ การบัญชี ภาษาต่างประเทศ การเจรจาธุรกิจ หรือตลาดใหม่ตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปีนี้จะปั้น CEO Gen Z ให้ได้ไม่ต่ำกว่า 12,000 คน แต่ตอนนี้ มีสมัครเข้ามาถึง 16,500 คนและตนมั่นใจว่าภายในสิ้นปีเราจะอบรมให้ได้ครบทั้งหมด
ที่กระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศซึ่งจะกลายเป็นแม่ทัพการค้าทั้งในประเทศและบุกตลาดต่างประเทศต่อไปในอนาคต
และการลงลึก Mini FTA ระหว่างไทยกับบางประเทศที่มีหลายมณฑล หลายรัฐที่แต่ละรัฐบางครั้งใหญ่กว่าประเทศไทย เช่น จีน อินเดีย ประสบความสำเร็จแล้วที่ได้ลงนามไปแล้ว เช่น ไทยกับเมืองโคฟุของประเทศญี่ปุ่น เป็นเมืองอัญมณีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งและพัฒนาเทคโนโลยีด้านอัญมณีเครื่องประดับ จะเป็นโอกาสในอนาคตที่จะใช้ช่องทาง Mini FTA เป็นสิทธิพิเศษในการเข้าถึงตลาดต่อไป และเพิ่งเซ็น Mini FTA ไทย กับไห่หนานหรือมณฑลไหหลำของจีน มีศักยภาพทางเศรษฐกิจมหาศาลและจะเดินหน้าต่อไปคือ Mini FTA ระหว่างไทยกับรัฐเตลังกานาของอินเดีย SMEsไทยที่ประกอบกิจการไม้ยาง เฟอร์นิเจอร์ จะมีโอกาสไปเปิดตลาดเพราะที่นั่นต้องใช้มากและกำลังทำเฟอร์นิเจอร์ บ้าน และนโยบายรัฐบาลอินเดีย housing for all ที่ให้ทุกคนมีบ้าน จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะเข้าถึงตลาดอินเดียต่อไป
และด้านผลไม้ยังมีอนาคตต่อไปแต่ต้องเป็นผลไม้มีคุณภาพตลาดใหญ่ในโลกไม่เฉพาะจีน ล่าสุดท่านทูตชิลีสนใจอยากนำเข้าผลไม้ไทยสองตัวคือลองกองกับมังคุด และการผลิตเครื่องมือแพทย์ยังเป็นอนาคต เช่น ถุงมือยางเป็นที่ต้องการเยอะมากและภาคบริการที่ SMEs ยังมองเห็นอนาคตได้ในอนาคตเช่นการค้าออนไลน์หรือระบบอีคอมเมิร์ซ สร้างแพลตฟอร์ม เพื่อสนองความต้องการช่องทางตลาด คาดว่าหลังโควิดตลาดออนไลน์ยังมีอิทธิพลอยู่และดิจิตอลคอนเทนท์การทำสื่อโฆษณาออนไลน์ประเทศไทยมีศักยภาพสูงมาก
และที่สำคัญอีกอันคือการท่องเที่ยว วันหนึ่งเราจะกลับมาและตนไม่คิดว่าจะนานนัก เช่น "ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์" ทำให้พอมองเห็นภาพตนเสนอขยายไปเป็น "อันดามันแซนด์บ็อกซ์" ภูเก็ต พังงา กระบี่ และท่องเที่ยวยังเป็นอนาคตวันข้างหน้าและที่สำคัญจะต้องเดินหน้าสำหรับท่องเที่ยวประเทศไทยคือต้องท่องเที่ยว SMEs และใช้ท่องเที่ยวชุมชนเพื่อกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนให้กลายเป็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนและเป็นนโยบายที่ต้องขับเคลื่อนต่อไป และบริการสุขภาพทั้งสปา การบริการทางการแพทย์ และ SMEsด้านการเงิน FinTech E-Payment เป็นต้น
" ขออวยพรให้ทุกท่านโชคดี มั่นใจว่าภายใต้ความร่วมมือของพวกเราทุกคนเราจะสามารถจับมือกันฟันฝ่าวิกฤติโควิด-19นี้ไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองต่อไปในอนาคตได้ด้วยกัน" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว