ช่วยผู้ประกอบการรายย่อย ! จุรินทร์ จับมือหลายหน่วยงานรัฐ ช่วย SME รอดโควิด-19 ลุยงานจัดแสดงสินค้า Smart SME Expo 2020 พร้อมประกาศหนุน SME ปรับตัวเพื่อส่งออก

ช่วยผู้ประกอบการรายย่อย ! จุรินทร์ จับมือหลายหน่วยงานรัฐ ช่วย SME รอดโควิด-19
ลุยงานจัดแสดงสินค้า Smart SME Expo 2020 พร้อมประกาศหนุน SME ปรับตัวเพื่อส่งออก
 
วันที่ 29 ตุลาคม 2563 เวลา 11.00 น.
 
                                            นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานในพิธีเปิดงาน Smart SME Expo 2020 ณ ฮอลล์ 9-10 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี ทั้งนี้เพื่อเดินหน้าตามนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดเล็กให้มีพื้นที่ทางด้านการตลาด
 
                                         โดยงานนี้นายจุรินทร์ กล่าวว่า SME นั้นเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจฐานรากของประเทศมีผู้ประกอบการรวมกัน ประมาณ 3 ล้านรายคิดเป็นร้อยละ 95 ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาต้องถือว่า SME นั้นมีบทบาทสำคัญในการสร้างงาน กระจายรายได้ และถือเป็นฐานการผลิตที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง รวมทั้งการที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นภาคการส่งออกที่ทวีความสำคัญยิ่งขึ้นเป็นลำดับในอนาคต และบทบาทของ SME มาประสบปัญหาอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่นเดียวกับหลายภาคการผลิตคือเผชิญกับสถานการณ์โควิด ไม่เฉพาะ SME ในประเทศไทย แต่ประสบกันทั้งโลก เพราะฉะนั้นผลิตภัณฑ์มวลรวมของ SMEในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าติดลบ แต่ไม่ได้แปลว่าวันข้างหน้าจะเป็นบวกไม่ได้เพราะสถานการณ์โควิดไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป หรือถ้าเราพลิกโควิดเป็นโอกาสได้ SME ก็มีโอกาสที่จะฟื้นตัวและเติบโตต่อไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศได้
 
                                         " กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการตลาด ผมมีนโยบายชัดเจนที่ต้องการสร้างความร่วมนอกจากทำให้ SME เป็นภาคการผลิตที่มีศักยภาพแล้ว ต้องพัฒนาให้มีศักยภาพทางด้านการตลาด โดยใช้ยุทธศาสตร์ "ตลาดนำการผลิต" เมื่อรัฐบาลชุดนี้เข้ามาจะเห็นว่ากระทรวงเกษตรฯกับกระทรวงพาณิชย์ จับมือกันในการสร้างวิสัยทัศน์ "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด" ดังนั้นSMEภาคการผลิตก็ต้องไปตามแนวนี้เหมือนกัน การจะเดินหน้าให้ประสบความสำเร็จที่สำคัญคือเทคโนโลยีต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น สำหรับภาคการผลิตไม่ว่าภาคส่วนไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SME" นายจุรินทร์ กล่าว
 
                                         รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เมื่อวานนี้ 28 ตุลาคม 2563 ไปเป็นประธานโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงพาณิชย์โดยสถาบันพัฒนาการค้ายุคใหม่ของกระทรวงพาณิชย์ในการลงนาม MOU ร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีชื่อเสียงระดับโลกคือบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี ตั้งเป้าหมายร่วมกันว่าเราจะช่วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาภาคการผลิตและภาคการตลาดให้ SME สามวันที่ผ่านมาก็ได้มีการอบรมให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีทั้งเทคโนโลยี 5G, iot (Internet of Things) รวมถึงระบบคลาวด์จะเป็นที่เก็บข้อมูลขนาดใหญ่ของโลกและของ SME เพื่อนำมาใช้ได้ทุกที่ทุกเวลาอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลต่อไป
 
