กรมพัฒน์' เตรียมจับมือ กทม. - พัฒนาฝีมือแรงงาน ต่อยอดสร้างอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อย สร้างความมั่นคงด้านการดำรงชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในเมือง
กรมพัฒน์' เตรียมจับมือ กทม. - พัฒนาฝีมือแรงงาน ต่อยอดสร้างอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อย
สร้างความมั่นคงด้านการดำรงชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในเมือง
ปั้นดินให้เป็นดาว ก้าวขึ้น...เป็นนักธุรกิจที่ดี หวังสร้างมิติใหม่ให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งนักธุรกิจรายย่อย
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เตรียมจับมือ กรุงเทพมหานคร และ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ต่อยอดสร้างอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อยในเขตกรุงเทพมหานคร สร้างความมั่นคงด้านการดำรงชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในเมือง ปั้นดินให้เป็นดาว...ก้าวขึ้นเป็นนักธุรกิจที่ดี เน้นเทคนิคเฉพาะสอนให้ทำธุรกิจเป็นในระยะเวลาสั้น สร้างความเชื่อมั่นก่อนลงสนามจริง หวังสร้างมิติใหม่ให้กรุงเทพฯ...เป็นเมืองแห่งนักธุรกิจรายย่อย
นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เตรียมจับมือกับ กรุงเทพมหานคร และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ต่อยอดโครงการสร้างอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อยในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงด้านการดำรงชีพ และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในเมือง เบื้องต้นเตรียมหารือกับกรุงเทพมหานคร และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน บูรณาการหลักสูตรการฝึกอาชีพด้านต่างๆ ที่ทั้ง 2 หน่วยงานดำเนินการอยู่ ซึ่งมีทั้งหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจบริการที่สามารถประกอบเป็นอาชีพได้ทันที ทั้งแบบที่เป็นเจ้าของกิจการเองและเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการ เช่น การประกอบอาหาร เสริมสวย ศิลปประดิษฐ์ นวดแผนโบราณ ตัดเสื้อ แปรรูปอาหารและสมุนไพร หัวหน้าแม่บ้าน ช่างซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า-ประปา-อิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ เป็นต้น"
"สิ่งที่กรมฯ จะเข้าไปดำเนินการต่อยอดการฝึกอาชีพของกรุงเทพมหานคร และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน คือ เข้าไปสอนให้ผู้เข้ารับการฝึกอาชีพทำธุรกิจเป็น หรือการบริหารจัดการธุรกิจที่ดี ทำอย่างไรให้ธุรกิจไปรอด ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักสำคัญในการประกอบธุรกิจทุกประเภท โดยกรมฯ จะจัดผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการธุรกิจอบรมเทคนิคเฉพาะให้ผู้ฝึกอาชีพสามารถประกอบธุรกิจได้ในระยะเวลาสั้น เช่น การวิเคราะห์ทำเลที่ตั้งของธุรกิจ การคำนวณต้นทุน การตลาด การจัดทำบัญชีธุรกิจแบบง่ายๆ การวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าเพื่อการผลิตสินค้าให้ตรงใจ เป็นต้น ซึ่งแต่ละอาชีพจะมีเทคนิคการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญที่กรมฯ จะอบรมให้สามารถให้คำปรึกษาเชิงลึกได้ทุกอาชีพ เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอาชีพมีความเชื่อมั่นในตนเองก่อนลงสนามธุรกิจจริง"
"นอกจากนี้ กรมฯ เตรียมประสานกับธนาคารรัฐในการให้สินเชื่อพิเศษเพื่อเป็นทุนสำหรับการประกอบอาชีพด้วย คาดว่าธนาคารฯ จะสามารถให้สินเชื่อส่วนบุคคลรายย่อยแก่ผู้มีรายได้น้อยที่เข้าร่วมการฝึกอาชีพฯ ซึ่งขณะนี้ เตรียมหารือกับธนาคารรัฐเพื่อกำหนดเงื่อนไขและรายละเอียดในการให้สินเชื่ออยู่... ทั้งนี้ ผู้มีรายได้น้อยจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในครั้งนี้ได้ไม่ยาก เนื่องจากรัฐบาลต้องการขับเคลื่อนให้ผู้มีรายได้น้อยมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ ซึ่งจะส่งผลให้การดำรงชีวิตดีขึ้นในระยะยาวตามไปด้วย"
อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า "การดำเนินธุรกิจให้มีความยั่งยืนจำเป็นต้องมีการวางรากฐานด้านการบริหารจัดการให้มั่นคงไว้ตั้งแต่แรกเริ่มธุรกิจ การมีวิสัยทัศน์และการบริหารจัดการที่ดีจะทำให้ธุรกิจสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สิ่งที่กรมฯ จะดำเนินการร่วมกับกรุงเทพมหานคร และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงเปรียบเสมือนการติดอาวุธให้แก่ผู้ฝึกอาชีพทุกคนให้มีความรู้ที่ครบถ้วนและหลากหลาย สามารถนำความรู้ที่ได้รับทั้งการฝึกอาชีพและการบริหารจัดการไปดำเนินธุรกิจได้ และพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นนักธุรกิจที่ดี ทั้งนี้ หวังว่าการต่อยอดโครงการสร้างอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อยนี้ จะเป็นส่วนผลักดันให้กรุงเทพมหานครมีนักธุรกิจขนาดเล็กมากขึ้น และเป็นเมืองแห่งนักธุรกิจรายย่อย...ในอนาคต การต่อยอดสร้างอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อยในเขตกรุงเทพมหานคร คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนมกราคม 2561 และมีผู้สนใจเข้ารับการอบรมฯ จำนวนไม่ต่ำกว่า 1,000 คน"
อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า "มั่นใจว่าการต่อยอดสร้างอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อยในเขตกรุงเทพมหานคร จะสามารถยกระดับผู้มีรายได้น้อยในเขตกรุงเทพมหานครให้มีอาชีพที่มั่นคงถาวร รวมทั้ง จะเป็นการสร้างโอกาสที่ดีให้กับผู้มีรายได้น้อยในการดำรงชีพระยะยาวให้มีความมั่นคงมีเสถียรภาพมากขึ้น และจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม กรมฯ จะมีการขยายโครงการดังกล่าวฯ สู่ภูมิภาคต่อไป"
**************************************
ที่มา : กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ ฉบับที่ 18 / วันที่ 30 พฤศจิกายน 2560