พาณิชย์' เตรียมต่อยอดโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ

พาณิชย์' เตรียมต่อยอดโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ
ยกระดับผู้มีรายได้น้อย...สร้างฐานที่มั่นด้านการประกอบอาชีพ
พร้อมจับมือธนาคารรัฐให้สินเชื่อพิเศษ...สร้างอาชีพ สร้างความมั่นคงในการดำรงชีพ
 
                 กระทรวงพาณิชย์ เตรียมต่อยอดโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ ยกระดับผู้มีรายได้น้อย 11.4 ล้านคน สร้างฐานที่มั่นด้านการประกอบอาชีพ พร้อมจับมือธนาคารรัฐให้สินเชื่อพิเศษเป็นทุนในการประกอบอาชีพ และสร้างความมั่นคงในการดำรงชีพ ผ่าน 'โครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อย' โดยให้สินเชื่อส่วนบุคคลรายย่อย คาด...จะสามารถสร้างอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อยเกือบ 2 หมื่นราย
                 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "หลังจากที่โครงการสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถกระจายรายได้ให้แก่เศรษฐกิจฐานรากของประเทศ และทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างน้อย 3 - 5 รอบ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์เร่งดำเนินการยกระดับผู้มีรายได้น้อยที่ได้ลงทะเบียนกับภาครัฐ จำนวน 11.4 ล้านคน ให้สามารถดำรงชีพได้อย่างมั่นคงถาวร ผ่านโครงการสร้างงานสร้างอาชีพของกระทรวงพาณิชย์"
                "ตนจึงได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าบูรณาการความร่วมมือกับผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ที่อยู่ในการส่งเสริมของกรมฯ ร่วมกันจัดทำโครงการ 'แฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อย' เนื่องจาก ธุรกิจแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่ง่ายต่อการเริ่มต้นธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ มีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนด้วยตนเองและที่สำคัญ คือ มีแฟรนไชส์ซอร์ช่วยคิดวางแผนธุรกิจและการเงินให้โดยไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกเอง ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์มีอัตราความเสี่ยงทางธุรกิจต่ำ โดยกลุ่มเป้าหมายในครั้งนี้ คือ ผู้มีรายได้น้อยที่ได้ลงทะเบียนกับภาครัฐ จำนวน 11.4 ล้านคน"
                 รมช.พณ.กล่าวเพิ่มเติมว่า "แฟรนไชส์ที่เข้าร่วมโครงการฯ จะเป็นแฟรนไชส์ที่มีขนาดไม่ใหญ่ ผ่านการพัฒนาจากกรมฯ และเป็นธุรกิจง่ายๆ ที่ผู้มีรายได้น้อยสามารถใช้ประกอบเป็นอาชีพได้ทันที เช่น ข้าวขาหมู ก๋วยเตี๋ยวประเภทต่างๆ ลูกชิ้นทอด ข้าวเหนียวหมูปิ้ง กาแฟโบราณ ฯลฯ เป็นต้น โดยแฟรนไชส์ดังกล่าวฯ จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับ ผู้มีรายได้น้อยตลอดระยะเวลาที่ประกอบธุรกิจ ซึ่งจะสามารถลดความเสี่ยงและเลี่ยงความล้มเหลวในการประกอบธุรกิจได้ เนื่องจากผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน ดังนั้น การมีพี่เลี้ยงจะช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปได้ตลอดรอดฝั่ง รวมถึงสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ (ผู้มีรายได้น้อย) ในการก้าวเข้าสู่การมีอาชีพอย่างเต็มตัวอีกด้วย"
                "เบื้องต้น กรมฯ จะร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเชิญชวนผู้มีรายได้น้อยในแต่ละพื้นที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสร้างความมั่นคงด้านอาชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อย นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับธนาคารรัฐในการให้สินเชื่อพิเศษเพื่อเป็นทุนสำหรับการประกอบอาชีพด้วย โดยในเฟสแรกนี้ คาดว่าธนาคารฯ สามารถให้สินเชื่อส่วนบุคคลรายย่อยแก่ผู้มีรายได้น้อยที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งขณะนี้ เตรียมหารือกับธนาคารรัฐเพื่อกำหนดเงื่อนไขและรายละเอียดในการให้สินเชื่ออยู่... แต่ขอยืนยันว่า ผู้มีรายได้น้อยจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในครั้งนี้ได้ไม่ยาก เนื่องจากรัฐบาลต้องการขับเคลื่อนให้ผู้มีรายได้น้อยมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ ซึ่งจะส่งผลให้ การดำรงชีวิตดีขึ้นในระยะยาวตามไปด้วย โดยคาดว่า...โครงการฯ นี้ จะสามารถสร้างอาชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อยเกือบ 20,000 ราย และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าได้ราว 2,000 ล้านบาท"
                  "กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จะช่วยผู้มีรายได้น้อยให้มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ และการเลือกซื้อแฟรนไชส์อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ รวมถึงจะคัดเลือกแฟรนไชส์ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งจะทำให้ผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับสินเชื่อไปมีพี่เลี้ยงคอยดูแลในการประกอบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง และหลังจากการให้สินเชื่อแล้วจะทำการติดตามประเมินผลและทำการวิเคราะห์เป็นระยะ"
                   รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้ายว่า "มั่นใจว่าโครงการ 'แฟรนไชส์สร้างอาชีพเพื่อผู้มีรายได้น้อย' นี้ จะสามารถยกระดับผู้มีรายได้น้อยให้มีอาชีพที่มั่นคงถาวร รวมทั้ง จะเป็นการสร้างโอกาสที่ดีในการก้าวเข้าสู่แวดวงธุรกิจ ซึ่งจะเป็นประตูสู่ความสำเร็จของชีวิต ทำให้การดำรงชีพในระยะยาวของผู้มีรายได้น้อยมีความมั่นคงมีเสถียรภาพมากขึ้น และจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยอีกด้วย"
 
 *******************************************
ที่มา : กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า                                                                         ฉบับที่ 11 / วันที่ 9 พฤศจิกายน 2560