"วีรศักดิ์" เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น...เบี่ยงหน้าลงใต้...พูดคุยนักธุรกิจในพื้นที่

"วีรศักดิ์" เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น...เบี่ยงหน้าลงใต้...พูดคุยนักธุรกิจในพื้นที่
 
                                          รมช.พาณิชย์ เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ครั้งนี้เบี่ยงหน้าลงใต้พูดคุยนักธุรกิจ-วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ รับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ ทลายทุกข้อจำกัด เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการภาคใต้ให้เข้มแข็ง ดึงจุดแข็งวิถีชุมชน...จริงใจ รักใครรักจริง...เชื่อมต่อธุรกิจบริการ เชื่อมั่นในศักยภาพชาวใต้ที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม เพียงภาครัฐสร้างโอกาส เข้าถึง... เข้าใจ... เศรษฐกิจท้องถิ่นใต้รุ่งเรือง...เฟื่องฟู แน่นอน
 
                                           นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ระหว่างวันที่ 11 - 12 ตุลาคม 2562 นี้ ได้ลงพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดพัทลุง เพื่อพบปะพูดคุยกับนักธุรกิจและวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ โดยต้องการรับฟังปัญหา-อุปสรรคในการประกอบธุรกิจที่มีความแตกต่างกันออกไป รวมถึง มุมมองการพัฒนาภาคใต้ของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์และภารกิจหลักที่ตั้งใจทำตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง โดยการลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการทั่วประเทศ เนื่องจากการพบปะพูดคุยเพื่อให้เข้าใจถึงปัญหา-อุปสรรคของผู้ประกอบการอย่างถ่องแท้ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการนำมาพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นให้มีความเจริญก้าวหน้า ทลายทุกข้อจำกัด โดยต้องดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งหากภาครัฐสามารถพัฒนาทั้ง 2 ส่วนให้เติบโตไปพร้อมกัน มั่นใจว่าเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะมีความมั่นคงและแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น"
 
                                           "สาระสำคัญ คือ การจับเข่าคุยกับผู้ประกอบการท้องถิ่นทุกระดับ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และภาคประชาชน เพื่อนำความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะมาประยุกต์และดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ตามประเภทคลัสเตอร์ธุรกิจ โดยดึงวิถีชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของชาวใต้ คือ "จริงใจ รักใครรักจริง" มาเชื่อมต่อกับธุรกิจบริการ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องใช้ความจริงใจเป็นแก่นหลักในการให้บริการ จึงจะสามารถสร้างความประทับใจและมัดใจลูกค้าให้กลับมาใช้บริการอีกครั้ง นอกจากนี้ ภาคใต้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่งดงามเป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้บริโภคให้เข้ามาท่องเที่ยว ซึ่งไม่เพียงเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวเท่านั้นที่จะได้รับประโยชน์ แต่ธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ธุรกิจเช่ารถ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่น ฯลฯ ล้วนแล้วแต่ได้รับประโยชน์ด้วยกันทั้งสิ้น ทำให้นอกจากธุรกิจการเกษตรที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่นแล้ว ธุรกิจบริการจึงเป็นอีกประเภทธุรกิจที่สร้างรายได้เข้าท้องถิ่นใต้ได้เป็นอย่างมาก"
 
                                          รมช.พณ.กล่าวต่อว่า "นอกจากนี้ ได้ตรวจเยี่ยมสถานประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาจากกระทรวงพาณิชย์ ได้แก่ ร้านอาหารที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP Select ชุมชนควนขนุน ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมกระจูด จังหวัดพัทลุง (ที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาให้เป็น Smart Village Online) รวมทั้ง บริษัท ริชชี่ ไรซ์ โปรดักส์ จำกัด ที่ได้นำ "ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง" ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่ได้รับการรับรองให้ขึ้นทะเบียนเป็น "สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI" มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อจำหน่ายในประเทศ และส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน"
 
                                      "โดยหลังจากที่ได้รับฟังและพูดคุยถึงรายละเอียด ปัญหา อุปสรรค และผลการตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการในพื้นที่แล้ว จะได้เร่งสรุปปัญหา-อุปสรรค พร้อมนำข้อเสนอแนะต่างๆ มาดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้แบบครบวงจรต่อไป โดยเน้นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้ง องค์กรต่างประเทศ เพื่อร่วมกันผลักดันให้เศรษฐกิจภาคใต้มีความเข้มแข็ง เติบโตบนพื้นฐานของวิถีชุมชน ซึ่งผลจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ทำให้เห็นว่า "เศรษฐกิจภาคใต้" ยังสามารถเติบโตได้อีกมาก เนื่องจาก มีปัจจัยแวดล้อมหลากหลาย เช่น สถานที่ท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ฯลฯ ที่เอื้อต่อการดึงดูดนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศให้เดินทางเข้ามาเลือกลงทุนในธุรกิจประเภทต่างๆ ซึ่งเมื่อทุกปัจจัยผนวกเข้ากันแล้ว ภาคใต้ของไทยจึงเปรียบเสมือน "เพชรเม็ดงาม" ที่ภาครัฐควรให้ความสนใจ ใส่ใจ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยขั้นพื้นฐานต่างๆ ของผู้ประกอบการ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นภาคใต้เจริญเติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืน" รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้าย
 
#วีรศักดิ์ดูแล
#WeerasakTakeCare
 
********************************************
ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า                                               ฉบับที่ 6 / วันที่ 12 ตุลาคม 2562