ต.ค. 59 ต่างชาติลงทุนไทยอีก 17 ราย

ต.ค. 59 ต่างชาติลงทุนไทยอีก 17 ราย
มีเงินลงทุนที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ 193 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 98 คน
 
                     นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะกรรมการฯ เมื่อวันพุธที่ 19 ตุลาคม 2559 คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าว 17 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 193 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทยเพิ่มอีก 98 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ๆ และองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
                     สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่
                     1. ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 5 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 87 ล้านบาท ได้แก่ บริการทางบัญชี บริการทางกฎหมาย บริการให้กู้ยืมเงิน บริการให้ใช้พื้นที่สนามทดสอบสมรรถนะรถยนต์ และบริการบริหารจัดการและติดต่อประสานงานกับผู้ให้บริการด้านคลังสินค้า โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และลาว
                    2. ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 1 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 3 ล้านบาท ได้แก่ บริการออกแบบพัฒนา ติดตั้งและทดสอบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ควบคุมการทำงานของเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับงานอุตสาหกรรม โดยเป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น
                    3. ธุรกิจบริการเป็นสำนักผู้แทน จำนวน 6 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 18 ล้านบาท เป็นการรายงานความเคลื่อนไหวทางธุรกิจเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจการลงทุนให้สำนักงานใหญ่ และเป็นการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าของสำนักงานใหญ่และบริษัทในเครือ รวมถึงการหาแหล่งจัดซื้อและตรวจสอบคุณภาพสินค้าในประเทศไทยในสำนักงานใหญ่ โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และจีน
                    4. ธุรกิจค้าปลีก จำนวน 5 ราย มีเงินลงทุนจำนวน 85 ล้านบาท ได้แก่ การค้าปลีกเครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิตดีบุก เครื่องมือและอุปกรณ์การผลิตรายการโทรทัศน์ เครื่องอัดอากาศ เครื่องมือวิเคราะห์โปรตีนและพันธุศาสตร์ โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าวจากประเทศสิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น
                    การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและวิทยาการ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น การวิเคราะห์วิจัยด้านโปรตีนและพันธุศาสตร์ ซึ่งถ่ายทอดให้แก่นักวิจัยของสถาบันวิจัยในประเทศไทยจำนวน 30 คน วิทยาการเฉพาะด้านการซ่อมแซมเครื่องอัดอากาศและเครื่องทำความเย็น ซึ่งมีระบบปฏิบัติการประหยัดพลังงานและไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการทดสอบสมรรถนะรถยนต์ในสนามทดสอบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยและพัฒนารถยนต์ที่กลุ่มบริษัทฮอนด้าลงทุนก่อสร้างสนามทดสอบในประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนารถยนต์ในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย
                    ทั้งนี้ ในเดือนตุลาคม 2559 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลงจากเดือนก่อน 17 ราย คิดเป็นร้อยละ 50ในขณะที่เงินลงทุนลดลง 474 ล้านบาท คิดเป็นอัตราร้อยละ 71 และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนปรากฏว่า จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลง จำนวน 10 ราย คิดเป็นอัตราร้อยละ 37 และมีเงินลงทุนลดลง 996ล้านบาท คิดเป็นอัตราร้อยละ 84 เนื่องจากในเดือนตุลาคม 2558 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจตัวแทนดูแลเงินฝากที่เป็นหลักประกันการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ บริการให้กู้ยืมเงินแก่บริษัทในเครือ และบริการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียม ซึ่งเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง
                    อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 (มกราคม-ตุลาคม 2559) คณะกรรมการฯ ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจในประเทศไทยแล้วจำนวน 289 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 5,977 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรากฏว่า จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลง 47 ราย คิดเป็นอัตราร้อยละ 14 และเงินลงทุนลดลง 7,032 ล้านบาท คิดเป็นอัตราร้อยละ 54
 
*************************
ที่มา : กองบริหารการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ                                                                                     ฉบับที่ 124 / 25 ตุลาคม 2559