กรมพัฒน์ฯ ขยายเวลานำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิสก์ (DBD e-Filing) ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559
กรมพัฒน์ฯ ขยายเวลานำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิสก์ (DBD e-Filing) ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559
พร้อมน้อมรับเสียงสะท้อนคำติชมการใช้ระบบทั้งหมด ยินดีรับข้อเสนอแนะมาพัฒนาปรับปรุงการบริการให้ดีขึ้น
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขยายระยะเวลาการนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559 เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ยังไม่ได้นำส่งงบฯ ทาง DBD e-Filing พร้อมน้อมรับเสียงสะท้อนคำติชมการใช้ระบบทั้งหมดของภาคธุรกิจและประชาชน ยินดีรับข้อเสนอแนะมาพัฒนาปรับปรุงกระบวนการทำงานและระบบการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น เผย..มีนิติบุคคลที่ได้นำส่งงบฯ ทาง DBD e-Filing แล้วทะลุแสน นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการนำนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ในงานบริการภาครัฐ
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ตามที่นิติบุคคลที่มีรอบปีบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 และต้องนำส่งงบการเงินให้แก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 โดยต้องนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) เท่านั้น ล่าสุด (ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2559) มีนิติบุคคลนำส่งงบการเงินทาง DBD e-Filing แล้วจำนวน 124,992 ราย คิดเป็น 5,500 กว่าเปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2558 ที่ผ่านมา มีการนำส่งเพียง 2,225 ราย นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และปีนี้เป็นปีแรกที่กรมฯ ประกาศขับเคลื่อนระบบการนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ 100% ซึ่งถือเป็นการนำนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ในการให้บริการของภาครัฐ"
ทั้งนี้ ความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากการขับเคลื่อนเชิงรุกของกรมฯ เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจ ดังนี้
1. ออกประกาศให้นิติบุคคลมาขอรับรหัสผู้ใช้งานและรหัสผ่าน (Username & Password) ล่วงหน้าตั้งแต่เนิ่นๆ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2558
2. จัดทำฐานข้อมูลงบการเงินรอบปีบัญชี 2557 ในรูปแบบ XBRL เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องกรอกงบการเงินเปรียบเทียบจำนวน 437,249 ราย
3. จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ (Workshop) ที่ชั้น 10 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า รวมทั้งร่วมมือกับคณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ณ กระทรวงพาณิชย์ และมหาวิทยาลัยศรีปทุม โดยได้จัดอบรมเป็นจำนวน 239 ครั้ง มีผู้เข้าอบรมทั้งสิ้น 13,986 ราย ซึ่งคาดว่าผู้เข้าอบรมจำนวนดังกล่าวจะสามารถนำความรู้ไปขยายผลให้ครอบคลุมนิติบุคลทั่วประเทศกว่า 500,000 ราย
4. จัดทำโครงการ DBD Connect ร่วมกับคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ผลิตซอฟแวร์ เพื่อทำการเชื่อมโยงซอฟท์แวร์ทางบัญชีผ่านระบบ DBD e-Filing โดยไม่ต้อง Re - Key ข้อมูล งบการเงินอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทซอฟแวร์เข้าร่วมแล้วจำนวน 12 บริษัท รวม 17 โปรแกรม
5. กรมฯ ได้ขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโดยการเช่าจากผู้ให้บริการ Internet Service Provider ณ ช่วงเวลาที่มีการใช้งานสูงสุดเพื่อรองรับและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการนำส่งงบการเงิน DBD e-Filing ระหว่างเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2559
