พาณิชย์รับลูกรัฐบาล ดันเต็มที่สร้างอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อย

พาณิชย์รับลูกรัฐบาล ดันเต็มที่สร้างอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อย
ลุย!! ลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ราคาประหยัด ขนมาให้เลือกกว่า 50 แบรนด์
หนุนด้วยแหล่งเงินทุนจากธนาคารรัฐ เชื่อ...จะช่วย 'เคลียร์ไทยให้ไร้คนจน'
 
                      กระทรวงพาณิชย์ จัดงานแฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อย ขยายผลจากโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ ช่วยผู้มีรายได้น้อยมีอาชีพ มีธุรกิจเป็นของตัวเอง ลืมตาอ้าปากได้ พร้อมเลือกซื้อแฟรนไชส์ราคาสบายกระเป๋ากว่า 50 แบรนด์เป็นพี่เลี้ยงในธุรกิจแรก ช่วยตั้งต้นอาชีพก่อนมีรายได้มั่นคง หายจนในอนาคต ใครกระเป๋าตังค์ไม่พร้อมยังเอาใจเชิญธนาคารรัฐมาช่วยปล่อยกู้ และมีบสย. มาช่วยค้ำประกัน
                      นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินโครงการสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อผู้มีรายได้น้อย โดยเป็นการให้วงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ผู้มีรายได้น้อย (รายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี) ซึ่งรัฐบาลจะเติมเงินเข้าไปในบัตรเพื่อใช้ชำระสินค้าและบริการผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (เครื่อง EDC) ของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ขณะนี้มีร้านธงฟ้าประชารัฐ 18,000 ร้านค้าทั่วประเทศ
                      ปลัดฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า "สำหรับวันนี้ (13 ธันวาคม 2560) เป็นการจัดงานโครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อย ต่อยอดจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของรัฐบาล สนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาช่องว่างระหว่างคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย ส่งผลเชิงบวกให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นในภาพรวม กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านการพัฒนาจากกรมฯ ซึ่งเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีมาตรฐานและมีการบริหารจัดการที่ดีมาเป็นพี่เลี้ยง ร่วมกับธนาคารของรัฐในการให้สินเชื่อเพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพ ให้ผู้มีรายได้น้อย"
                      ทั้งนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์ที่เข้าร่วมออกบูทแสดงธุรกิจในครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจประเภทอาหารและเครื่องดื่มขนาดเล็ก ถ้าผู้มีรายได้น้อยสนใจลงทุนในแบรนด์ใดก็สามารถเจรจาซื้อ-ขายกันได้ทันทีภายในงานประกอบกับมีธนาคารออมสินมาพิจารณาให้สินเชื่อโดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้สนใจและผู้มีรายได้น้อยที่จะลงทุนในระบบแฟรนไชส์ รวมไปถึงมีการสัมมนาเรื่อง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับแฟรนไชส์ การทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายง่ายๆ อย่างไรให้มีกำไรยั่งยืน และหลักการเลือกซื้อแฟรนไชส์ เพื่อให้ผู้เข้าสัมมนามีข้อมูลสำหรับสนับสนุนการตัดสินใจลงทุนด้วย
                       สำหรับแบรนด์ที่มาร่วมงานเป็นแฟรนไชส์ที่มีมูลค่าการซื้อขายต่อธุรกิจอยู่ที่ 10,000-50,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นแบรนด์ที่มีราคาไม่สูงมากเหมาะสำหรับผู้จะเริ่มต้นธุรกิจแต่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน เช่น แบรนด์พิซซ่าอาหม่วย, แหม่ม ซาลาเปาลาวา, โจ๊กแต้จิ๋ว, กิมซุนหมูปิ้งประเทศไทย, ร้านประจำ Delivery, ตำระวิง mini, อาโกกาแฟโบราณ, เต้าหู้ลุงเหน่ง, ชาตันหยง, สุขอุทัย ผัดไทแฟรนไชส์, Laundry Care Mini, The hen Noodle, น้ำหอมกัลยา, อร่อยจัง, ลูกชิ้นพิษณุโลก ราม่า, สเต็กขั้นเทพ, นมเหนียว ปังปิ้ง, ไจแอ้นลูกชิ้นระเบิด, ซูโม่ลูกชิ้นปลาระเบิด, อู้ฟู่ลูกชิ้นปลาเยาวราช, ราชาหมูระเบิด และชาบังนัน เป็นต้น
                       "อย่างไรก็ดีการจัดโครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อย ครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นโดยจะขยายผลการจัดงานไปยังภูมิภาคอื่นๆ ด้วย เพื่อกระจายความรู้ในการทำธุรกิจและการพัฒนาผู้มีรายได้น้อยที่อยู่ในต่างจังหวัดให้มีอาชีพที่มั่นคงเสริมความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีทำให้คนไทยที่มีรายได้น้อยสามารถลืมตาอ้าปากได้ ลดการพึ่งพาสวัสดิการจากรัฐและเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาประเทศไทยต่อไป" ปลัดฯ กล่าวในท้ายที่สุด
 
*************************************
 ที่มา : กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ                                                                                         ฉบับที่ 23 / วันที่ 13 ธันวาคม 2560