พาณิชย์ เดินหน้าเต็มสูบขานรับนโยบาย "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาดผลักดันเกษตรกรไทยเข้าสู่ตลาดการค้าออนไลน์ ยกระดับผลผลิตเกษตรกรโกอินเตอร์ไปต่างประเทศ
พาณิชย์ เดินหน้าเต็มสูบขานรับนโยบาย "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด
ผลักดันเกษตรกรไทยเข้าสู่ตลาดการค้าออนไลน์ ยกระดับผลผลิตเกษตรกรโกอินเตอร์ไปต่างประเทศ
พาณิชย์ เดินหน้าผลักดันเกษตรกรไทยเข้าสู่ตลาดออนไลน์ ร่วมมือสภาเกษตรกรแห่งชาติ และ Shopee ขานรับนโยบาย เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด ชวนเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และผู้ส่งออก ร่วมอบรมปรับวิธีคิด เปลี่ยนแนวทางการตลาด เน้นเติบโตบนแพลตฟอร์มออนไลน์ สร้างความเข้มแข็ง ยกระดับสู่ความเป็นมืออาชีพ ก่อนก้าวไปสู่ตลาดต่างประเทศ พร้อมเรียนรู้เคล็ดลับปรับตัวให้อยู่รอดได้ในยุค New Normal
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการขายสินค้าเกษตรออนไลน์เป็นช่องทางและโอกาสทางการตลาดที่สำคัญในการขยายฐานตลาดภายในประเทศสู่ตลาดต่างประเทศ การส่งเสริมให้เกษตรกรมีช่องทางในการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร และพัฒนาช่องทางการค้าขายผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ
กระทรวงพาณิชย์ มีนโยบาย เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด จึงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบาย โดยได้ร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ และ Shopee แพลตฟอร์ม e-Commerce มืออาชีพ จัดอบรมหลักสูตรการเรียนรู้ทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) ของแพลตฟอร์ม Shopee ภายใต้ Shopee e-Learning ให้กับกลุ่มเกษตรกรจากสภาเกษตรกรแห่งชาติกว่า 100 ราย เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรไทยมีความรู้ด้านการค้าออนไลน์ พัฒนาสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาด สามารถสร้างร้านค้าบนช่องทางออนไลน์ และขยายฐานกลุ่มลูกค้าได้อย่างไม่จำกัด ซึ่งขณะนี้ มีกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนผู้ส่งออก เข้าร่วมโครงมากกว่า 50 ราย และมีสินค้าขึ้นจำหน่ายแล้วกว่า 100 รายการ
สำหรับหลักสูตรที่ใช้ในการสอนนั้น กลุ่มเกษตรกรใช้ระยะเวลาการเรียนรู้ผ่านโทรศัพท์มือถือเพียง 30 นาที ก็สามารถมีร้านค้าออนไลน์ได้ทันที นอกจากนี้กรมฯ ยังได้มีการบูรณาการร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดโครงการ Thai Fruits Golden Months ส่งเสริมช่องทางออนไลน์สำหรับจำหน่ายสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกผลไม้สดเกรดพรีเมียมหลายส่วนที่ไม่สามารถส่งออกไปขายยังตลาดในต่างประเทศได้ โดยสามารถซื้อผลไม้ดังกล่าวได้จากแพลตฟอร์ม e-Marketplace ชั้นนำ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพด้านการตลาดและการกระจายผลผลิตไปสู่ตลาด ตลอดจนเตรียมความพร้อมเพื่อแสวงโอกาสจากการค้าเสรี
เมื่อโลกเปลี่ยน การทำเกษตรยุคใหม่จึงต้องมองให้ครบรอบด้าน ตั้งแต่ต้นทางการผลิตไปจนถึงตลาดปลายทาง ตลอดจนให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้บริโภค และรู้จักใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยยกระดับธุรกิจ รมช.พณ. กล่าวสรุป
สำหรับภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) ในปี 2562 มีสัดส่วนมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเฉพาะ B2C (Business-to-Consumer) และ C2C (Consumer-to-Consumer) พบว่าช่องทาง e-Marketplace มีสัดส่วนร้อยละ 47 (103,400 ล้านบาท) เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 35 (57,155 ล้านบาท) Social Commerce มีสัดส่วนลดเหลือร้อยละ 38 (83,600 ล้านบาท) จากปีที่ผ่านมา มีสัดส่วนร้อยละ 40 (65,320 ล้านบาท) ส่วนช่องทางทางเว็บไซต์ลดเหลือร้อยละ 15 (33,000 ล้านบาท) จากปีที่ผ่านมามีสัดส่วนร้อยละ 25 (40,825 ล้านบาท)
#วีรศักดิ์ดูแล #WeerasakTakeCare
*************************************
ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กองพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ฉบับที่ 129 / วันที่ 24 มิถุนายน 2563