พาณิชย์ ประสานพันธมิตรภาคเอกชน กำหนดมาตรการช่วยเหลือร้านโชวห่วยที่ประสบภัยจากพายุโซนร้อนปาบึก
พาณิชย์ ประสานพันธมิตรภาคเอกชน กำหนดมาตรการช่วยเหลือร้านโชวห่วยที่ประสบภัยจากพายุโซนร้อนปาบึก
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประสานหน่วยงานพันธมิตรภาคเอกชน กำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุโซนร้อนปาบึก 4 จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการโชวห่วยในพื้นที่ทั้งรายเล็ก รายใหญ่ ตอกย้ำพื้นฐานคนไทย...มีน้ำใจ..ไม่ทิ้งกัน
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประสานหน่วยงานพันธมิตรภาคเอกชนเพื่อกำหนดและหามาตรการช่วยเหลือร้านโชวห่วยและผู้ประสบภัยจากพายุโซนร้อนปาบึก 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร และสงขลา เนื่องจากร้านโชวห่วยมีความใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่มากที่สุด เป็นแหล่งกระจายสินค้าสู่ชุมชน และมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง"
"ล่าสุด กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้หารือเพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือเยียวยาร้านค้าโชวห่วยในพื้นที่ที่ประสบภัย ร่วมกับ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทยเทรดดิ้ง จำกัด รวมทั้ง ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) โดยจะจัดทีมงานลงพื้นที่ช่วยเหลือในการจัดการร้านค้าโชวห่วยที่ได้รับความเสียหายจากพายุโซนร้อนปาบึก 4 จังหวัดภาคใต้ เพื่อให้ร้านค้าที่ได้รับผลกระทบสามารถฟื้นตัวจากความเสียหายได้อย่างรวดเร็ว และเปิดบริการประชาชนในพื้นที่ได้ทันที รวมถึงลดราคาสินค้าที่จำหน่ายให้กับร้านโชวห่วย เพื่อลดต้นทุนของร้านโชวห่วยอันจะเป็นการช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนในพื้นที่ ทำให้ซื้อสินค้าได้ในราคาที่ถูกลง ทำให้ร้านโชวห่วยและประชาชนได้รับผลกระทบเชิงเศรษฐกิจน้อยลง"
"และกรณีที่ร้านโชวห่วยได้รับความเสียหายจากพายุโซนร้อนปาบึกค่อนข้างมาก หรือต้องการปรับปรุงร้านค้า และต้องใช้เงินทุน กรมฯ ได้ประสาน SME D Bank เสนอสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ ดังนี้ บุคคลธรรมดา ปีที่ 1 - 3 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.42 ต่อเดือน และนิติบุคคล ปีที่ 1 - 3 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อเดือน"
"ทั้งนี้ มีร้านโชวห่วยในพื้นที่ 4 จังหวัดที่ประสบภัยฯ จำนวนทั้งสิ้น รวม 4 จังหวัด 53,753 ร้านค้า แบ่งเป็น จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 15,157 ร้านค้า จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 14,146 ร้านค้า จังหวัดชุมพร จำนวน 7,166 ร้านค้า และ จังหวัดสงขลา จำนวน 17,284 ร้านค้า
"นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสบภัยฯ และได้รับผลกระทบใน 23 จังหวัด ได้แก่ ภาคตะวันออก 4 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ภาคใต้ 16 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช ปัตตานี สุราษฎร์ธานี สงขลา นราธิวาส ชุมพร ตรัง พัทลุง ระนอง กระบี่ ยะลา เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สตูล ภูเก็ต พังงา และภาคกลาง 3 จังหวัด คือ สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมถึงเขตที่ได้รับผลกระทบอื่นๆ เพิ่มเติม โดยมีมาตรการช่วยเหลือธุรกิจใน 4 แนวทางหลัก ดังนี้"
"1) ผ่อนผันการแจ้งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีสูญหายหรือเสียหาย ซึ่งตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 กำหนดให้แจ้งภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบหรือควรทราบถึงการสูญหายหรือเสียหายให้สามารถยื่นล่าช้าและสามารถใช้เป็นหลักฐานกรณีถูกเรียกตรวจบัญชีได้ ทั้งนี้ ธุรกิจสามารถแจ้งบัญชีและเอกสารที่ใช้ประกอบการลงบัญชีสูญหายหรือเสียหายผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Permit) ได้ทางเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th
2) ผ่อนผันการยื่นงบการเงินประจำปี สำหรับธุรกิจที่มีหน้าที่ต้องยื่นงบฯ ในช่วงเกิดเหตุฯ โดยสามารถยื่นล่าช้ากว่าที่กฎหมายกำหนดได้ออกไปอีก 1 เดือน
3) ขยายระยะเวลาการยื่นจดทะเบียนนิติบุคคลที่ต้องยื่นจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจำกัดที่กฎหมายกำหนดยื่นภายในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 1 - 31 มกราคม 2562 และขยายระยะเวลาการส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ครบกำหนดส่งระหว่างวันที่ 1 - 31 มกราคม 2562 เมื่อเหตุฯ สิ้นสุดลงให้นิติบุคคลยื่นขอขยายระยะเวลาภายใน 15 วัน
4) จัดตั้งศูนย์บริการรับจดทะเบียน ณ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่ออำนวยความสะดวกในการยื่นขอจดทะเบียนให้กับนิติบุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ใน 23 จังหวัด ที่ประสบภัยฯ และจังหวัดที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม"
ทั้งนี้ ผู้ประสบภัยจากพายุโซนร้อนปาบึก ทั้งในส่วนของประชาชน ภาคธุรกิจ และธุรกิจโชวห่วย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการการช่วยเหลือฯ ได้ที่ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ หรือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สายด่วน 1570 หรือ http://www.dbd.go.th/
*******************************************
ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ฉบับที่ 39 / วันที่ 9 มกราคม 2562