กรมพัฒน์ฯ แนะช่องทางลงทุนให้ธุรกิจและผู้ที่กำลังมองหารายได้เสริมด้วยโมเดลแฟรนไชส์ ช่องทางด่วนของการสร้างธุรกิจให้เติบโต

กรมพัฒน์ฯ แนะช่องทางลงทุนให้ธุรกิจและผู้ที่กำลังมองหารายได้เสริมด้วยโมเดลแฟรนไชส์
ช่องทางด่วนของการสร้างธุรกิจให้เติบโต
 
                                            กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หนุน...โมเดลแฟรนไชส์ช่วยสร้างรายได้ให้เจ้าของธุรกิจและผู้ที่มองหาช่องทางลงทุน แต่ก่อนที่จะลุยความรู้จะต้องแน่นก่อน จึงได้จัดงาน 'สัมมนาเสริมสร้างความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์' เพื่อทำความเข้าใจถึงวิธีบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์อย่างเป็นระบบต้องทำอย่างไร และจะเลือกลงทุนอย่างไรไม่ให้พลาด พร้อมฟังประสบการณ์ตรงจากเจ้าของแฟรนไชส์ที่ประสบความสำเร็จแล้วตัวจริง
 
                                           นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้จัดงาน 'สัมมนาเสริมสร้างความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์' จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 ตุลาคม 2562 ณ ศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชั้น 6 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า การจัดสัมมนาฯ ในครั้งนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้ประกอบธุรกิจจากหลากหลายสาขา และผู้สนใจจะลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์สมัครเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนกว่า 100 ราย กรมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องการจะก้าวสู่การเป็นแฟรนไชส์ซอร์ โดยเน้นความรู้ด้านการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ตลาดการแข่งขันจริง รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจในการขยายธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์ รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ที่สนใจจะลงทุนในระบบแฟรนไชส์หรือแฟรนไชส์ซีให้สามารถนำข้อมูลไปใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อแฟรนไชส์ ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยทำให้เริ่มธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าการเริ่มต้นธุรกิจจากศูนย์ด้วยตนเอง
 
                                         รองอธิบดี กล่าวต่อว่า "สำหรับหัวข้อในการสัมมนาได้รับเกียรติจากวิทยากรจากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ทรงอิทธิพลด้านการทำธุรกิจแฟรนไชส์ ได้แก่ บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน), Otteri ร้านสะดวกซัก บริการ 24 ชั่วโมง, ฟีนิกซ์ ลาวา ร้านซาลาเปาลาวา, ร้าน Cafe Amazon นอกจากนี้ยังได้พบกับผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการเงินและนักวิชาการ ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เข้าร่วมบรรยายและเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์เชิงลึกในหัวข้อ การปรับกลยุทธ์ธุรกิจในยุค Disruption, การสร้างโอกาสการลงทุนด้วยธุรกิจแฟรนไชส์, เส้นทางสู่ความสำเร็จด้วยธุรกิจแฟรนไชส์, การวางแผนกลยุทธ์และรูปแบบธุรกิจในระบบแฟรนไชส์, ธรรมาภิบาลกับธุรกิจแฟรนไชส์ รวมถึงสิทธิประโยชน์และแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการของภาครัฐ"
 
                                         "นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีกำหนดจัดงานสัมมนาฯ ในส่วนภูมิภาคอีก 3 จังหวัดในเดือนพฤศจิกายน 2562 คือ จังหวัดนครราชสีมา (6 พ.ย.62), เชียงใหม่ (12 พ.ย.62) และสงขลา (15 พ.ย.62) ผู้สนใจสามารถสมัครได้ที่ www.dbd.go.th เลือกหัวข้ออบรม/สัมมนา ทั้งนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์ถือเป็นธุรกิจสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ของไทยเพราะเป็นโมเดลธุรกิจที่ครอบคลุมตั้งแต่แฟรนไชส์ขนาดเล็กที่พบได้ตามหน้าร้าน (Kiosk) หรือ Food truck ในแหล่งชุมชน แฟรนไชส์ขนาดกลางที่อยู่ในศูนย์การค้าและสถานีเติมน้ำมัน แฟรนไชส์ขนาดใหญ่ที่อยู่บนห้างสรรพสินค้า รวมถึงแฟรนไชส์ที่สามารถออกสู่ตลาดต่างประเทศได้ กรมฯ จึงให้ความสำคัญในการส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์ไทยให้มีความเข้มแข็ง และสามารถบริการจัดการธุรกิจบนมาตรฐานสากลได้ โดยข้อมูลจาก Thai Franchise Center ในปี 2562 ประเทศไทยมีธุรกิจแฟรนไชส์ไทย 580 กิจการ ธุรกิจที่ได้รับความนิยมใน 3 อันดับแรกคือ อาหาร 138 กิจการ เครื่องดื่ม/ไอศครีม 134 กิจการ และการศึกษา 102 กิจการ และหากมองย้อนไป 2 ปีหลังจะพบว่าธุรกิจดังกล่าวมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด จึงเป็นโอกาสทองของ ผู้ประกอบธุรกิจไทยที่จะต้องเร่งพัฒนาธุรกิจของตัวเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดนั่นเอง" รองอธิบดี กล่าวทิ้งท้าย
 
********************************
ที่มา : กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ                                                  ฉบับที่ 16 / 29 ตุลาคม 2562