รมช.สินิตย์ ให้แนวคิด..ใช้แฟรนไชส์สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจประเทศแบบคู่ขนาน ภาคธุรกิจจะช่วยภาคประชาชนได้..ภาครัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ธุรกิจมีความเข้มแข็ง-มั่นคงก่อน
รมช.สินิตย์ ให้แนวคิด..ใช้แฟรนไชส์สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจประเทศแบบคู่ขนาน
ภาคธุรกิจจะช่วยภาคประชาชนได้..ภาครัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ธุรกิจมีความเข้มแข็ง-มั่นคงก่อน
รมช.สินิตย์
ให้แนวคิดกรมพัฒน์ฯ ใช้โมเดลแฟรนไชส์สร้างความเข้มแข็งแบบคู่ขนาน 'สร้างความแข็งแกร่ง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ พร้อมสร้างงาน-สร้างอาชีพ-สร้างรายได้ให้ประชาชน' สั่งการเร่งเตรียมแผนสร้างความเข้มแข็งธุรกิจแฟรนไชส์ทันที..หลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบเมื่อ
1 ตุลาคม ที่ผ่านมา เชื่อ!! ภาคธุรกิจจะช่วยเหลือภาคประชาชนได้ ภาครัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนภาคธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง..มั่นคงก่อน
ถึงจะช่วยประชาชนให้ยืนหยัดมั่งคงในอาชีพและชีวิตได้
นายสินิตย์
เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "ได้ให้แนวคิดการทำงานแก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเรื่องการสร้างความเข้มแข็งภาคธุรกิจ หลังเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565
ที่ผ่านมา โดยเฉพาะธุรกิจแฟรนไชส์ที่กระทรวงพาณิชย์ใช้เป็นโมเดลสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
ให้เน้นการสร้างความเข้มแข็งแบบคู่ขนาน
คือ สร้างความมั่นคงให้ประชาชนมีงาน มีอาชีพ มีรายได้ พร้อมทั้ง สร้างความแข็งแกร่ง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ ทั้งนี้ การที่ภาคธุรกิจจะช่วยเหลือภาคประชาชนได้
ภาคธุรกิจจำเป็นต้องมีความเข้มแข็งและมั่นคงในธุรกิจก่อน โดยมีภาครัฐให้การส่งเสริมสนับสนุนอย่างเต็มที่
เมื่อธุรกิจมีความพร้อมและแข็งแกร่งแล้ว ก็จะสามารถช่วยเหลือภาคประชาชนให้มีอาชีพและชีวิตที่ดีด้วยเช่นกัน
เบื้องต้น
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้กำหนดแผนสร้างความเข้มแข็งธุรกิจแฟรนไชส์
โดยนำธุรกิจแฟรนไชส์ที่อยู่ในการส่งเสริมของกระทรวงพาณิชย์จำนวน
424 กิจการ เข้าร่วมงานแสดงและจำหน่ายสินค้าในประเทศ รวมทั้ง เปิดพื้นที่ให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการส่งเสริมธุรกิจแฟรนไชส์แก่นักลงทุนและผู้สนใจ
ใช้รูปแบบการนำเสนอ/เจรจาธุรกิจผ่านช่องทางออฟไลน์และออนไลน์
โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะเป็นตัวกลางประสานความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและนักลงทุน ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์
สร้างทักษะ/ประสบการณ์ในการนำเสนอธุรกิจ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ได้มีเวทีพบปะนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพื่อเจรจาธุรกิจและเลือกลงทุนในระบบแฟรนไชส์
ส่งผลให้ธุรกิจมีความเข้มแข็งและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ
รมช.พณ. กล่าวต่อว่า
ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้สร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการไทยมาอย่างต่อเนื่อง
โดยพัฒนาศักยภาพด้านบริหารจัดการธุรกิจให้มีมาตรฐานระดับสากล
และเสริมสร้างความรู้ด้านการค้าการลงทุนระหว่างประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ตลาดต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
รวมถึงสร้างโอกาสทางการตลาดให้แก่ธุรกิจจากตลาดในประเทศ (Local) สู่ตลาดโลก (Global) โดยธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นธุรกิจเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ
เนื่องจากเป็นธุรกิจสำเร็จรูปที่มีตราสินค้า หรือ Brand อยู่แล้ว ผู้ลงทุนในธุรกิจไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูก มีขนาดการลงทุนให้เลือกหลายขนาดตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล
สามารถทำควบคู่กับงานอื่นได้ แฟรนไชส์จึงเป็นธุรกิจที่นักลงทุนทั้งรายเก่าและรายใหม่ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
เพราะสามารถเริ่มต้นทำธุรกิจได้ง่าย รวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก ที่สำคัญมีประเภทแฟรนไชส์ให้เลือกหลากหลายในราคาที่สามารถจับต้องได้
ธุรกิจแฟรนไชส์ หรือ โมเดลแฟรนไชส์
เป็นสาขาธุรกิจที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมากให้กับประเทศ และมีทิศทางการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564
มูลค่าทางเศรษฐกิจของธุรกิจแฟรนไชส์มีมากกว่าสามแสนล้านบาท มีจำนวนธุรกิจแฟรนไชส์รวมกันมากกว่า 600 กิจการ ทั่วประเทศ
มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ร้อยละ 20 ต่อปี
เมื่อเทียบกับ GDP
ของประเทศซึ่งมีอัตราเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ต่อปี ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น การที่ภาครัฐส่งเสริมผลักดันให้ผู้สนใจลงทุนในระบบแฟรนไชส์นำไปสร้างงาน สร้างอาชีพ
สร้างรายได้ ควบคู่การพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ของภาครัฐให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล
จะทำให้แฟรนไชส์ไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบันด้วยเช่นกัน" รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้าย
#SuperDBD
********************************************
ที่มา :
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กองส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ ฉบับที่ 148 / วันที่ 31 ตุลาคม 2565