                                        "ใน 3 วันที่ผ่านมาอบรมไป 250 คน ที่สำคัญคือ เด็กรุ่นใหม่ที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยกำลังจะเรียนจบและเด็กรุ่นใหม่ที่มีความใฝ่ฝันที่อยากจะเป็นนายตัวเอง ส่วนใหญ่เด็กรุ่นนี้ไม่คิดจะไปทำงานองค์กร ทุกคนฝันจะเป็นเจ้าของกิจการฝันจะเป็น CEO กระทรวงพาณิชย์จึงมีนโยบายสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือเราต้องการปั้นเด็ก GenZ เป็น CEO หรือที่เรียกว่า CEO GenZ และจะร่วมกับหัวเว่ยและบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอื่นๆต่อไปปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล ในการนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ในการพัฒนาตนเองให้เป็น CEO ต่อไป ตั้งเป้าหมายว่าปีนี้จะทำให้ได้ 12,000 คน ได้เริ่มต้นไปแล้วมหาวิทยาลัยในภาคเหนือ 7 มหาวิทยาลัยร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์จัดอบรมชุดแรกไปแล้ว 1,500 คน จะทำต่อไปในภาคอื่นให้ครบ 12,000 คน เพื่อให้ CEO GenZ เป็นทัพหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศยุคโควิดและหลังโควิดในอนาคต และกลุ่มนี้ถ้าไม่ไปทำสตาร์ทอัพก็ต้องมาทำ SME สุดท้ายก็จะมาเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศต่อไปในอนาคต หัวใจสำคัญต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการตลาด" นายจุรินทร์ กล่าว
 
                                          นายจุรินทร์ ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ จึงมีนโยบายและมีหลักสูตรในการที่ต้องการพัฒนาทางการตลาดให้เข้าใจทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะยุคโควิด-19 ถ้าใครใช้ออนไลน์ไม่เป็น ใครทำอีคอมเมิร์ซไม่ได้เพื่อนก็ก้าวล้ำหน้าไป ดังนั้นหลักสูตรของกระทรวงพาณิชย์นั้นมีทั้งหลักสูตรหลักสูตรพื้นฐาน หลักสูตรธรรมดา ปานกลางและหลักสูตรเข้มข้น ที่จะมาอบรมให้เข้าใจจนลึกซึ้งสุดท้ายส่งออกได้ตามลำดับ นอกจากเราต้องให้องค์ความรู้ทางด้านการตลาดกับ SME แล้ว ต้องให้ โอกาสการเข้าจัดแสดงสินค้าในต่างประเทศ อย่างน้อยเวลาจัดงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ เราจะเปิดพื้นที่ 10 -15% เป็นโอกาสให้ SME หรืองานจัดแสดงสินค้าในตลาด CLMV และมาเลเซีย ต้องเปิดพื้นที่ให้กับ SME ในภาคต่างๆ มีโอกาสได้มาแสดงสินค้าในงานของกระทรวงพาณิชย์
 
                                           สำหรับงานวันนี้ ถือว่าสอดรับนโยบายยุคโควิด-19 ของกระทรวงพาณิชย์ที่ชัดเจน คือการปรับรูปแบบการจัดงานแสดงสินค้าซึ่งเราทำไปแล้วและกลายเป็นต้นแบบสำคัญของโลกที่หลายประเทศจะเอาไปใช้คือรูปแบบการจัดงานแสดงสินค้าหรือเจรจาการค้าแบบไฮบริด คือผสมผสานทั้งแบบ Online ผสม On ground และรูปแบบที่เรียกว่า Mirror Mirror คือ รูปแบบที่ให้ทูตพาณิชย์ ของกระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่เซลล์แมนประเทศ ไปเจรจากับผู้นำเข้าในประเทศต่างๆแล้วจับคู่ธุรกิจในประเทศไทย เพราะเดินทางไม่ได้เนื่องจากติดโควิดใช้ระบบออนไลน์ เจรจากับผู้ส่งออกไทย ผ่านระบบเทคโนโลยีและลงนามสัญญาซื้อขายส่งออกกันได้ เรียกว่ารูปแบบผสม ซึ่งการจัดงาน Smart SME Expo 2020 นั้น นำมาผสมผสานกันทั้ง Online และ On ground ขอแสดงความชื่นชมในความทันสมัยทันสถานการณ์ของงานในวันนี้
 
                                            รายงานจากการจัดงาน Smart SME Expo 2020 รุบุว่านายจุรินทร์และคณะประกอบด้วย นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับหน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบการ ตัวแทนธนาคารที่สนับสนุนเงินกู้ SME ร่วมกันชมการจัดแสดงสินค้า โดยงานอยู่ที่เมืองทองธานี ระหว่าง 29 ตค.-1พย.2563 นี้