พาณิชย์ ลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น เร่งสร้างการรับรู้ ไม้ยืนต้น ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้
พาณิชย์ ลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น เร่งสร้างการรับรู้...ไม้ยืนต้น ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้
พร้อมส่งเสริมเกษตรกรสร้างชุมชนไม้มีค่า สร้างมรดกผืนป่าให้ลูกหลาน
เพิ่มพื้นที่ป่าไม้และสร้างแหล่งออกซิเจนให้ประเทศ
กระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เร่งสร้างการรับรู้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ ...ไม้ยืนต้น ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ หลังกฎกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มสร้างชุมชนไม้มีค่า ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน เก็บออมเป็นทรัพย์สินของครอบครัว หวัง!! สร้างมรดกผืนป่าให้ลูกหลาน เพิ่มพื้นที่ป่าไม้และสร้างออกซิเจนให้ประเทศ ...เตรียมพัฒนาให้เป็นแหล่งคาร์บอนเครดิตเพื่อการซื้อขายในอนาคต
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "วันนี้ (วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน 2561) ได้ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อสร้างการรับรู้และชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ หลังจากที่กฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2561 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 ที่ผ่านมา เป้าหมายหลักของการลงพื้นที่ในครั้งนี้ คือ การชี้แจงรายละเอียดสำคัญประเด็น "ไม้ยืนต้น ใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้" โดยไม้ยืนต้นที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์ของเกษตรกรและประชาชนเป็นทรัพย์สินที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันเพื่อขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ไม้ยืนต้นที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์จะไม่ได้รับการประเมินในการให้สินเชื่อ จะประเมินเฉพาะส่วนที่เป็นที่ดินเท่านั้น แต่หลังจากที่กฎกระทรวงฯ มีผลบังคับใช้ทำให้สถาบันการเงินสามารถเพิ่มประเภททรัพย์สินในการให้สินเชื่อมากขึ้น ส่งผลดีทั้งต่อสถาบันการเงินและเกษตรกร-ประชาชนที่ต้องการใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อโดยมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน"
"นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้เกษตรกรและคนในชุมชนรวมกลุ่มกันสร้าง "ชุมชนไม้มีค่า" ตามแนวนโยบายประชารัฐและไทยนิยมยั่งยืนของรัฐบาล เพื่อส่งเสริมให้มีการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือที่ดินที่มีสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ของประเทศตั้งแต่ระดับฐานราก เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น เข้มแข็งขึ้น เติบโตอย่างยั่งยืน...สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว รวมทั้ง ช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าซึ่งเป็นแหล่งออกซิเจนให้แก่ประเทศ ลดภาวะก๊าซเรือนกระจกที่เป็นปัญหาสำคัญระดับโลก โดยรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายให้เกิดชุมชนไม้มีค่า จำนวน 20,000 ชุมชน ภายใน 10 ปี ส่งเสริมและขยายผลให้ประชาชน 2.6 ล้านครัวเรือนปลูกต้นไม้รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,000 ล้านต้น ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 26 ล้านไร่ เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 1 ล้านล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ บ้านท่าลี่ ต.บ้านกง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น เป็นแหล่งชุมชนที่เป็นธนาคารต้นไม้แห่งแรกของประเทศไทย ชื่อว่า "ธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่" และกำลังพัฒนาสู่การเป็นชุมชนไม้มีค่าที่มีความหลากหลายของสายพันธุ์ต้นไม้ และเป็นต้นแบบสำหรับชุมชนอื่นๆ ที่กำลังจะพัฒนาให้เป็นชุมชนไม้มีค่าของประเทศ"
"พร้อมกันนี้ ได้เตรียมพัฒนาพื้นที่ปลูกป่าทั่วประเทศให้เป็นแหล่ง "คาร์บอนเครดิต" (Carbon Credit) ของโลกเพื่อการซื้อขายในอนาคต โดย คาร์บอนเครดิต เป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่สามารถตีราคาเป็นเงินและสามารถซื้อขายกันได้ในตลาดเฉพาะที่เรียกว่า ตลาดคาร์บอน ณ ปัจจุบันยังไม่มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยเลย แต่ในอนาคตคาดว่าจะเป็นสินค้าที่มีความสำคัญและมีการซื้อขายกันมากยิ่งขึ้น เพื่อทดแทนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนไดออกไซต์) ที่ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมหรือจากการคมนาคม"
"คาร์บอนเครดิต หมายถึง ก๊าซที่เป็นตัวทำให้ปฏิกิริยาเรือนกระจกต่างๆ ที่แต่ละโรงงานสามารถลดได้ จะถูกตีราคาเป็นเงิน ก่อนจะถูกขายเป็นเครดิตไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว ตามข้อตกลงในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocal) ที่กำหนดให้ประเทศพัฒนาแล้ว (Annex1) ต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก (Green House Effect) ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ "โลกร้อน" ในหลายแนวทาง หนึ่งในนั้นคือ "การซื้อขายมลพิษ" หรือ คาร์บอนเครดิต กับประเทศที่กำลังพัฒนา (Non-Annex1) เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วไม่สามารถลดก๊าซที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกลงได้ ดังนั้น การซื้อขายคาร์บอนเครดิตจึงเปรียบเสมือนความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมโลกร่วมกันของผู้ประกอบการจากประเทศที่พัฒนาแล้ว"
