การจดทะเบียนธุรกิจและการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
การจดทะเบียนธุรกิจและการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า แถลงข่าวการจดทะเบียนธุรกิจและการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประจำเดือน ธันวาคม 2561 และประจำปี 2561 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ผลการจดทะเบียนธุรกิจ
ธุรกิจจัดตั้งใหม่
- จำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่
เดือนธันวาคม มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศในเดือนธันวาคม 2561 จำนวน 4,102 ราย เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2561 จำนวน 5,539 ราย ลดลงจำนวน 1,437 ราย คิดเป็นร้อยละ 26 ซึ่งเป็นสถานการณ์ปกติของการจดทะเบียนในช่วงสิ้นปีที่มีลักษณะตามแนวโน้มฤดูกาล (Seasonal Trend) ที่ลดลง และเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2560 จำนวน 6,305 ราย ลดลงจำนวน 2,203 ราย คิดเป็นร้อยละ 35 เนื่องจากปีที่ผ่านมา การจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นมากจากมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลของกรมสรรพากร
ปี 2561 จำนวนธุรกิจตั้งใหม่สะสมตั้งแต่เดือน ม.ค. - ธ.ค. 61 มีจำนวน 72,109 ราย เมื่อเทียบกับ ปีที่ผ่านมา (ม.ค. - ธ.ค.60) จำนวน 74,517 ราย โดยลดลงจำนวน 2,408 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 แม้ว่าในปี 2561 จะยังคงมีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล แต่ได้มีการปรับลดความเข้มข้นของมาตรการบางส่วนลง เช่น การยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ และค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนนิติกรรมที่ดิน เป็นต้น จึงเป็นเหตุให้จำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ในปี 2561 ลดลงเล็กน้อยจากปี 2560
- ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก
เดือนธันวาคม ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 372 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 รองลงมา คือ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 322 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขายปลีกสินค้าอื่นๆในร้านค้าทั่วไป จำนวน118 ราย คิดเป็นร้อยละ 3
เดือนธันวาคม ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 372 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 รองลงมา คือ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 322 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขายปลีกสินค้าอื่นๆในร้านค้าทั่วไป จำนวน118 ราย คิดเป็นร้อยละ 3
ปี 2561 ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 6,578 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 4,394 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และอันดับ 3 คือ ธุรกิจภัตตาคาร / ร้านอาหาร จำนวน 2,058 ราย คิดเป็นร้อยละ 3
- มูลค่าทุนธุรกิจจัดตั้งใหม่
เดือนธันวาคม มีจำนวนทั้งสิ้น 38,669 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2561 จำนวน 75,167 ล้านบาท ลดลงจำนวน 36,498 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 49 และเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2560 จำนวน 146,984 ล้านบาท ลดลงจำนวน 108,315 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 74
ปี 2561 มูลค่าทุนจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่สะสมตั้งแต่เดือน ม.ค. - ธ.ค.61 มีจำนวน 374,284 ล้านบาท เมื่อเทียบกีบปีที่ผ่านมา (ม.ค. - ธ.ค.60) จำนวน 519,690 ล้านบาท โดยลดลงกว่า 145,406 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28
- ธุรกิจจัดตั้งใหม่แบ่งตามช่วงทุน
เดือนธันวาคม ช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่มากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 2,551 ราย คิดเป็นร้อยละ 62.19 รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท มีจำนวน 1,256 ราย คิดเป็นร้อยละ 30.62 รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 222 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.41 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 73 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.78 โดยมีธุรกิจที่ทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท มีจำนวน 3 ราย คือ ธุรกิจโฮลดิ้ง จำนวน 1 ราย มูลค่าทุน 1,781 ล้านบาท และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 2 ราย รวมมูลค่าทุน 2,552 ล้านบาท
ปี 2561 ช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่มีทิศทางเดียวกับรายเดือน ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 52,418 ราย คิดเป็นร้อยละ 72.69 รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท มีจำนวน 18,078 ราย คิดเป็นร้อยละ 25.07 รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 1,341 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.86 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 272 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.38
กิจดำเนินกิจการอยู่ ณ เดือนธันวาคม
- ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น (ณ วันที่ 31 ธ.ค. 61) ธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 712,939 ราย มูลค่าทุน 16.52 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด / ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 182,276 ราย คิดเป็นร้อยละ 25.57 บริษัทจำกัด จำนวน 529,443 ราย คิดเป็นร้อยละ 74.26 และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,220 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.17 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ณ วันที่ 31 ธ.ค. 60) ธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวน 680,268 ราย เพิ่มขึ้น 32,671 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.80 และมูลค่าทุนจำนวน 16.27ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 248,477 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.53
ธุรกิจเลิกประกอบกิจการ
- ธุรกิจดำเนินกิจการอยู่แบ่งตามช่วงทุน ธุรกิจส่วนใหญ่มีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 423,369 ราย คิดเป็นร้อยละ 59.38 รวมมูลค่าทุน 0.37 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.25 รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 205,946 ราย คิดเป็นร้อยละ 28.89 รวมมูลค่าทุน 0.67 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.05 รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 68,781 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.65 รวมมูลค่าทุน 1.86 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.27 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 14,843 ราย คิดเป็นร้อยละ 2.08 รวมมูลค่าทุน 13.62 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 82.42 ตามลำดับ
- จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ
เดือนธันวาคม มีจำนวน 5,511 ราย เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2561 จำนวน 2,482 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 3,029 ราย คิดเป็นหนึ่งเท่า ซึ่งเป็นไปในลักษณะตามแนวโน้มฤดูกาล (Seasonal Trend) ที่จำนวนธุรกิจเลิกประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี และเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2560 จำนวน 5,762 ราย ลดลงจำนวน 251 ราย คิดเป็นร้อยละ 4
ปี 2561 มีจำนวน 21,775 ราย เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (ม.ค.- ธ.ค. 60) จำนวน 21,444 ราย เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย จำนวน 331 ราย คิดเป็นร้อยละ 2
-ประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก
เดือนธันวาคม ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 515 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 252 ราย คิดเป็นร้อยละ 5 และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 135 ราย คิดเป็นร้อยละ 2 ตามลำดับ
ปี 2561 ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 2,042 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 1,269 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 566 ราย คิดเป็นร้อยละ 3ตามลำดับ
- มูลค่าทุนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ
เดือนธันวาคม มีจำนวนทั้งสิ้น 19,586 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2561จำนวน 8,754 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 10,832 ล้านบาท คิดเป็นหนึ่งเท่า และเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2560 จำนวน 28,366 ล้านบาท ลดลงจำนวน 8,780 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 31
ปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 21,775 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (ม.ค.- ธ.ค. 60) จำนวน 101,791 ล้านบาท ลดลงจำนวน 1,042 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1
- ธุรกิจเลิกประกอบกิจการแบ่งตามช่วงทุน
เดือนธันวาคม ช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 3,917 ราย คิดเป็นร้อยละ 71.08 รองลงมาคือ ช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท จำนวน 1,318 ราย คิดเป็นร้อยละ 23.92 ลำดับถัดไปคือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 261 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.74 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 15 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.27
ปี 2561 ช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศ มากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 14,832 ราย คิดเป็นร้อยละ 68.12 รองลงมาคือ ช่วงทุนมากกว่า 1- 5 ล้านบาท จำนวน 5,756ราย คิดเป็นร้อยละ 26.43 ลำดับถัดไปคือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 1,086 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.99 และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 101 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.46
สรุปผลการจดทะเบียน ปี 2561 และคาดการณ์ตลอดปี 2562
