รมช.พณ.สินิตย์ เผยข่าวดี การยื่นแก้กฎหมายจัดตั้งบริษัท จาก 3 คน เหลือแค่ 2 คน สำเร็จแล้ว มีผลบังคับใช้ 7 กุมภาพันธ์ 2566

รมช.พณ.สินิตย์ เผยข่าวดี การยื่นแก้กฎหมายจัดตั้งบริษัท

จาก 3 คน เหลือแค่ 2 คน สำเร็จแล้ว มีผลบังคับใช้ 7 กุมภาพันธ์ 2566

                รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ แง้มข่าวดี พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 มีผลบังคับใช้วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 (90วันนับถัดจากวันประกาศ) โดยมีสาระสำคัญ 3 เรื่องหลัก คือ 1) ลดจำนวนผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทจำกัดจาก 3 คน เหลือแค่ 2 คน 2) การควบรวมกิจการเข้าด้วยกันมีความยืดหยุ่นมากขึ้นจากบริษัท ก+ข ต้องเป็น ค เท่านั้น ต่อไป ก+ข จะเป็น ค หรือ เป็น ก หรือ เป็น ข สุดแล้วแต่ผู้ประกอบการจะเลือกว่าจะใช้บริษัทใด 3) ยกเลิกการนำหนังสือเชิญประชุมไปลงประกาศในหนังสือพิมพ์ ยกเว้นบริษัทที่มีหุ้นผู้ถือเท่านั้นที่ยังต้องลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์อยู่

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ที่ผ่านมาได้ผลักดันให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจในการจดทะเบียนนิติบุคคล เสนอพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 และพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2565 เพื่อปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 22 หุ้นส่วนและบริษัทให้มีความทันสมัยรองรับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการของเทคโนโลยี ส่งเสริมให้จัดตั้งบริษัทจำกัดได้ง่ายขึ้น เพิ่มความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจ อีกทั้งช่วยให้บริษัทจำกัดสามารถควบรวมกิจการได้มากกว่าหนึ่งลักษณะ ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศและสร้างภาพลักษณ์อันดีในการประกอบธุรกิจ รองรับระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ประการสำคัญที่สุด คือ ช่วยลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนการดำเนินงานให้ผู้ประกอบธุรกิจตามนโยบายของรัฐบาลอีกทางหนึ่ง

      การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในครั้งนี้ มีประเด็นที่เปลี่ยนแปลงหลายประการ ดังนี้ 1) การยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทสามารถยื่น ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทที่สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่หรือตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด จากเดิมสำนักงานใหญ่อยู่ในจังหวัดใด ต้องจดทะเบียน ณ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนั้นเท่านั้น 2) รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนด ลด หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน การขอตรวจเอกสาร การขอสำเนาเอกสารพร้อมคำรับรอง และค่าธรรมเนียมอื่นที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนและบริษัท หรือกำหนดค่าธรรมเนียมให้แตกต่างกันตามรูปแบบการทำธุรกรรมก็ได้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้บริการผ่านระบบสารสนเทศมากขึ้น 3) บุคคลตั้งแต่ 2 ขึ้นไปจะเริ่มก่อการและตั้งเป็นบริษัทจำกัดก็ได้ จากเดิมต้อง 3 คนขึ้นไป 4) หนังสือบริคณห์สนธิที่จดทะเบียนไว้ หากไม่ดำเนินการจดทะเบียนบริษัทจำกัดภายใน 3 ปีสิ้นผลทันที จากเดิมที่ไม่มีอายุของการสิ้นผล ทำให้บุคคลอื่นไม่สามารถใช้ชื่อบริษัทที่ปรากฏในหนังสือบริคณห์สนธิที่จดทะเบียนไว้ได้

5) บริษัทใดมีตราประทับต้องประทับตราในใบหุ้นทุกใบ 6) ให้ธุรกิจนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับการประชุมกรรมการได้เพิ่มขึ้นอีกวิธีหนึ่ง นอกจากต้องมาประชุม ณ สถานที่นัดประชุมเท่านั้น 7) ยกเลิกการนำหนังสือเชิญประชุมไปลงประกาศในหนังสือพิมพ์ ยกเว้นในกรณีบริษัทจำกัดมีหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือที่ยังต้องโฆษณาในหนังสือพิมพ์ หรือในสื่ออิเล็กทรอนิกส์อยู่ 8) ให้บริษัทจำกัดจ่ายเงินปันผลให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ประชุมใหญ่หรือกรรมการลงมติเพื่อคุ้มครองผู้ถือหุ้นรายย่อย และ 9) ปรับปรุงหลักการเกี่ยวกับการควบบริษัทจากเดิม ก + ข = เท่านั้น ต่อไป กำหนดให้บริษัทสามารถควบรวมกันได้ใน 2 ลักษณะ คือ (1) ควบรวมบริษัทแล้วเกิดเป็นบริษัทใหม่ (ก + ข = ค) และ (2) ควบรวมบริษัทแล้วเหลืออยู่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง (ก + ข = ก หรือ ข)

               นายสินิตย์ กล่าวต่อว่า เมื่อมีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ยังได้แก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. ๒๔๙๙ ให้สอดคล้องกับการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยแล้ว เพื่อให้สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าพิจารณาหลักเกณฑ์ของกฎกระทรวงที่กำหนดตามกฎหมายฉบับนี้ และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาครัฐและภาคเอกชนในโอกาสต่อไป"

       สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักกฎหมาย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร. 0 2547 4471-2 หรือ เว็บไซต์ www.dbd.go.th หัวข้อ กฎหมายและระเบียบ/พระราชบัญญัติ

#SuperDBD

 

****************************************

ที่มา : สำนักกฎหมาย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า                                                ฉบับที่ 164  / วันที่ 6 ธันวาคม 2565