รมว.พณ.กล่าวเพิ่มเติมว่า "การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ยังได้มีการตรวจติดตามงาน/ภารกิจของกระทรวงพาณิชย์ และกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในส่วนอื่นๆ ด้วย ได้แก่ การมอบประกาศเกียรติคุณและป้ายตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ให้แก่ร้านแซบนัว ครัวอีสาน จ.ขอนแก่น เนื่องจากเป็นร้านอาหารไทยที่ผ่านเกณฑ์การประเมินจากคณะกรรมการฯ ให้ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT UNIQUE ซึ่งเป็นร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบและเครื่องปรุงอาหารของไทย มีการตกแต่งบรรยากาศร้านที่มีกลิ่นไอของความเป็นไทย รวมถึง มีรายการอาหารประจำถิ่น หรือ อาหารอัตลักษณ์ท้องถิ่นรวมอยู่ด้วย ปัจจุบันมีร้านอาหารไทยในประเทศไทยที่ได้รับตราสัญลักษณ์ Thai SELECT แล้ว จำนวนทั้งสิ้น 573 ร้าน แบ่งเป็น 1) Thai SELECT PREMIUM จำนวน 7 ร้าน 2) Thai SELECT UNIQUE จำนวน 50 ร้าน และ 3) Thai SELECT จำนวน 516 ร้าน (ข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2561)"
"นอกจากนี้ ได้เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรม "ยกระดับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐเพื่อรองรับนโยบายผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น (KICE) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาศักยภาพและยกระดับร้านค้าธงฟ้าประชารัฐให้มีความเข้มแข็ง พร้อมเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยดูแลค่าครองชีพที่จำเป็นในชีวิตประจำวันของคนในท้องถิ่นให้ได้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างทั่วถึง รวดเร็ว ในราคาที่เป็นธรรม ตลอดจนเป็นช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนทั่วประเทศในการกระจายสินค้าไปยังสถานที่ต่างๆ ซึ่งจะส่งผลดีในการช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับร้านค้าปลีกรายย่อย-ร้านค้าชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการในระยะยาว ทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็งและมั่นคงตามไปด้วย โดยโครงการฝึกอบรมฯ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 - 29 พฤศจิกายน 2561 แบ่งออกเป็น 11 รุ่น ครอบคลุมร้านค้าธงฟ้าประชารัฐในจังหวัดขอนแก่น จำนวนทั้งสิ้น 891 ร้านค้า (รองรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐครบทุกตำบล อย่างน้อยตำบลละ 1 ร้านค้า) ทั้งนี้ จังหวัดขอนแก่นมีประชากรทั้งสิ้น 1,805,910 คน แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 26 อำเภอ 199 ตำบล 2,331 หมู่บ้าน มีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 358,129 คน"
"และได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวของรัฐบาล ณ สหกรณ์การเกษตรน้ำพอง จำกัด ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะดูดซับผลผลิตข้าวเปลือกในช่วงออกสู่ตลาดมากของรัฐบาล ได้แก่ (1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ซึ่งเกษตรกรจะได้รับค่าฝากเก็บ ตันละ 1,500 บาท กรณีฝากเก็บไว้ในยุ้งฉางตนเอง และตันละ 1,000 บาท กรณีฝากเก็บไว้ที่สหกรณ์ และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ในอัตราไร่ละ 1,500 บาท ไม่เกิน 12 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 18,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาครัวเรือนละ 6,000 บาท (2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร"
"จากการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว ส่งผลให้ปัจจุบันเกษตรกรจำหน่ายผลผลิตข้าวเปลือกในระดับที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวเปลือกหอมมะลิในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีราคาเพิ่มสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้จะอยู่ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่ตันละ 17,700 บาท (เกี่ยวสด ตันละ 13,500 - 14,500 บาท) ในส่วนของข้าวเหนียวได้ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน จากราคาตันละ 7,700 - 9,800 บาท เมื่อปีที่แล้ว ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นตันละ 9,000 - 10,500 บาท"
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยังได้มอบเงินตามโครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวตามนโยบายของรัฐบาลให้เกษตรกรในเขตอำเภอน้ำพอง ครัวเรือนละ 1,500 บาท/ไร่ ซึ่งเกษตรกรทุกรายที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2561 นี้ โดย ธ.ก.ส. จะโอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรง
ทั้งนี้ สหกรณ์การเกษตรน้ำพอง จำกัด ได้รับการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511 ตามเลขทะเบียนที่ กสก.35-2519 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2519 ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 6,019 คน (103 กลุ่ม) (ข้อมูล ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2561)
***************************************************
ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ฉบับที่ 14 / วันที่ 14 พฤศจิกายน 2561