สินิตย์เป็นพยาน MOU 3 หน่วยงาน ผนึกกำลังช่วยวิสาหกิจชุมชนทำบัญชีให้ถูกต้อง สะท้อนภาพธุรกิจที่แท้จริง ตัดสินใจได้ฉับไว และวางแผนเดินหน้าเป็นระบบ

สินิตย์เป็นพยาน MOU 3 หน่วยงาน ผนึกกำลังช่วยวิสาหกิจชุมชนทำบัญชีให้ถูกต้อง

สะท้อนภาพธุรกิจที่แท้จริง ตัดสินใจได้ฉับไว และวางแผนเดินหน้าเป็นระบบ

          รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นสักขีพยานลงนาม MOU ส่งเสริมการวางระบบบัญชีให้แก่วิสาหกิจชุมชน ระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ส่งเสริมองค์ความรู้ให้วิสาหกิจชุมชนสามารถจัดทำบัญชีและปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องเป็นมืออาชีพ ขยายตลาดได้ 2) กรมส่งเสริมการเกษตร คัดเลือกวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพเพื่อเข้าร่วมพัฒนา และติดตามความสำเร็จ และ 3) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่งเสริมการใช้โปรแกรมบัญชีสำเร็จรูป พร้อมส่งนิสิตคอยช่วยเหลือ ทั้งนี้ เตรียมลุยพัฒนาวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศจากต้นแบบ 6 ราย ที่ผ่านการคัดเลือกและมีความศักยภาพ เพื่อเป็นตัวอย่างศึกษาความสำเร็จและให้วิสาหกิจชุมชนสามารถนำไปปรับใช้ได้ต่อไป

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานและสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การส่งเสริมการวางระบบบัญชีให้แก่วิสาหกิจชุมชน ระหว่าง     กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมการเกษตร และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องบุรฉัตรไชยากร ชั้น ๔ สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ว่า ในวันนี้ (27 ตุลาคม 2565) เป็นโอกาสอันดีที่ 3 หน่วยงานพันธมิตรจะได้ร่วมกันสร้างความเติบโตให้กับวิสาหกิจชุมชนไทยอย่างเป็นรูปธรรมด้วยพื้นฐานการจัดทำบัญชีให้ถูกต้อง ซึ่งถือว่าสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจให้เติบโตเข้มแข็ง พร้อมสนับสนุนการใช้โปรแกรมบัญชีสำเร็จรูปเพื่อช่วยบริหารธุรกิจได้อย่างง่าย รวมถึงการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำบัญชีที่ถูกต้องเพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้สามารถขยายช่องทางการตลาดแก่วิสาหกิจชุมชนได้   

รมช.พณ. กล่าวต่อว่า "กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งยกระดับศักยภาพของวิสาหกิจชุมชน โดยเข้าไปส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนในหลายมิติ เช่น การเชื่อมโยงตลาด สร้างโอกาสทางการค้า ตลอดจนกิจกรรมยกระดับสินค้าท้องถิ่นในชุมชน ประกอบกับมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจความต้องการและปัญหาอุปสรรคที่ธุรกิจต้องเจอเพื่อที่กระทรวงฯ จะได้นำมากำหนดนโยบายส่งเสริมให้ตรงจุด ทั้งนี้ พบว่าวิสาหกิจชุมชนยังมีโอกาสในการพัฒนาอีกมาก แต่ก็มีความท้าทาย คือ ยังขาดทักษะในการวิเคราะห์ธุรกิจและการบริหารจัดการทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น การจัดทำบัญชีที่ถูกต้องจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสะท้อนให้มองเห็นปัญหาอุปสรรคของธุรกิจได้อย่างถ่องแท้ โอกาสนี้ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งและต้องขอขอบคุณกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมการเกษตร และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มาร่วมมือกันสร้างวิสาหกิจชุมชนของไทยให้พัฒนาต่อไปได้ ซึ่ง MOU ฉบับนี้จะพาวิสาหกิจชุมชนก้าวสู่ความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ และจะเป็นกลุ่มธุรกิจสำคัญของประเทศที่ช่วยกระจายรายได้ในชุมชน นำพาเศรษฐกิจไทยให้เติบโต"