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2561 ที่ผ่านมา (ม.ค. - ธ.ค. 61) มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัท จำนวนทั้งสิ้น 72,109 ราย โดยการเติบโตของธุรกิจจัดตั้งใหม่ส่วนใหญ่ยังเป็นธุรกิจ ในกลุ่มก่อสร้างอาคารทั่วไป อสังหาริมทรัพย์ และภัตตาคาร/ร้านอาหาร เป็นหลัก ทั้งนี้ จำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งในปี 2561 ที่ผ่านมา (ม.ค.- ธ.ค. 61) ลดลงจำนวน 2,408 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.23 เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของ ปีที่ผ่านมา (ม.ค.- ธ.ค. 60) จำนวน 74,517 ราย เนื่องจาก ในปี 2560 ภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล ส่งผลให้มีจำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ในปี 2560 ค่อนข้างสูงกว่าปกติ แต่อย่างไรก็ตาม แม้ในปี 2561 ยังคงมีมาตรการสนับสนุนให้จัดตั้งธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล แต่ได้ปรับลดความเข้มข้นของมาตรการบางส่วนลง เช่น การไม่ได้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ และค่าธรรมเนียม การจดทะเบียนนิติกรรมที่ดิน เป็นต้น จึงเป็นเหตุให้จำนวนธุรกิจจัดตั้งใหม่ในปี 2561 ลดลงเล็กน้อยจากปี 2560
นอกจากนี้ การเติบโตของการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทตลอดปี 2561 มีความสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และการขยายตัวของการใช้จ่าย เพื่อการอุปโภคบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน รวมทั้ง ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมูลค่าการส่งออกที่มี การขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก และการขยายตัวโดยรวมของรายได้จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยว ชาวต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญ ในการสนับสนุนการเจริญเติบโตและการขยายตัวของธุรกิจจัดตั้งใหม่ ในปี 2561
สำหรับในปี 2562 เมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตของการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจย้อนหลัง 7 ปี (2559 -2561) พบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.1% ผนวกกับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์ GDP ปี 2562 ไว้ที่ 3.5 - 4.5% และการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกไว้ที่ 3.8 % ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเฉลี่ย อัตราการเติบโตของการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจย้อนหลัง 7 ปี ขณะที่มาตรการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจัดตั้งธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคลได้สิ้นสุด ณ 31 ธันวาคม 2561 ดังนั้น เมื่อพิจารณาปัจจัยด้านเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ และแนวโน้มการประกอบธุรกิจในรูปแบบของนิติบุคคลที่เติบโตเพิ่มสูงขึ้นจากการสนับสนุน จากภาครัฐและการสร้างความน่าเชื่อถือในการประกอบธุรกิจ ประกอบกับค่าเฉลี่ยอัตราการเติบโตของการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ จึงประมาณการยอดการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจปี 2562 จะใกล้เคียงกับปี 2561 อยู่ที่ 70,000 ราย แต่อย่างไร ก็ตาม ยังต้องพิจารณาถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจอื่นๆตลอดทั้งปีด้วย ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ และความชัดเจนทางการเมือง ซึ่งจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงและความมั่นใจ ในการจัดตั้งธุรกิจใหม่ในปี 2562 ซึ่งกรมจะได้เร่งดำเนินการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้ามาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจะสนับสนุนและส่งเสริมให้นิติบุคคลมีศักยภาพในการทำธุรกิจ ทั้งด้านการบริหารองค์กร การจัดการทางการเงิน การตลาด โดยจะบูรณาการความร่วมมือร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยธุรกิจ และ startup ต่างๆ เพื่อให้นิติบุคคลเข้าถึงการใช้งานโปรแกรม เทคโนโลยี และองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจด้วยต่อไป
การให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเดือน ธันวาคม 2561
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัล และ พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกเพื่อ ลดต้นทุน ลดเวลา และลดการใช้กระดาษในการประกอบธุรกิจ โดยได้พัฒนางานบริการทุกกระบวนการของ กรม ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ผู้ใช้บริการยื่นขอรับบริการได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยสรุปงานบริการต่างๆได้ดังนี้
- e-Secured การจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่าน Web Application และ Web Service โดยตั้งแต่ วันที่ 4 กรกฎาคม 2559 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ จำนวน 336,848 คำขอ คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกัน จำนวน 5.8 ล้านล้านบาท และ ได้ดำเนินการเพื่อส่งเสริมต่อการประเมินมูลค่าของไม้เศรษฐกิจที่จะส่งผลให้สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกัน ทางธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม และได้ดำเนินการจัดสัมมนาสร้างองค์ความรู้ให้แก่ประชาชน เกี่ยวกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ : ทางเลือกใหม่ SME เข้าถึงแหล่งทุน เรื่อง "ไม้ยืนต้น"ทรัพย์ตัวใหม่ของหลักประกัน ทางธุรกิจ ในพื้นที่จังหวัด ตราด กระบี่ พิษณุโลก และมีแผนจัดสัมมนาในส่วนกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นี้
