พาณิชย์' แจงรายละเอียดสถานะล้งผลไม้ในประเทศไทย

พาณิชย์' แจงรายละเอียดสถานะล้งผลไม้ในประเทศไทย
พร้อมเฝ้าระวังป้องกันการใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (นอมินี)
เพิ่มความเข้มแข็งล้งไทยและกลุ่มเกษตรกรสร้างอำนาจต่อรองทางการค้า
 
                 กระทรวงพาณิชย์ แจงรายละเอียดสถานะล้งผลไม้ในประเทศไทย สามารถจำแนกออกเป็น ล้งไทย ล้งวิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์ และล้งร่วมลงทุนระหว่างคนไทยกับชาวต่างชาติ พร้อมเฝ้าระวังไม่ให้ใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (นอมินี) เร่งสร้างความเข้มแข็งให้ล้งไทยโดยการรวมกลุ่มเกษตรกรในรูปวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการค้า
                 นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนนิติบุคคลของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมหลังการเก็บเกี่ยวพืชผล และการขายส่งผักผลไม้ ปรากฏว่ามีนิติบุคคลจดทะเบียนทั้งสิ้น 1,405 ราย และจากข้อมูลผู้ประกอบการล้งผลไม้ซึ่งจดทะเบียนผู้ส่งออกผักและผลไม้กับกรมวิชาการเกษตรมีจำนวนทั้งสิ้น 391 ราย กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้พิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับสถานะการจดทะเบียนดังกล่าว สามารถแบ่งออกเป็น 1) ล้งไทย ประกอบด้วย 1.1 ล้งบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย จำนวน 236 ราย 1.2 ล้งนิติบุคคลที่คนไทยถือหุ้น 100% จำนวน 116 ราย 2) ล้งที่เป็นวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ จำนวน 7 ราย 3) ล้งที่ร่วมลงทุนระหว่างคนไทยกับชาวต่างชาติ จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคล โดยคนไทยถือหุ้นมากกว่าหรือเท่ากับ 51% ในกรณีนี้ถือว่าเป็นนิติบุคคลไทย จำนวน 32 ราย ซึ่งเป็นการร่วมทุนจาก จีน (26 ราย) อินเดีย (2 ราย) ฝรั่งเศส (2 ราย) ลักเซมเบิร์ก (1 ราย) และ ฮ่องกง (1 ราย) ทั้งนี้ ล้งที่กล่าวมาข้างต้น สามารถรับซื้อผลไม้เพื่อการจำหน่ายในประเทศและสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกผักและผลไม้ พ.ศ.2553
                "เพื่อเป็นการกำกับดูแลให้ผู้ประกอบธุรกิจล้งผลไม้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง และป้องกันเหตุความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจรับซื้อผลไม้ของไทยในภาพรวม กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้มีการติดตามเฝ้าระวังการประกอบธุรกิจของล้งผลไม้อย่างใกล้ชิด โดยป้องกันไม่ให้ใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง หรือ นอมินี เพื่อดำเนินธุรกิจหลีกเลี่ยงกฎหมาย รวมทั้งตรวจสอบบัญชีของผู้ประกอบธุรกิจให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ. 2543 โดยกรมฯ มีแผนลงพื้นที่ตรวจสอบธุรกิจให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 อย่างเคร่งครัดเป็นประจำ และในปีนี้ กรมฯ ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบล้งผลไม้ร่วมลงทุนตามฤดูกาลผลผลิตผลไม้ไทย โดยเฉพาะช่วงที่ลำไย และทุเรียนกำลังออกผลผลิต เนื่องจากผลไม้ทั้ง 2 ชนิด เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก และจากการลงพื้นที่ตรวจสอบเบื้องต้น ยังไม่พบว่ามีล้งร่วมลงทุนที่มีการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กรมฯ ก็จะยังคงติดตามเฝ้าระวังต่อไป"
                 "นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังให้การสนับสนุนส่งเสริมล้งไทยให้มีศักยภาพ สามารถแข่งขันได้ โดยกำหนดแผนพัฒนาศักยภาพล้งไทยให้มีความเข้มแข็งและต่อยอดองค์ความรู้โดยใช้นวัตกรรมช่วยในการขยายตลาด เช่น การใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Commerce มาช่วยในการขยายตลาด โดยได้มีการเปิดตัวโครงการ Offline 2 Online @ จันทบุรี สู่ www.eastfruit.org ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อเป็นตลาดกลางผลไม้ออนไลน์ของภูมิภาคตะวันออกและใช้ในการประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น รวมทั้ง การสนับสนุนสภาพคล่องทางการเงินแก่ล้งไทยให้มีเงินทุนในการพัฒนาและขยายกิจการเพื่อรองรับการแข่งขัน ในส่วนของการขยายผลไม้ไทยสู่ตลาดต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศจัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคผลไม้ไทยเพื่อเป็นการขยายตลาดผลไม้ไทยให้เป็นที่รู้จักแก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก สร้างภาพลักษณ์ที่ดี และส่งเสริมการบริโภคผลไม้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะทำให้ผลไม้ไทยเป็นที่รู้จักและสามารถขยายโอกาสทางการค้าแก่ผลไม้ของไทยให้หลากหลายยิ่งขึ้น รวมทั้งแสวงหาตลาดใหม่ๆ รองรับผลผลิต อาทิ อาเซียน ตะวันออกกลาง และอินเดีย เพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัวเฉพาะตลาดเดิมเท่านั้น ขณะเดียวกันได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศลงพื้นที่ชี้แจงเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ถึงความต้องการผลไม้ของตลาดต่างประเทศ เพื่อให้เกษตรกรใช้ข้อมูลดังกล่าวในการกำหนดประเภทของผลไม้ที่เพาะปลูกให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดให้มากที่สุด"
                  อธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า "นอกจากนั้น จะได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มในรูปของวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ อันจะเป็นการแก้ปัญหาไม่ให้พ่อค้าคนกลางเข้ามาตักตวงผลประโยชน์ โดยเฉพาะราคาสินค้า และเป็นการสร้างอำนาจต่อรองในการซื้อขายผลผลิตของสมาชิกในกลุ่มอีกด้วย"
 
******************************************
 ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า                                                                                               ฉบับที่ 66 / วันที่ 19 พฤษภาคม 2560