กรมพัฒน์ฯ เดินหน้าขับเคลื่อนแพลตฟอร์มกลาง "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด"
กรมพัฒน์ฯ เดินหน้าขับเคลื่อนแพลตฟอร์มกลาง "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด"
ช่วยเกษตรกรจำหน่ายผลิตผลในรูปแบบ B2B ...คิกออฟเกษตรกรนำร่อง : กลุ่มสหกรณ์ 40 ราย
คาด!! เริ่มซื้อขายเดือนมิถุนายน 2564
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ผนึกกำลัง 23 หน่วยงาน เดินหน้าผลักดันสร้างแพลตฟอร์มกลาง "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด" ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ช่วยเกษตรกรจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ในรูปแบบ B2B ลดปัญหาสินค้าล้นตลาด สร้างโอกาสและขยายตลาดสินค้าเกษตรในระยะยาว คิกออฟเกษตรกรนำร่อง : กลุ่มสหกรณ์ 40 ราย จาก 25 จังหวัด เตรียมขายสินค้าผ่าน Thaitrade.com รองรับผู้ซื้อต่างประเทศ และ Phenixbox.com รองรับผู้ซื้อในประเทศ คาด!! เริ่มซื้อขายได้ประมาณเดือนมิถุนายน 2564
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างแพลตฟอร์มกลาง "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด" ซึ่งมีอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์) เป็นประธาน อนุกรรมการร่วมว่า "จากการรับทราบปัญหาของสินค้าเกษตรและความต้องการของเกษตรกร จึงมีแนวทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรล้นตลาดที่ออกตามฤดูกาลจำนวนมากและตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกร โดยจัดให้มีแพลตฟอร์มกลาง "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด" ซึ่งเป็นตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับซื้อขายสินค้าเกษตรในรูปแบบการค้าแบบ B2B (Business-to-Business) เป็นการซื้อขายสินค้าเกษตรปริมาณมากในแต่ละครั้ง ช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาพบกัน ทำให้เกิดตลาดใหม่ๆ ในการจำหน่ายสินค้าเกษตรทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากเดิม สำหรับแพลตฟอร์มแบบ B2C (Business-to-Consumer) มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนดำเนินการอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องจัดทำขึ้นมาใหม่ เกษตรกรที่มีความพร้อมในการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ในลักษณะขายปลีกสามารถเลือกใช้บริการได้เลย ซึ่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดำเนินการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการสินค้าเกษตรในการเพิ่มช่องทางการค้าออนไลน์อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว"
อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า "การจัดให้มีแพลตฟอร์มกลางฯ ดังกล่าว ช่วยต่อยอดจากการซื้อขายสินค้าเกษตรรูปแบบเดิมที่เคยทำมาก่อน ช่วยแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรในรูปแบบต่างๆ และตอบสนองความต้องการของเกษตรกรได้อย่างตรงจุด คือ ต้องมีข้อมูลความต้องการขายสินค้าเกษตร (Supply) โดยมีการคัดเลือกกลุ่มสินค้าที่มีความพร้อมเป็นกลุ่มเป้าหมายเพื่อทดลองและเป็นต้นแบบให้กับกลุ่มสินค้าเกษตรอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มสหกรณ์ กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีผู้จัดการกลุ่มคอยช่วยเหลือและทำหน้าที่บริหารจัดการสินค้าภายในกลุ่มอย่างเป็นระบบ และสินค้ามีมาตรฐาน ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรนำร่อง (Quick Win) กลุ่มแรก ได้แก่ กลุ่มสหกรณ์ที่มีศักยภาพและมีความพร้อม 40 ราย จาก 25 จังหวัด ครอบคลุม 4 ภูมิภาค ประกอบด้วยสินค้าที่หลากหลาก อาทิ ข้าว ไข่ไก่ เนื้อโคขุน น้ำนม ผัก ผลไม้ กาแฟ และสินค้าแปรรูปจากยางพารา"
"นอกจากข้อมูลด้านความต้องการขายสินค้าเกษตร (Supply) แล้ว แพลตฟอร์มกลางฯ นี้ จะต้องมีข้อมูลความต้องการซื้อสินค้าเกษตร (Demand) ที่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสินค้าในปริมาณมากในแต่ละครั้ง ต้องการสินค้าเกษตรเพื่อไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารหรืองานบริการ เช่น สมาคมการค้าต่าง ๆ (โรงแรม ร้านอาหาร โรงงาน) รวมถึง ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศ ผ่านสำนักงานพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ในต่างประเทศ ทั้งนี้ แพลตฟอร์มกลางฯ นี้ยังสามารถซื้อ-ขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (Pre-order) เพื่อให้ผู้ที่มีอุปสงค์และอุปทานสินค้าเกษตรได้พบกันและสามารถซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าได้ ผ่านระบบการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) การเจรจาทางธุรกิจ (Biz Chat) และการยื่นคำขอเสนอซื้อขายสินค้า (Request) ซึ่งจะต้องมีการกำหนดคุณลักษณะ หมวดหมู่สินค้า และมาตรฐานสินค้าที่ต้องการ (Quality Control) ต่อไป"
"คณะอนุกรรมการฯ มีมติเห็นชอบพัฒนาต่อยอดแพลตฟอร์มที่มีอยู่แล้วในลักษณะการซื้อขายแบบ B2B ได้แก่ Thaitrade.com (ตลาดค้าส่งระดับโลกของไทย) ที่รองรับผู้ซื้อต่างประเทศ และ Phenixbox.com (ศูนย์ค้าส่งครบวงจรของเอกชน) ที่รองรับผู้ซื้อในประเทศ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที โดยจะมีการสร้างหน้าสินค้าเกษตรเฉพาะ "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด" เพื่อทดสอบว่าการขายสินค้าเกษตรประสบผลสำเร็จหรือไม่อย่างไร ซึ่งนอกจากการนำสินค้าเกษตรขายบนช่องทางออนไลน์แล้ว กรมฯ ยังมีแผนจะจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจออนไลน์ (Online Business Matching) จากคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสขยายตลาดให้เกษตรกรไทยอีกด้วย" อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ข้อมูลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ปี 2562 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) พบว่า กลุ่มธุรกิจ e-Commerce ของไทยมีอัตราการเติบโตที่น่าจับตามอง มีมูลค่าการเติบโตอยู่ที่ 3,767,045 ล้านบาท โดยธุรกิจประเภท B2C ไทยเติบโตครองแชมป์อันดับ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งกลุ่ม B2B ของไทยยังคงครองแชมป์ e-Commerce ที่สามารถสร้างมูลค่าได้สูงสุดถึง 6 ปีซ้อน
#PoweredByDBD
**************************************************
ที่มา : กองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ฉบับที่ 92 / วันที่ 29 เมษายน 2564