- e-Service การบริการขอหนังสือรับรองผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งขอรับเอกสารได้ผ่านช่องทาง Walk in EMS Delivery และการออกหนังสือรับรองรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Certificate File) เมื่อสิงหาคม 2561 เพื่อให้สามารถจัดส่งหนังสือรับรองนิติบุคคลผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ให้กับผู้ยื่นขอผ่านทางอีเมล์ โดยมีผู้ใช้บริการ การขอหนังสือรับรองในรูปแบบของไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ E-Certificate File เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เดือนธันวาคม 2561 มีผู้ใช้จำนวน 11,653 ราย และบริการ e-Service จะขยายสู่การบริการหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ สมาคมการค้า และ หนังสือรับรองภาษาอังกฤษ
- e-Certificate การบริการหนังสือรับรองและสำเนาเอกสารทะเบียนนิติบุคคลผ่านธนาคาร 9 ธนาคารได้แก่ กรุงเทพ กรุงไทย ออมสิน กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ ธนชาต มิซูโฮ กรุงศรีอยุธยา และเกียรตินาคิน ซึ่งมีสาขาให้บริการรวมทั้งสิ้นจำนวน 4,034 สาขา โดยสถิติการใช้บริการในปี 2561 มีจำนวนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับ ปีที่ผ่านมา และกรมอยู่ระหว่างเตรียมการหารือ กพร. พัฒนาการออกหนังสือรับรองและสำเนาเอกสารทะเบียน นิติบุคคลผ่านหน่วยงานราชการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการการบริหารจัดการภาครัฐ
- DBD e-Filing ระบบการนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ในปีงบการเงิน 2560 มีนิติบุคคล ส่งงบการเงินทาง DBD e-Filing จำนวน 480,981 ราย (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561) คิดเป็นร้อยละ 91 ของนิติบุคคล ที่นำส่งงบการเงินแล้ว ซึ่งการส่งงบการเงินผ่านทาง e-Filing จะลดปัญหาการผิดพลาดของข้อมูลที่นำส่ง เนื่องจาก การตรวจสอบของระบบและข้อมูลสามารถนำไปประมวลผล เพื่อการดำเนินธุรกรรมได้โดยเร็ว ในการส่งงบการเงินประจำปี 2561 กรมขยายระยะเวลาการยื่นงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) ของห้างหุ้นส่วน จดทะเบียน นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย กิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร บริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนจำกัด ที่มีรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 และมีกำหนด ยื่นงบการเงินในวันที่31 พฤษภาคม 2562 ให้ขยายระยะเวลาการยื่นงบการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) ออกไปอีก 7 วัน เป็นภายในวันที่ 7 มิถุนายน 2562
- DBD e-Accounting กรมได้ดำเนินการแจก"โปรแกรม e-Accounting for SMEs"ซึ่งเป็นโปรแกรม ที่มีการทำงานแบบครบวงจรเพื่อช่วยเหลือ SMEs สามารถบริหารจัดการร้านค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการบันทึกข้อมูลซ้ำซ้อน ลดระยะเวลา ประหยัดค่าใช้จ่ายทางธุรกิจ ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น โดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ทาง Play store นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับสำนักงานบัญชีผ่าน Cloud Computing พร้อมทั้งเชื่อมต่อกับการนำส่งงบการเงินทางระบบ DBD e-Filing ผ่านทาง DBD Connect ซึ่งเป็นการร่วมกับผู้พัฒนาซอฟแวร์บัญชีเพื่อเชื่อมโยงระบบงานบัญชีเข้าสู่งบการเงินทางออนไลน์ได้โดยทันที ซึ่งขณะนี้มีอยู่ จำนวน 15 ราย
- DBD e-service บริการการตรวจค้นข้อมูลนิติบุคคล งบการเงิน ร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สมาคมการค้าและหอการค้า ข้อมูลการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ รวมทั้งมีบริการข่าวสาร กิจกรรม โครงการต่างๆ ผ่าน Application ปัจจุบันมีผู้เข้าใช้บริการกว่า 11 ล้านราย โดยสถิติการใช้บริการ ในปี 2561 เมื่อเทียบกับปี 2560 เพิ่มขึ้นมากถึงหนึ่งเท่า เนื่องจากความสะดวกในการใช้งานได้ทุกที่ ทุกเวลา
- Total Solution for SMEs การขับเคลื่อน SMEs ไทยด้วยนวัตกรรมออนไลน์ โดยส่งเสริมให้ธุรกิจเข้าถึงเทคโนโลยีทางการบัญชีและบริหารจัดการร้านค้าได้โดยง่าย ให้ได้รับข้อมูลในการบริหารจัดการธุรกิจ แบบถูกต้อง ครบวงจร เปลี่ยน Traditional SMEs เป็น Smart SMEs ซึ่งกรมได้รวบรวมโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทั้ง 3 ภาคส่วนไว้ด้วยกันคือ โปรแกรมสำนักงาน (Office) โปรแกรมหน้าร้าน (POS) โปรแกรมบัญชี online (Cloud Accounting) โดยผู้ประกอบการสามารถจัดทำบัญชีเบื้องต้นได้เองก่อนส่งข้อมูลให้ผู้ทำบัญชีตรวจสอบขณะนี้อยู่ระหว่างประชุมหารือร่วมกับ สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ และผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ เพื่อกำหนดรายละเอียดในการดำเนินการ และ รับสมัครผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ รวมทั้งหารือแนวทางความร่วมมือในการสนับสนุนโครงการกับสถาบันการเงิน (ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารทหารไทย)
****************************
ที่มา : กองข้อมูลธุรกิจ ฉบับที่ 43 / 23 มกราคม 2562