6. กรมฯ ร่วมกับสำนักงานบัญชีคุณภาพ จำนวน 130 แห่ง ในการสร้างวิทยากรเพื่อขยายผลการบรรยาย DBD e-Filing ในภูมิภาค รวมทั้ง ขับเคลื่อนการนำส่งงบการเงินผ่านนักบัญชี 53,510 ราย โดยใช้ระบบ e-Accountant เป็นช่องทางการสื่อสารและขยายผลการนำส่ง
"สำหรับนิติบุคคลที่ได้นำส่งงบการเงินในรูปแบบเอกสารแล้ว แต่ยังไม่ได้นำส่งงบการเงินทาง DBD e-Filing กรมฯ ได้ขยายระยะเวลาการนำส่งงบการเงิน DBD e-Filing จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559 และขณะนี้ได้มีการนำส่งเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะนำส่งถึง 400,000 กว่าราย เพราะมีผู้ได้รับรหัสผู้ใช้งานเพื่อเข้าระบบแล้ว จำนวน 404,930 ราย"
"กรณีที่ในโลกออนไลน์มีการวิพากษ์วิจารณ์/คำติชมการเข้าใช้ระบบ DBD e-Filing และได้มีการให้ข้อเสนอแนะต่างๆ กรมฯ ขอขอบคุณและน้อมรับทุกเสียงวิพากษ์วิจารณ์รวมทั้งคำติชมทั้งหมด พร้อมยินดีที่จะนำ ทุกข้อเสนอแนะมาทำการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการทำงานและระบบการให้บริการของกรมฯ ให้ดียิ่งขึ้น โดยทุกเสียง คำติชมนับเป็นกำลังใจสำคัญที่ทำให้ทราบถึงเสียงสะท้อนในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และระบบการให้บริการของกรมฯ ตลอดจนเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านจากระบบเอกสารมาเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น และสามารถเป็นต้นแบบแก่หน่วยงานราชการอื่นที่จะมีการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวฯ ทั้งนี้ กรมฯได้นำเสียงสะท้อนและ คำติชมดังกล่าวมาปรับปรุงโดยลดขั้นตอนกระบวนงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูลด้วยการขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอีกหนึ่งเท่าตัวเพื่ออำนวยความสะดวกมากยิ่งขึ้น"
การนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) สามารถนำส่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือกรณีที่กรรมการไม่อยู่ก็สามารถส่งงบการเงินได้ จึงสะดวกรวดเร็ว อีกทั้งลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของภาคเอกชนและภาครัฐในการบริหารจัดการ ผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำข้อมูลงบการเงินไปใช้ประโยชน์ได้ทันทีในการเริ่มต้น ต่อยอดและสร้างเครือข่ายธุรกิจ ดังนั้น ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรต่างๆ ต้องผนึกกำลังกันในการขับเคลื่อนประเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความได้เปรียบในสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง
ทั้งนี้กรมฯ ได้บูรณาการร่วมกับ 8 หน่วยงานพันธมิตรที่มีหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กรมสรรพากร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) และสภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีเป้าหมายสูงสุดในอนาคต คือ การใช้งบการเงินฉบับเดียว ที่นำส่งผ่านระบบ DBD e-Filing ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ได้ มาตรฐานสากล
"ท้ายนี้ ขอขอบคุณบทกลอนจากโลกโซเชียลที่ให้กำลังใจแก่ระบบ DBD e-Filing ดังนี้ "นวัตกรรม ระบบใหม่ อีไฟล์ลิ่ง นับเป็นสิ่ง ล้ำค่า พาสร้างสรรค์ ลดขั้นตอน ผ่อนภาระ สารพัน ช่วยผลักดัน สู่แนวทาง สร้างชาติไทย ช่วงรอยต่อ พอมีบ้าง ทางขลุกขลัก มินานนัก จะมั่นคง สิ้นสงสัย จะซึ้งซาบ ราบรื่น ชื่นหัวใจ ส่งยิ้มให้ ผู้ส่งงบฯ จบสวยงาม"/ เป็นกำลังใจให้นะครับ...สู้ๆๆๆ
*****************************************************
ที่มา : กองข้อมูลธุรกิจ ฉบับที่ 71 / 3 มิถุนายน 2559