รมช.พาณิชย์ ดึงเอสเอ็มอีเข้าสู่ธรรมาภิบาล เปิดทางให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน
รมช.พาณิชย์ ดึงเอสเอ็มอีเข้าสู่ธรรมาภิบาล เปิดทางให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน
รมช.พาณิชย์ ดึงธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าสู่ธรรมาภิบาล
สร้างบรรยากาศที่ดีต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศ สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาประกอบธุรกิจในไทย พร้อมส่งเสริมและผลักดันให้เอสเอ็มอีนำหลักธรรมาภิบาลไปใช้ในการบริหารจัดการองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ
เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจอยู่ยาวอย่างยั่งยืน
เชิญชวนเอสเอ็มอีสมัครเข้าร่วมสร้างธรรมาภิบาลให้ธุรกิจได้ตั้งแต่บัดนี้ ถึง 31
มกราคม 2566
นายสินิตย์
เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ปัจจุบันหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
เป้าหมายความสำเร็จของธุรกิจไม่ได้วัดจากผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน แม้ในภาวะวิกฤตที่สถานการณ์ย่ำแย่
ธุรกิจก็ยังคงอยู่รอดปลอดภัย ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการที่ธุรกิจดำเนินกิจการด้วยหลักธรรมาภิบาล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างบรรยากาศที่ดีของการดำเนินธุรกิจในไทย
มุ่งเน้นกำกับดูแลให้ภาคธุรกิจปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้ง ส่งเสริมให้นำหลักธรรมาภิบาลไปใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ
เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้คู่ค้า (Business Governance) ดึงนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น
เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างเป็นรูปธรรม
การนำภาคธุรกิจเข้าสู่ธรรมาภิบาล
จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน จึงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
กระทรวงพาณิชย์ รับสมัครเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคลเข้าร่วมกิจกรรม 'สร้างธุรกิจ SME เข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจ
ประจำปี 2566' กำหนดเปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 โดยกรมฯ จะส่งผู้เชี่ยวชาญลงตรวจประเมินธุรกิจที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรมฯ
อย่างเข้มข้นทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งธุรกิจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมต้องมีคุณสมบัติเบื้องต้น คือ เป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน หรือ บริษัทจำกัด
ที่จดทะเบียนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และไม่เป็นนิติบุคคลล้มละลาย โดยจะมีคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนชั้นนำของประเทศ เช่น
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ก.พ.ร. กรมสรรพากร สำนักงานประกันสังคม
หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย
ฯลฯ มาร่วมกันพิจารณา โดยใช้เกณฑ์การพิจารณาที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจัดทำขึ้น
ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานสากล 6 หลัก ได้แก่ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม
หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า
วิธีการตรวจประเมิน จะเริ่มจากการให้ธุรกิจกรอกข้อมูลพร้อมแนบหลักฐานเกี่ยวกับการดำเนินกิจกรรมตามหลักธรรมาภิบาล
6 หลัก หลังจากนั้น จะมีการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ที่มีส่วนได้เสียทั้งระดับผู้บริหาร
พนักงาน หน่วยงานที่ร่วมดำเนินธุรกิจ การตรวจสอบประวัติข้อร้องเรียนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การเข้าสังเกตการณ์การปฏิบัติงานและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ
ของธุรกิจ ณ สถานประกอบการ พร้อมทั้งให้คำแนะนำจุดอ่อน จุดแข็ง ด้านธรรมาภิบาลธุรกิจด้วย
ธุรกิจที่ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกรายจะได้รับหนังสือรับรองมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
และสามารถนำเครื่องหมายรับรองฯ ดังกล่าวไปแสดงร่วมกับเครื่องหมายการค้าของตนเอง
ซึ่งจะทำให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือ
รวมทั้งได้รับความเชื่อมั่นจากสถาบันการเงินในการให้สินเชื่อเพื่อต่อยอดธุรกิจ เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ
ถือเป็นโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น
ขอเชิญชวนเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคลและมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ที่กรมฯ
กำหนด สมัครเข้าร่วมกิจกรรมฯ ได้ตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 ทาง
https://forms.gle/gagnBWpAABuKWF7q9 เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรโปร่งใสและได้รับความไว้วางใจจากพันธมิตรในการร่วมทำธุรกรรม ทั้งนี้ หากนิติบุคคลไทยมีธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจ
จะเป็นจุดสนใจของนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศในการเลือกลงทุนเป็นลำดับต้น
ซึ่งจะนำมาซึ่งความความสำเร็จของธุรกิจอย่างแท้จริง" รมช.พณ. กล่าวปิดท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองธรรมาภิบาลธุรกิจ
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0 2547 4417 สายด่วน 1570 e-Mail: goodgov.dbd@gmail.com
และ www.dbd.go.th
#SuperDBD
****************************************
ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
กองธรรมาภิบาลธุรกิจ ฉบับที่
159 / วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565