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า "กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้      กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเดินหน้าส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนให้เข้มแข็ง โดยที่ผ่านมาได้จัดกิจกรรมสร้างความรู้เกี่ยวกับการจดทะเบียนนิติบุคคล การทำบัญชีและภาษี รวมถึง ร่วมกับสมาคมสำนักงานบัญชีคุณภาพจัดอบรมผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบทางกฎหมายของวิสาหกิจชุมชน และเข้าไปช่วยแนะนำการจัดทำบัญชีและงบการเงินให้แก่วิสาหกิจชุมชน จำนวนทั้งสิ้น 308 ราย สำหรับความร่วมมือกับพันธมิตรในครั้งนี้กรมฯ จะเสริมองค์ความรู้ให้วิสาหกิจชุมชนสามารถจัดทำบัญชีและปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายบัญชี และมีเครื่องมือโปรแกรมบัญชีสำเร็จรูปมาช่วย รวมไปถึงการสร้างทักษะการบริหารธุรกิจให้เป็นมืออาชีพ และขยายช่องทางการค้าให้กว้างขึ้น"

นายนวนิตย์ พลเคน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า "การดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือMOU กรมส่งเสริมการเกษตรจะคัดเลือกวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพเพื่อเข้าร่วมพัฒนา พร้อมศึกษาวิเคราะห์ผลลัพธ์ที่วิสาหกิจชุมชนได้รับจากการจัดทำบัญชีอย่างเป็นระบบ รวมถึงประชาสัมพันธ์ และสร้างองค์ความรู้ในการจัดทำบัญชีให้แก่วิสาหกิจชุมชนในวงกว้าง ควบคู่กับการบริหารจัดการธุรกิจและทักษะที่จำเป็นในการประกอบกิจการต่อไป โดยคาดหวังว่าโครงการนี้จะช่วยให้วิสาหกิจชุมชนตระหนักและรับรู้ถึงความสำคัญของการจัดทำบัญชี นำมาซึ่งข้อมูลที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการ ตลอดจนช่วยเสริมสร้างโอกาสทางการค้าและขยายช่องทางการตลาดให้แก่วิสาหกิจชุมชน อีกทั้งยังเป็นการช่วยยกระดับศักยภาพและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งจนเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป"

รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า บทบาทของคณะฯ จะช่วยสนับสนุนการวางระบบบัญชีให้กับวิสาหกิจชุมชน พร้อมกับการจัดทำบัญชีให้เหมาะสมกับวิสาหกิจชุมชนด้วยโปรแกรมบัญชีสำเร็จรูปอย่างง่ายเพื่อนำข้อมูลมาใช้บริหารและตัดสินใจทางธุรกิจ มากไปกว่านั้นยังสร้างประสบการณ์การทำงานของนิสิตให้มีโอกาสทำงานจริงกับวิสาหกิจชุมชน รวมถึงช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ๆ ให้ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้นิสิตที่เป็นรุ่นใหม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่เรียนไปพัฒนาและแก้ปัญหาให้กับวิสาหกิจชุมชนได้จริง"

รมช.พณ. กล่าวทิ้งท้าย "กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นทันทีจากความร่วมมือนี้ ทั้ง 3 หน่วยงานจะสร้างวิสาหกิจชุมชนที่มีความพร้อมและมีศักยภาพขึ้นมาเป็นต้นแบบ 6 ราย ซึ่งผ่านการคัดเลือกมาจากแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับวิสาหกิจชุมชนที่กำลังก้าวเข้าสู่การพัฒนาได้ศึกษาความสำเร็จและนำไปปรับใช้ โดยวิสาหกิจชุมชน 6 รายดังกล่าวประกอบไปด้วย 1) ภาคกลาง : รังไหมประดิษฐ์ จังหวัดสระบุรี 2) ภาคตะวันตก : ศูนย์ข้าวชุมชนตำบลไร่มะขาม จังหวัดเพชรบุรี 3) ภาคตะวันออก : มังคุดแปลงใหญ่คิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี     4) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย จังหวัดขอนแก่น 5) ภาคใต้ : หัตถกรรมกระจูดวรรณี จังหวัดพัทลุง และ 6) ภาคเหนือ : พัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนไพรและผลไม้ จังหวัดลำพูน

ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการอนุมัติจดทะเบียนจากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตร จำนวน 82,500 รายทั่วประเทศไทย และเป็นนิติบุคคลจำนวน 1,300 ราย มีทุนจดทะเบียนรวมกันกว่า 650 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งการผลิตสินค้าในหลากหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น อาหาร ของใช้ และสมุนไพร และการให้บริการ เช่น การท่องเที่ยว และสุขภาพ เป็นต้น"

#SuperDBD

 

****************************************

 

ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กองกำกับบัญชีธุรกิจ                                                ฉบับที่146  / วันที่ 27 ตุลาคม 2565