11 เดือนปี 2565 ต่างชาติลงทุนในไทย 112,466 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 47,884 ล้านบาท หรือ 74% ญี่ปุ่นอันดับหนึ่ง 39,000 ล้านบาท จีน 22,677 ล้านบาท สิงคโปร์ 11,999 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 5,008 คน
11 เดือนปี 2565 ต่างชาติลงทุนในไทย 112,466 ล้านบาท
เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 47,884 ล้านบาท หรือ 74%
ญี่ปุ่นอันดับหนึ่ง 39,000 ล้านบาท จีน 22,677 ล้านบาท สิงคโปร์
11,999 ล้านบาท
จ้างงานคนไทย 5,008 คน
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (นายทศพล ทังสุบุตร)
ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
รายงานให้ทราบว่า ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
พ.ศ.2542 ตลอด 11 เดือนของปี 2565 (ม.ค. - พ.ย.) อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 530 ราย แบ่งเป็น
ใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 198 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
จำนวน 332 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 112,466 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 5,008 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น
137 ราย (ร้อยละ 26) เงินลงทุน 39,000 ล้านบาท สิงคโปร์ 85 ราย (ร้อยละ 16)
เงินลงทุน 11,999 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 70 ราย (ร้อยละ 13) เงินลงทุน 3,343 ล้านบาท ฮ่องกง 38 ราย (ร้อยละ 7) เงินลงทุน 8,451
ล้านบาท และ จีน 25 ราย (ร้อยละ 5) เงินลงทุน 22,677 ล้านบาท
เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี
2564 (ม.ค. - พ.ย.) พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย
เพิ่มขึ้น 30 ราย คิดเป็นร้อยละ 6 (ปี 2565 อนุญาต 530 ราย ปี 2564 อนุญาต 500
ราย) เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 47,884
ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 74 (ปี 2565 ลงทุน 112,466 ล้านบาท ปี 2564 ลงทุน 64,582 ล้านบาท) และจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น
5 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.1 (ปี 2565 จ้างงาน 5,008 คน ปี 2564 จ้างงาน 5,003 คน) โดยปี 2564 ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด
คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และ สหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับปี 2565
เดือนมกราคม
- พฤศจิกายน
2565 ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตฯ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ
และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ อาทิ
* บริการออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้ง
และตรวจสอบระบบกักเก็บพลังงาน สำหรับโครงการโรงผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานสำหรับสนามบินอู่ตะเภา
* บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย
* บริการขุดลอก
ถมทะเล และก่อสร้างม่านดักตะกอนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด
* บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า
* บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น
การให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคแบบครบวงจรในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การช่วยเหลือด้านการออกแบบ การพัฒนา
และทดสอบระบบ เป็นต้น
* บริการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย
*
บริการพัฒนาและให้บริการซอฟต์แวร์ด้านวิเคราะห์และเชื่อมโยงเพื่อบริหารจัดการข้อมูล
Big Data, Data Analytics
การลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ เดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2565 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 105 ราย
คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด มีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 48,316 ล้านบาท
คิดเป็นร้อยละ 43 ของเงินลงทุนทั้งหมด ทั้งนี้ เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 42
ราย เงินลงทุน 24,520 ล้านบาท จีน 9 ราย เงินลงทุน 10,956 ล้านบาท
และ สิงคโปร์ 9 ราย เงินลงทุน 2,156 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1) บริการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย 2) บริการพัฒนาซอฟต์แวร์
ซึ่งเป็นการออกแบบและพัฒนาระบบบริหารจัดการควบคุมการผลิตในโรงงาน และระบบบริหารจัดการสินค้าคงคลัง
และ 3) บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชัน การอัพเกรดซอฟต์แวร์ต่าง
ๆ เป็นต้น
คาดว่าหนึ่งเดือนสุดท้ายของปี 2565 (ธันวาคม) จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
เป็นผลมาจากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่อนคลายให้มีการเปิดประเทศ
และเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น
เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ เฉพาะเดือนพฤศจิกายน 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย
50 ราย แบ่งเป็น ใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 17
ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 33 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 6,029 ล้านบาท จ้างงานคนไทยกว่า 373 คน ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น
สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย
เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับหลักการทดสอบและตรวจสอบการทำงานของตู้ควบคุมแรงดันไฟฟ้า
องค์ความรู้เกี่ยวกับการทำงานของระบบที่เกี่ยวข้องกับ Internet Protocol Television (IPTV) เป็นต้น
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต
ได้แก่
* บริการติดตั้งและทดสอบ ซ่อมแซมบำรุงรักษา
รวมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำและฝึกอบรมเกี่ยวกับสินค้าประเภทตู้ควบคุมแรงดันไฟฟ้า
(Switchgear)
และหม้อแปลงไฟฟ้า
* บริการขยายระบบ ทดสอบ บำรุงรักษา
และให้คำแนะนำสำหรับการดำเนินการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพเกี่ยวกับระบบการจัดการสิทธิดิจิทัล
ระบบการนำเสนอเนื้อหาสารสนเทศฯ สำหรับการขยายแพลตฟอร์มระบบการให้บริการรายการโทรทัศน์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
* บริการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย
* บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น
การปรับปรุงขั้นตอนการผลิตสินค้า การปรับปรุงและพัฒนาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Robotics and Automation
System) และการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง เป็นต้น
* บริการรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์แผ่นซับน้ำนม
ผลิตภัณฑ์จุกนมเทียม จุกนม ขวดนม ถุงเก็บน้ำนมมารดา
ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและอุปกรณ์เครื่องใช้สำหรับมารดา เด็ก และทารก เป็นต้น
#SuperDBD
*****************************************
ที่มา : กองบริหารการประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ฉบับที่ 173 /
วันที่ 16 ธันวาคม 2565